ค้นหา


รายการที่พบทั้งหมด 37,000 รายการ

ขุนสารกิจรือเซาะ ขุนสารกิจรือเซาะเดิมชื่อหะยีมะห์มุด ซันดือเร๊ะโซ๊ะ หรือที่ชาวบ้านเรียกท่านว่า "เวาะโต๊ะคุง" ซึ่งเป็นการเรียกตามบรรดาศักดิ์ของท่าน โดยขุนสารกิจรือเซาะ ได้รับพระราชทานให้ดำรงตำแหน่งกำนันในเมืองระแงะ ในพ.ศ.๒๔๕๒ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า "ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงมหาดไทย ทำประทวนตราพระราชสีห์ตั้งข้าราชการในมณฑลปัตตานีรวม ๓๐ นาย คือ...ให้แขกหามุด เป็นขุนสารกิจรือเซาะ ตำแหน่งกำนันในเมืองระแงะ ถือศักดินา ๔๐๐...แจ้งความมาณวันที่ ๑๓ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘..." แต่ในทางปฏิบัติแล้วตำแหน่งกำนันในเมืองระแงะที่ได้รับประทวนตราพระราชสีห์นั้นคือตำแหน่งกำนันตำบลตะมะหงัน แขวงเมืองระแงะ (ขณะนั้นรือเสาะหรือญาบะยังเป็นส่วนหนึ่งของเมืองระแงะ) ขุนสารกิจรือเซาะนับเป็นปูชนียบุคคลผู้มีส่วนร่วมในการวางรากฐานเมืองรือเสาะร่วมกันกับขุนอุปการประชากร โดยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างมัสยิดประจำเมืองคือมัสยิดยุมอียะห์ และถือเป็นต้นตระกูลซันดือเร๊ะโซ๊ะ ในขณะที่ขุนอุปการประชากร ปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอตำมะหงันคนแรก และเป็นชาวพุทธเป็นผู้ก่อสร้างวัดราษฎร์สโมสร และสละทรัพย์สินที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนบ้านยะบะ(อุปการวิทยา) ถนน และสถานที่ราชการต่างๆ และถือเป็นต้นตระกูลอัครมาส  มัสยิดยุมอียะห์ มัสยิดกลางอำเภอรือเสาะ  ขุนสารกิจรือเซาะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสร้างมัสยิดไม้ขนาดใหญ่หลังแรกในเมืองรือเสาะ โดยก่อสร้างตามรูปแบบของศิลปกรรมแบบชวา ซึ่งก็คือมัสยิดยุมอียะห์(มัสยิดกลางอำเภอรือเสาะ)ในปัจจุบัน ต่อมาราวพ.ศ.๒๕๐๒ ในช่วงที่หะยีสุหลง ซันดือเร๊ะโซ๊ะ บุตรชายของขุนสารกิจรือเซาะเป็นอิหม่ามประจำมัสยิดยุมอียะห์ ได้มีการรื้อมัสยิดไม้หลังเดิมและสร้างมัสยิดปูนคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นมาทดแทน  วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัชกาลที่๙) เสด็จพระราชดำเนินมายังมัสยิดยุมอียะห์เป็นการส่วนพระองค์ เนื่องจากพระองค์ท่านได้รับหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชทรัพย์สำหรับจัดซื้ออุปกรณ์และหินอ่อนในการปูพื้นมัสยิดแห่งนี้ ในคราวนั้นทรงพระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน ๑๔,๐๐๐ บาท ให้นายหะยีอาหะมะ อาแวบือซา นายกสมาคมอิสลามรือเสาะ เพื่อดำเนินการปูพื้นภายในมัสยิดให้แล้วเสร็จ  กูโบร์ขุนสารกิจรือเซาะ  ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ บ้านตลาดรือเสาะ ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ในบริเวณหลังมัสยิดยุมอียะห์ (มัสยิดกลางอำเภอรือเสาะ) อาคารคลุมหลุมฝังศพมีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีต มุงกระเบื้องดินเผา ขนาดกว้าง ๕.๕๒ เมตร ยาว ๕.๕๘ เมตร มีประตูทางเข้าด้านทิศใต้ ๑ ประตู ภายในอาคารมีการฝังศพของผู้วายชนม์ ๓ ท่านคือ  ๑.ขุนสารกิจรือเซาะ(หะยีมะห์มุด ซันดือเร๊ะโซ๊ะ)  ๒.หะยีสุหลง ซันดือเร๊ะโซ๊ะ บุตรชายของขุนสารกิจรือเซาะ  ๓.หะยีอาหะมะ เจ๊ะโวะ หลานเขยของขุนสารกิจรือเซาะ





ร่องรอย อวโลกิเตศวร แห่งเมืองชัยนาท ณ วัดโพธาราม ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ได้ปรากฎพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ที่ประดิษฐานอยู่ในมณฑปของวัด เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถสมาธิ อยู่ในท่านั่งขัดสมาธิราบ ครองจีวรห่มเฉียง มีการปิดทองทั้งองค์ ซึ่งเมื่อดูผิวเผินก็คือพระพุทธรูปในอิริยาบถสมาธิทั่วไป แต่เมื่อสังเกตเพิ่มเติมจะพบว่า เศียรของพระพุทธรูปองค์นี้ มีลักษณะแปลกจากเศียรพระพุทธรูปทั่วไป คือ ถ้าเป็นเศียรพระพุทธรูปโดยทั่วไป จะประกอบไปด้วยเม็ดพระศก และรัศมีเป็นยอดแหลม แต่พระพุทธรูปองค์นี้กลับปรากฏลักษณะของมวยผมที่เรียกว่า “ชฎามงกุฎ” คือการมัดรวบเส้นผมเป็นมวยทรงกระบอกเหนือศีรษะ อันเป็นทรงผมที่มักปรากฏในพระโพธิสัตว์ มิใช่พระพุทธรูป เมื่อสังเกตุบริเวณมวยผมของพระพุทธรูปองค์นี้ ก็พบว่ามีการประดับตกแต่งพระพุทธรูปสมาธิอยู่ที่มวยผมด้วย ด้วยลักษณะเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่เศียรของพระพุทธรูปองค์นี้จะเป็นเศียรพระพุทธรูปเฉกเช่นพระพุทธรูปทั่วไป แต่รูปแบบของเศียรที่ปรากฎดังกล่าวมาข้างต้น กลับไปสอดคล้องกับลักษณะของเศียรพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ที่มีทรงผมแบบ “ชฎามงกุฎ” และมีพระอมิตาภะประดับอยู่ที่มวยผมนั่นเอง จึงทำให้ทราบว่า แท้จริงแล้วนั้นพระพุทธรูปในอิริยาบถสมาธิองค์นี้ เป็นพระพระพุทธรูปที่มีเศียรเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อันเป็นพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธแบบมหายาน ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้สร้างได้สร้างองค์พระสมาธิขึ้นมาใหม่และนำเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่มีมาแต่เดิม มาต่อเป็นพระเศียรเพื่อเป็นรูปเคารพ ให้กับชาวบ้านย่านนี้ได้เคารพบูชา แต่เนื่องด้วยความผิดฝาผิดตัวในการซ่อมรูปเคารพดังกล่าว เลยทำให้พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่มักจะปรากฎในอิริยาบถยืนนั้น กลับกลายเป็นปรากฏในรูปแบบนั่งสมาธิ เฉกเช่นพระพุทธรูปที่เป็นตัวแทนองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเสียได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้ามองในแง่ของการอนุรักษ์ให้เศียรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนี้ คงอยู่ ในฐานะที่เป็นรูปเคารพที่ชาวบ้านบูชา ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา ก็นับว่าดีไม่น้อย ในท้ายที่สุดก็ยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแห่งเมืองชัยนาท ที่เป็นรูปเคารพในวัฒนธรรมลพบุรี ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะบายน ในย่านนี้


         สวนโมกขพลาราม หรือชื่อเรียกทางการว่า “วัดธารน้ำไหล”  จัดตั้งขึ้นโดยพระธรรมโกศาจารย์   (พุทธทาสภิกขุ) ตั้งอยู่ที่เขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 บริเวณกิโลเมตรที่ 134 อำเภอไชยา จังหวัด           สุราษฎร์ธานี เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงในประเทศและไปทั่วโลก .  ตามประวัติการก่อตั้ง สวนโมกขพลาราม เดิมที่ได้สร้างขึ้นในวัดตระพังจิก ซึ่งเป็นวัดร้าง ณ หมู่บ้านพุมเรียง ต. พุมเรียง อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี ท่านเข้ามาอยู่ที่นี้เมื่อวันวิสาขบูชา วันที่ 12 พฤษภาคม 2548 ต่อมาได้ย้ายเข้ามาสร้างใหม่ที่เขาพุทธทอง (จุดที่ตั้งปัจจุบัน) มีเนื้อที่ประมาณ 375 ไร่ วัดแห่งนี้ผู้คนนิยมเรียกสั้น ๆ ว่าสวนโมกข์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลารามตามความหมายที่ปรากฏบนแผ่นป้ายของวัด อธิบายว่า “ต้นโมก ต้นพลา มีชื่อพ้องกับสวนโมกขพลาราม โมกะ แปลว่าหลุดพ้น , พละ แปลว่า กำลัง , อาราม แปลว่า ที่ร่มรื่น ที่รื่นรมย์ สวนป่าอันเป็นกำลังหลุดพ้น”     จุดสำคัญที่อธิบายอยู่ในแผนที่บริเวณวัด ได้แก่  1. กุฎิอาจริยบูชาท่านพุทธทาส หรือเรียกว่ากุฎท่านอาจารย์ ปัจจุบันเป็นหลังที่ 3 มีรูปหล่อพุทธทาสภิกขุให้ผู้ศรัทธาได้เคารพระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านมีต่อพุทธศาสนา ถัดออกมาเป็นรูปปั้นพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ประดิษฐานหน้าลานหญ้า “พระพุทธทาสได้จัดสร้างจากต้นแบบที่เป็นรูปปั้นสัมฤทธิ์เก่าแก่  ซึ่งพบที่เมืองไชยา เป็นสัญลักษณ์ของสุทธิ ปัญญา เมตตาและขันติ     2. ลานหินโค้ง เป็นที่ประกอบศาสนกิจของพระสงฆ์และผู้มาปฏิบัติธรรม ซึ่งในแผนที่บริเวณวัดได้อธิบายเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ไว้ว่า “เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสวนโมกข์ ที่เอื้อต่อการศึกษาปฏิบัติธรรมมากที่สุด สะท้อนแนวคิดของพุทธทาสภิกขุว่า มาสวนโมกข์ต้องได้พูดคุยกับต้นไม้ ก้อนหิน และได้เรียนรู้เรื่องธรรมะที่ปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่ง ปัจจุบันเป็นที่ตักบาตรสาธิต ทำวัตรสวดมนต์ แสดงธรรม นั่งวิปัสสนา กิจธรรมเริ่มตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง”     3. โรงมหรสพทางวิญญาณ ภายในมีสองชั้น กว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 100 เมตร ภายนอกอาคารเป็นภาพแกะสลักชุดพุทธประวัติรอบอาคาร บริเวณด้านข้างอาคารมีก้อนหินวางเป็นระยะ บนผนังและเสาของอาคารมีภาพปริศนาธรรมมากมาย และภาพของท่านพุทธทาสเมื่อครั้งเดินทางไปอินเดีย เมื่อ ปี พ.ศ. 2498     4. สระนาฬิเกร์ และธารน้ำไหล บนเกาะกลางสระน้ำภายในวัด ที่แห่งนี้เป็นสระน้ำขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 100 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร กลางสระเป็นเกาะเล็กๆ เนื้อที่ประมาณ 5 ตารางเมตร มีต้นมะพร้าวเล็กๆ ปลูกอยู่หนึ่งต้น ท่านพุทธทาสตั้งใจให้สระนาฬิเกร์นี้ เป็นสื่อในการสอนธรรมะอีกอย่างหนึ่งว่า “นิพพนานนั้นอยู่ท่ามกลางวัฏฏะสงสาร”    5. โบสถ์บนเขาพุทธทอง ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่กลางแจ้งบนเขาพุทธทอง เป็นที่ตั้งอุโบสถแบบสวนโมกข์ เป็นโบสถ์พื้นดินตามธรรมชาติอย่างที่เคยมีในครั้งพุทธกาล ธรรมชาติที่มีอยู่โดยรอบบริเวณ เปรียบเสมือนอาคารของโบสถ์ มีเสาปักไว้โดยรอบกำหนดเขต เพื่อใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรม    6. อาคารสร้างคล้ายเรือสำเภาขนาดใหญ่ 2 ลำ ลำแรกชื่อว่า ธรรมวารีนาวาอิสรกุลนฤมิต เป็นอาคารอเนกประสงค์ “อุปมาเหมือนเป็นเรือข้ามฟากหรือข้ามวัฏสงสารให้พ้นจากความทุกข์ ข้ามฟากจากความมีทุกข์ไปสู่ความไม่มีทุกข์ จากความโง่ไปสู่ความฉลาดอิงกับพุทธปรัชญา นาวาแห่งธรรมนำสรรพสัตว์ข้ามห้วงแห่งทุกข์” ลำที่ 2 ชื่อว่า เรือใหญ่หรือธรรมวารีนาวา อธิบายว่า “ชั้นล่างเป็นที่เก็บน้ำฝน ชั้นบนเป็นศาลาอเนกประสงค์สำหรับประชุม ฟังเทศน์เวลาฝนตก ที่หัวเรือเป็นที่ตั้งของห้องสมุดโมกขบรรลัย”    “สวนโมกขพลาราม” นี้ ถือเป็นสถานปฏิบัติธรรมชั้นแนวหน้าของเมืองไทยเป็นแหล่งบ่มเพาะเรียนรู้พระพุทธศาสนา ที่มีผู้ศรัทธามากแห่งหนึ่ง ด้วยภายในอาณาบริเวณของสวนโมกข์ มีความร่มรื่น  สงบ เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม กล่อมเกลาจิตใจและศึกษาพระพุทธศาสนา มีโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งประกอบด้วยภาพศิลป์ บทกวี คติธรรมคำสอนในพุทธศาสนานิกายต่างๆ รวมถึงพุทธประวัติ และภาพจำลองจากภาพหินสลักเกี่ยวกับพุทธประวัติในอินเดีย และบริเวณไม่ไกลจากสวนโมกข์ มีส่วนรุกขชาติเขาพุทธทอง ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมพันธ์ไม้ที่มีค่าไว้มากมาย   อ้างอิง - พระมหาสุรชัย ชยาภิวฑฺฒโน (พุดชู), พุทธปรัชญาเซนในสวนโมกขพลาราม (วิทยานิพนธ์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2563), หน้า 39-40. - Surat vans. (2564). สวนโมกขพลาราม, สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2564. จาก. https://www.suratvans.com/suan-mokh/




          การวิเคราะห์และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้ประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาถือได้ว่าเป็นที่สนใจและถูกจับตานำมาต่อยอดโดยนักวิชาการอย่างกว้างขวาง จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “พระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา” ซึ่งเป็นการศึกษาและวิเคราะห์ตีความจากพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ และบันทึกชาวต่างชาติ ข้อมูลดังกล่าวเรียบเรียงโดย นายประทีป เพ็งตะโก ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมศิลปากร และถูกตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ “สถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์” โดยสรุป พระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยามีพัฒนาการการใช้พื้นที่เป็น 3 ระยะ คือ          1. ระยะแรก ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 รวม 98 ปี โดยเป็นช่วงที่พระราชวังหลวงตั้งอยู่บริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ ช่วงแรกพระราชวังหลวงน่าจะประกอบด้วยพระที่นั่งอย่างน้อย 5 องค์ ที่ล้วนสร้างด้วยไม้ คือ - พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท - พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท - พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท และ - พระที่นั่งตรีมุข          2. ระยะที่สอง ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลก ถึงรัชกาลสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ รวม 182 ปี >> สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยกเขตพระราชวังเดิมให้เป็นเขตพุทธาวาส และสร้างพระราชวังใหม่ชิดไปทางด้านเหนือริมแม่น้ำลพบุรี  ในช่วงนี้จะประกอบไปด้วยพระที่นั่งองค์สำคัญได้แก่ - พระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาท - พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท - พระที่นั่งวิหารสมเด็จ ทั้งนี้ ส่วนพระราชวังมีกำแพงกั้นกับวัดพระศรีสรรเพชญ์          3. ระยะที่สาม ตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ รวม 137 ปี  เป็นช่วงที่บ้านเมืองรุ่งเรืองอย่างมาก มีการขยายพระราชวังออกไปทุกทิศทุกทาง ด้านเหนือจรดกำแพงเมือง ด้านตะวันออกจรดท้ายวัดธรรมิกราช ด้านใต้จรดวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระราชวังมีกำแพงสูง 4 เมตร มีป้อม 8 ป้อม ประตูบก 20 ประตู ประตูน้ำ 2 ประตู และช่องกุด 1 ช่อง ภายในพระราชวังประกอบด้วย - พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ตั้งอยู่ด้านเหนือสุด - พระคลังมหาสมบัติ (ด้านใต้ลงมา) - พระที่นี่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ตั้งอยู่พระราชฐานชั้นนอกเป็นที่ประทับทอดพระเนตรฝึกพลสวนสนาม - พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นที่ประทับท้ายพระราชวัง - พระตำหนักตึกเป็นที่ประทับของพระมเหสี - พระที่นั่งทรงปืน - ตำหนักสวนกระต่าย - ตำหนักสระแก้ว - ตำหนักศาลาลวด - ถังประปา           จากข้อมูลดังกล่าวจึงได้มีการวิเคราะห์และจัดทำผังสันนิษฐานของพระราชวังหลวงในระยะต่างๆ ไว้ด้วย >> ทั้งนี้ สรุปข้อมูลมาจาก หนังสือสถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้สนใจสามารถอ่านต่อได้ที่ https://pubhtml5.com/iytc/tiym           หากมีการนำข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์ไปต่อยอด การอ้างอิงข้อมูลพื้นฐานเป็นมารยาทที่พึงกระทำในแวดวงนักวิชาการ ----------------------------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา https://www.facebook.com/AY.HI.PARK/posts/1395881527427348----------------------------------------------------------------------


ผู้แต่ง                            วสันต์ เทพสุริยานนท์หมวดหมู่                        ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ เลขหมู่                           959.373สถานที่พิมพ์                   นนทบุรีสำนักพิมพ์                      หจก.ไวท์โพสต์แกลลอรี่ปีที่พิมพ์                         2551ภาษา                            ไทยหัวเรื่อง                         -ประเภทวัสดุ/มีเดีย             หนังสือท้องถิ่นลักษณะวัสดุ                    74 หน้า  มีภาพประกอบบทคัดย่อ                        -



องค์ความรู้จากหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา เรื่อง สมมาพระ : ว่าด้วยการขอขมาพระรัตนตรัยแบบอีสาน ปริวรรตและเรียบเรียงโดย นางสาวอุไร คำมีภา นักภาษาโบราณปฏิบัติการ


ชื่อเรื่อง                                ขุนบรม (บุรบุรม)  สพ.บ.                                  363/1ประเภทวัสดุมีเดีย                    คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่                               พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ                           58 หน้า กว้าง 5.5 ซม. ยาว 58 ซม.หัวเรื่อง                                 พุทธศาสนา                                           ความเชื่อ                                           ชาติพันธุ์ บทคัดย่อ/บันทึก          เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับลานดิบ  ได้รับบริจาคมาจากวัดลานคา ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี 


#แอ่วเวียงผ่อวัดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน  ตอน... "เจดีย์วัดพญาวัด"--- เจดีย์วัดพญาวัด ตั้งอยู่ภายในวัดพญาวัด ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เป็นหนึ่งในเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่มีรูปแบบพิเศษ ซึ่งปรากฏเฉพาะในศิลปะล้านนาระยะแรกเพียงไม่กี่แห่ง โดยปรากฏที่จังหวัดลำพูน ๒ แห่ง ได้แก่ เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี  และสุวรรณเจดีย์ ในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘  นอกจากนั้นยังมีเจดีย์รูปแบบที่คล้ายคลึงกันนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ คือ เจดีย์กู่คำ วัดกู่คำ เวียงกุมกาม --- เจดีย์วัดพญาวัด มีลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงปราสาทยอด ส่วนฐานทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ๔ ชั้น ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวคว่ำ และท้องไม้มีประดับลูกแก้วอกไก่ ,ส่วนเรือนธาตุ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีชั้นเรือนธาตุซ้อนชั้นลดหลั่นขึ้นไป ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืน ด้านละ ๓ องค์ รวมทั้งหมด ๖๐ องค์ ลักษณะของซุ้มจระนำก่อเป็นวงโค้งและมีการประดับลวดลายเครือล้านนา, ส่วนยอดของเรือนธาตุ มีลักษณะเป็นทรงกรวยสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ และมีปลียอดด้านบนสุดเป็นทรงกรวยสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกัน--- จากการศึกษาที่ผ่านมา มีข้อสันนิษฐานว่ารูปแบบของเจดีย์วัดพญาวัดนี้ อาจจะจำลองแบบมาจากเจดีย์วัดกู่กุด อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน  โดยคงนำมาสร้างขึ้นในชั้นหลัง เนื่องจากมีเทคนิคการก่อสร้างและองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมที่สามารถกำหนดอายุสมัยได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้แก่ การประดับลวดลายปูนปั้นแบบลายเครือเถาล้านนา การก่ออิฐซุ้มจระนำในลักษณะซุ้มโค้งก่อเรียงอิฐในแนวตั้งและหันด้านหน้าแผ่นอิฐออก เป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ทรงเรือนธาตุ ศิลปะล้านนา ที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น กู่พระเจ้าติโลกราช วัดเจ็ดยอด และเจดีย์วัดโลกโมฬี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ --- นอกจากนี้ รูปแบบพระพุทธรูปปูนปั้นที่ประดับภายในซุ้มจระนำ ยังมีลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปในศิลปะล้านนาทั่วไป ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อาทิ พระพักตร์รูปไข่ พระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี โดยลักษณะการครองจีวร แนวรัดประคด ชายพับขอบสบงทางด้านหน้า และแนวขอบชายจีวรที่ทิ้งชายลงมาทางด้านล่างคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปปางลีลาที่วัดนาปัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน  --- กล่าวโดยสรุปได้ว่า จากรูปแบบทางศิลปกรรมของเจดีย์วัดพญาวัด สันนิษฐานว่าคงถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โดยอาจจะได้แรงบันดาลใจในการสร้างมาจากเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะพิเศษทางรูปแบบศิลปกรรมอันแตกต่างไปจากเจดีย์ในศิลปะล้านนาที่สร้างอยู่โดยทั่วไป จึงได้นำมาสร้างขึ้นไว้ที่เมืองน่าน ดังปรากฏหลักฐานมาจนถึงปัจจุบันเอกสารอ้างอิง--- ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์.คู่มือนำชมศิลปกรรมโบราณล้านนา. นนทบุรี: เมืองโบราณ, ๒๕๖๓.--- สุรศักดิ์ ศรีสำอาง และคณะ. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๗.#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน#โบราณสถานในจังหวัดน่าน


โพธิปกฺขิยธมฺม (โพธิปกฺขิยธมฺม)  ชบ.บ.49/1-7  เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


เลขทะเบียน : นพ.บ.184/7ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ :  58 หน้า ; 5.5 x 54 ซ.ม. : ทองทึบ-ล่องรัก ; ไม้ประกับธรรมดาชื่อชุด : มัดที่ 106 (117-122) ผูก 7 (2565)หัวเรื่อง : ปาจิตฺติยปาลิ มหาริภงฺคปาลิ(พระปาจิตตีย์)--เอกสารโบราณ            คัมภีร์ใบลาน            พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา  สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม


เรื่อง “จารึกและลวดลายบนหีบพระธรรมวัดบุญยืน” --- หีบพระธรรม หรือ หีดธัมม์ (หีดธรรม)  ในล้านนา เป็นเครื่องใช้สอยอันเนื่องในพระพุทธศาสนา มีลักษณะเป็นหีบหรือกล่องไม้ขนาดใหญ่ ใช้สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกหรือพระธรรมในลักษณะคัมภีร์ใบลานที่พระสงฆ์ใช้สำหรับเทศน์ หีบพระธรรมประกอบด้วยสามส่วน คือ ส่วนตัวหีบ ส่วนฐาน และส่วนฝา ลักษณะรูปทรงของหีบพระธรรมมักมีลักษณะเป็นทรงลุ้งซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยม ด้านล่างฐานสอบเข้า ส่วนปากหีบผายออก มีฝาครอบปิดด้านบนแตกต่างกัน ได้แก่ ฝาตัด ฝาคุ่ม และฝาเรือนยอด  นอกจากนี้ยังมีตู้พระธรรมซึ่งเป็นที่นิยมในภาคกลางที่พบในล้านนาเช่นกัน โดยมีลักษณะเป็นตู้ที่เปิดจากด้านหน้า --- หีบพระธรรมวัดบุญยืน จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย กำหนดอายุสมัยจากจารึกพุทธศักราช ๒๓๓๘  ศิลปะแบบล้านนา สร้างด้วยไม้ลงรักปิดทอง มีขนาดกว้าง ๗๐ เซนติเมตร ยาว ๗๑ เซนติเมตร สูง ๑๒๒.๕ เซนติเมตร ลักษณะเป็นหีบทรงลุ้ง ฝาตัด ฐานปัทม์ สลักภาพนูนต่ำและปั้นรักประดับแสดงภาพเล่าเรื่องสิริจุฑามณีชาดก ประกอบด้วยรูปบุคคล รูปสัตว์ และลวดลายพันธุ์พฤกษา มีจารึกอักษรธรรมล้านนาระบุผู้สร้างและปีที่สร้าง  พระสาราธิคุณ เจ้าอาวาสวัดบุญยืน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ให้ยืมจัดแสดง ปัจจุบันหีบพระธรรมนี้จัดแสดงอยู่ภายในห้องประณีตศิลป์ ชั้นบนอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน  --- หีบพระธรรมวัดบุญยืนสลักภาพนูนต่ำและปั้นรักประดับ ส่วนฐานปัทม์ประดับลวดลายเครือดอก ส่วนตัวหีบแสดงภาพเล่าเรื่องรูปบุคคล และรูปสัตว์ ประกอบลวดลายพันธุ์พฤกษาทั้งสี่ด้าน ส่วนด้านหน้าที่สำคัญที่สุดบริเวณฝามีจารึก ตัวหีบสลักภาพเล่าเรื่อง “สิริจุฑามณีชาดก” ส่วนตัวหีบด้านซ้ายสลักรูปบุคคลถือพระขรรค์ ส่วนด้านหลังของตัวหีบสลักภาพบุคคลต่อสู้กันสันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพเล่าเรื่องในชาดก และส่วนด้านขวาของตัวหีบเป็นภาพยักษ์ถือพระขรรค์ โดยภาพสลักทั้งสี่ด้านสลักอยู่ภายในกรอบห้าเหลี่ยมบริเวณมุมทั้งสี่ของกรอบประดับลวดลายในกรอบสามเหลี่ยม บริเวณส่วนฝานอกจากด้านหน้าที่มีจารึก สลักเป็นแถวลายรูปสัตว์ในลักษณะเคลื่อนไหววิ่งหยอกเล่นกัน --- ภาพสลักเล่าเรื่องสิริจุฑามณีชาดก แสดงรูปบุคคลนั่งอยู่บนแท่น ตรงกลางภาพ มีรูปบุคคลที่มีกายเพียงครึ่งซีกนั่งอยู่ทางเบื้องขวาและมารอีก ๒ ตนกำลังเลื่อยแบ่งร่างกาย  ตอนบนสุดเป็นภาพเทวดาประณมมือ กรอบภาพนอกสุดเป็นแนวลายไข่ปลา ที่มุมทั้งสี่ทำเป็นลายดอกไม้และเถาไม้ การจัดองค์ประกอบได้สัดส่วนและสมดุลกันทั้งสองด้าน โดยเน้นจุดสนใจอยู่ที่กึ่งกลางของภาพ ส่วนพื้นที่ว่างเบื้องหลังสลักเป็นลายพันธุ์พฤกษา ภาพดังกล่าว แสดงถึงเรื่องราวการบำเพ็ญทานของพระสิริจุฑามณีที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปัญญาสชาดก ซึ่งรจนาขึ้นทางภาคเหนือของประเทศไทย บุคคลตรงกลางภาพคงหมายถึงพระโพธิสัตว์ในชาติปางก่อนที่จุติลงมาเป็นพระเจ้าสิริจุฑามณี พระเจ้ากรุงพาราณสี ผู้ปรารถนาพระโพธิญาณเสียสละบำเพ็ญทานด้วยการอุทิศร่างกายของพระองค์แด่พระอินทร์ผู้แปลงร่างลงมาเป็นพราหมณ์พิการ  มีร่างกายเพียงซีกเดียว เพื่อขอร่างกายของพระเจ้าสิริจุฑามณีอีกครึ่งหนึ่งนำมาติดเข้ากับร่างตน รูปมารทั้งสองคือพระยามารที่ผุดขึ้นมาจากธรณีภายหลังที่ทรงอธิษฐานอุทิศพระวรกายมาขอรับส่วนแบ่งที่เหลือ และช่วยกันเลื่อยพระวรกายออกเป็น ๒ ส่วน ระหว่างนั้น เหล่าเทพยดาซึ่งแสดงแทนด้วยรูปเทวดาประณมมือทางตอนบนของภาพต่างแซ่ซ้องสาธุการและแสดงการคารวะการบำเพ็ญทานในครั้งนี้ --- จารึกบนหีบพระธรรมวัดบุญยืน เขียนด้วยรักสีแดงรวม ๖ บรรทัดที่ขอบทางด้านหน้าของส่วนฝา ระบุว่า พระเถระชื่อทิพพาลังการ และเจ้าผู้ครองนครน่าน (เจ้าอัตถวรปัญโญ ผู้สร้างวัดบุญยืน) ให้สร้างขึ้นเมื่อจุลศักราช ๑๑๕๗ หรือพุทธศักราช ๒๓๓๘บรรทัดที่ ๑ ศรีสวัสดี จุฑศกพท ๑๑๕๗ ตัว ใน (ปี) โถะ สนำ กัมโพชม ขอมพิสัย เข้ามาในวัสสานอุตุ อัสยุช ปัณณรสมี ภุมวาร ไถง ไทยภาษาว่าบรรทัดที่ ๒ ปีดับเม้า เดิอรเจียง เพ็ง เม็ง พร่ำว่า ได้วันที่ ๗ ไทก่าไก๊ ปฐมมูลศรัทธา ภายในหมายมีศรัทธาสาธุเจ้าตนชื่อทิพพาลังการ เป็นประธานแก่อันเตวาสิกชู่คน หน ศรัทธาบรรทัดที่ ๓ อุปถัมภกภายนอก มีมหาราชหลวง เป็นประธาน แลอุปาสกแสนอาสา แสนหนังสือขานถ้วน ร้อยจ้อยหล้าอุปาสิกานางโนชา แลศรัทธา ทายกทล้า อันอยู่ในบ้านน้ำลัด ชู่คน ก็บังเกิดเจ -บรรทัดที่ ๔ ตนาสร้างแปลงยังหีด ธรรมเทศนาลูกนี้ ไว้หื้อเป็นที่สถิตย์ ไว้ยังเตปิฎก สัมพุทธวัจนธรรมเทศนาเจ้า เพื่อบ่หื้อ เศร้าหม่นหมองเรียรายเสี้ยงแท้ดีหลี ด้วยเดชบุญรวายสีบรรทัดที่ ๕ เยิงนี้ ขอจุ่งค้ำชูหื้อผู้ข้าทล้า ได้เถิงยัง ติวิธสุข ๓ ประการ มีนิพพานเป็นยอดแก่ผู้ข้าทล้าแท้อย่าคลาดอย่าคลา ตามมโนรถปรารถนา แห่งผู้ข้าทั้งหลายชู่ตน ชู่องค์บรรทัดที่ ๖ ชู่ผู้ชู่คน เที่ยงแท้ดีหลีเทอะ ฯ//ะ--- เนื้อหาโดยสังเขป กล่าวว่า ในจุลศักราช ๑๑๕๗ พระสงฆ์นามว่าทิพพาลังการเป็นประธานแก่ศิษย์ทุกคน โดยมีมหาราชหลวงเป็นองค์อุปถัมภ์ พร้อมด้วยขุนนาง นางโนชา และชาวบ้านน้ำลัดมีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างหีบพระธรรมสำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎก โดยขอให้ได้พบสุข ๓ ประการซึ่งมีนิพพานเป็นยอด  ปีที่จารึก จุลศักราช ๑๑๕๗ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๓๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และตรงกับปีที่เจ้าอัตถวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๕๗ ครองเมืองน่าน พุทธศักราช๒๓๒๙ - ๒๓๕๓) ให้สร้างหอไตรขึ้นในวัดกลางเวียง (วัดบุญยืน)  อักษรและภาษาที่ใช้ในจารึก ได้แก่ อักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย ภาษาถิ่น เช่นคำว่า “หีบธรรม” ใช้ว่า “หีดธรรม” นอกจากนั้นในจารึกยังได้กล่าวนามถึง “มหาราชหลวง” เข้าใจว่าคงหมายถึงตำแหน่งของเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้าเมืองที่กล่าวด้วยความยกย่องสรรเสริญเทียบเท่าพระมหากษัตริย์แต่โบราณ ซึ่งคงหมายถึงเจ้าอัตถวรปัญโญ ส่วนนาม “สาธุเจ้าทิพพาลังการ” เข้าใจว่าเป็นพระมหาเถรที่มีความสำคัญทางคณะสงฆ์ของเมืองน่านในช่วงเวลาดังกล่าวเอกสารอ้างอิง- เด่นดาว ศิลปานนท์. เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา: ตู้และหีบพระธรรม เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.finearts.go.th/main/view/24895-เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา—ตู้และหีบพระธรรม?type1=5- ผศ.เธียรชัย อักษรดิษฐ์ และคณะ. ลวดลายพุทธศิลป์น่าน. เชียงใหม่: สันติภาพแพ็คพริ้นท์, ๒๕๕๑.- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกหีบพระธรรมวัดบุญยืน. เข้าถึงข้อมูลจาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1873- สุรศักดิ์ ศรีสำอาง และคณะ. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๓๗. - ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สิริจุฑามณิชาดก. เข้าถึงข้อมูลจาก https://vajirayana.org/ปัญญาสชาดก/๗-สิริจุฑามณิชาดก