ค้นหา


รายการที่พบทั้งหมด 37,398 รายการ


วันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00 น.นายพงศ์ธันว์  สำเภาเงิน ผู้อำนวยการกองโบราณคดี  พร้อมด้วย นายสมัคร  ทองสันท์ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม และคณะ ลงพื้นที่ตรวจรับพัสดุ งวดงานที่ 2 และ 3 งานโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร โดยมีนายฉัตรชัย รักษา นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณดี กรมศิลปากร ผู้รับผิดชอบ และผู้ควบคุมงานโครงการฯ ให้การต้อนรับ และรายงานการผลการดำเนินงานดังกล่าว ณ พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา


วันอังคารที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๐๐ น. นายสถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยผู้บริหารกรมศิลปากร กองโบราณคดี ให้การต้อนรับและประชุมหารือร่วม คณะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย นำโดย Mr. Muthu Ramacchandrab , Dr. M. Sivaguru , Ms. Chatvarin Yuvanaboon  ณ ห้องประชุมกองโบราณคดี ชั้น ๕ อาคารกรมศิลปากร (เทเวศร์)




ส่งเสริมการอ่านผ่าน Facebook กับหอสมุดแห่งชาติชลบุรี เรื่อง โรคขาดธรรมชาติ ยามาโมโตะ ทัตสึทากะ. โรคขาดธรรมชาติ แปลโดย อติพร บริณายกานนท์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ, 2564. ห้องหนังสือทั่วไป 1 เลขเรียกหนังสือ 613 ย146ร บรรพบุรุษของมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นเมื่อแสนปีล่วงมาแล้ว และดำรงชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ล่าสัตว์ จับปลา เพื่อใช้เป็นอาหาร เพราะเหตุนี้ร่างกายและจิตใจของเราจึงมีความผูกพันกับธรรมชาติ เพียงแค่ได้ยินเสียงนกร้อง มองเห็นสายน้ำตามลำห้วย หรือร่างกายกระทบกับสายลมเย็นที่พัดผ่าน ก็สามารถกระตุ้นสัญชาตญาณเล็กๆ ให้รู้สึกถึงความสงบที่เทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่ได้ โรคขาดธรรมชาติ เล่มนี้ ผู้เขียนพาเราไปพบกับ ธรรมชาติ สิ่งสำคัญอย่างยิ่งกับทุกชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ที่ร่างกายและจิตใจถูกสร้างมาให้ผูกพันกับธรรมชาติตั้งแต่อดีตกาล แต่โลกที่เข้าสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตมนุษย์เปลี่ยนไป สามารถดำเนินชีวิตได้โดยไม่ต้องอาศัยธรรมชาติ นั่นจึงเป็นสาเหตุของปัญหาและความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นต่อร่างกายและจิตใจมนุษย์ หรือเรียกว่า “โรคขาดธรรมชาติ” ซึ่งคำนี้แผลงมาจากคำว่า “โรคบกพร่องจากธรรมชาติ” จากหนังสือ เด็กคนสุดท้ายในป่า (Last Child in the Woods) อาการของโรคแม้จะไม่สามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขได้แต่ก่อให้เกิดสภาพความไม่มั่นคงทางจิตใจและอาการอื่นๆ เช่น การควบคุมอารมณ์และความรู้สึก การเคลื่อนไหวร่างกาย ลักษณะอาการจะคล้ายกับโรคสมาธิสั้น พบมากในวัยเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กยุคใหม่ที่ต้องใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับเทคโนโลยี เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยตึกสูงและอาคารคอนกรีต เมื่อพูดถึงธรรมชาติหลายคนคงนึกถึง ภูเขา ลำธาร ทะเล แต่คำว่าธรรมชาติยังถูกใช้ในความหมายที่เกี่ยวกับลักษณะและพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งการที่เราสามารถแสดงออกได้อย่างเป็นธรรมชาติจะคงไว้ซึ่งสุขภาพกายและใจที่ดี เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตท่ามกลางป่าเขาหรือต้นไม้ ก็ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าจะไม่เกิดโรคขาดธรรมชาติ แต่การปรับพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตให้หวนคืนสู่ธรรมชาติที่หายไปคือการเยียวยาโรคขาดธรรมชาติได้ดีที่สุด เริ่มต้นด้วยการจัดระเบียบชีวิตประจำวัน ฝึกให้เป็นคนนอนเร็ว ตื่นเร็ว รับประทานอาหารที่ปรุงสด งดอาหารสำเร็จรูป หรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และลองสังเกตความไม่เป็นธรรมชาติของตนเองเพื่อเติมเต็มส่วนที่หายไป แม้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็เป็นโอกาสที่จะได้สัมผัส “ธรรมชาติ” อย่างง่ายที่สุด ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติชลบุรี (วันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 09.00 - 17.00 น.)


กฤตภาคข่าวท้องถิ่น เรื่อง โรงกลั่น “เอสโซ่ศรีราชา” มอบทุน 1.6 ล้าน “ปันน้ำใจพาน้องกลับห้องเรียน” ปี 2566


ส่งเสริมการอ่านผ่าน Facebook กับหอสมุดแห่งชาติชลบุรี เรื่อง เลี้ยงลูกด้วยหัวใจ แม่แอน. เลี้ยงลูกด้วยหัวใจ. กรุงเทพฯ: Reach, 2558. ห้องหนังสือทั่วไป 1 เลขเรียกหนังสือ 649.1 ม877ล “แม่” คือผู้ให้กำเนิด ให้ความรัก และแม่ยอมเสียลสะทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้มีชีวิตที่สุขสบาย เฝ้าทะนุถนอมดั่งแก้วตาดวงใจตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่ามีชีวิตน้อยๆ เติบโตอยู่ในครรภ์ จนถึงวันที่ลูกลืมตาดูโลกก็ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อดูแลให้ดีที่สุด แม้กระทั่งวันที่ลูกเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่หน้าที่ของความเป็นแม่ ก็ไม่เคยสิ้นสุดลง เลี้ยงลูกด้วยหัวใจ เล่มนี้ ผู้เขียนพาเราไปพบกับ ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของผู้เป็นพ่อและแม่ในการเลี้ยงดูและมอบความรักให้กับ “ลูก” ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้เป็นแม่ที่ลองผิดลองถูกกับวิธีการเลี้ยงลูกจนสามารถนำมาปรับใช้และเลี้ยงดูให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุข จึงพร้อมที่จะแบ่งปัน ส่งต่อข้อคิดดีๆ ให้กับคุณแม่ท่านอื่นๆ แน่นอนว่าการมีครอบครัวมิใช่จบลงแค่คำว่าสามีภรรยา ในวันหนึ่งเมื่อชีวิตน้อยๆ ได้ถือกำเนิดขึ้นมา วันนั้นคือจุดเริ่มต้นของความเป็นพ่อและแม่ที่ปรารถนาจะเลี้ยงดูให้ลูกน้อยเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เอาตัวรอดได้ในสังคมและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่ความคาดหวังนั้นอาจทำให้หลงลืมไปว่าช่วงเวลาทุกขณะที่กำลังผ่านพ้นไปก็ได้พัดพาความเป็นเด็กของลูกน้อยให้ผ่านพ้นไปด้วย โดยเฉพาะช่วงวัยต่ำกว่า 7 ขวบ จะมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่ผู้ใหญ่รู้สึก คิด และปฏิบัติ จึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรัก ความทะนุถนอม ในทุกๆ การกระทำ คุณแม่บางท่านอาจเผลอแสดงอารมณ์โกรธและโมโหต่อหน้าลูก ซึ่งสาเหตุมาจากความเหนื่อยล้าหรือลูกน้อยงอแงร้องไห้ เพียงแค่หยุดคิดและลองปรับวิธีในการเลี้ยงลูกดูใหม่ เช่น หากิจกรรมทำร่วมกัน ทั้งพ่อ แม่ ลูก ก็จะสามารถสร้างครอบครัวให้เต็มไปด้วยความสุขและเสียงหัวเราะ และสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรมอบให้ลูก คือ ความไว้ใจ วางใจ และเชื่อมั่นในตัวลูก ว่าเขาจะสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง การกระทำเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ในความทรงจำ จนถึงวันที่ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วนึกถึงช่วงเวลาที่ดีที่สุด หนึ่งในนั้นจะมีคำว่า “แม่” ผู้ซึ่งให้ความรัก ความอบอุ่น และความรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้อยู่ใกล้เด่นชัดขึ้นมาอย่างแน่นอน ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติชลบุรี (วันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 09.00 - 17.00 น.)


แนะนำหนังสือน่าอาน เรื่อง พระประวัติสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์ พระประวัติสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์. กรุงเทพฯ : สุทินการพิมพ์, 2551. 102 หน้า. ภาพประกอบ. จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า รัชกาลที่ 3 ทรงผนวชครบ 200 ปี พุทธศักราช 2551 ประกอบด้วยเนื้อหา พระประวัติของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกของไทย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จำนวน 19 องค์ ตั้งแต่องค์ที่ 1 สมเด็จพระสังฆราชฯ (ศรี) วัดระฆังโฆษิตาราม จนถึงองค์ที่ 19 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ (เจริญ) วัดบวรนิเวศวิหาร ท้ายเล่ม คณะที่ปรึกษา ประวัติผู้เรียบเรียง ผู้ร่วมทำบุญสร้างหนังสือ สดุดีมหาเจษฎาราชเจ้า อ 294.30922 พ345 ห้องค้นคว้า


วันจันทร์ที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๕๒ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร. ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนหน่วยงานและประชาชนในจังหวัดปทุมธานี เฝ้าฯ รับเสด็จ กรมศิลปากรได้น้อมนำแนวพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานไว้ในหลายโอกาสเกี่ยวกับการจัดสร้างคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้มีพื้นที่เพียงพอต่อปริมาณโบราณวัตถุที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ปรับปรุงพัฒนาให้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานพิพิธภัณฑ์วิทยา เพื่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุของชาติ และใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นด้วยการเปิดให้บริการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พุทธศักราช ๒๕๔๕ กรมศิลปากรจึงได้ย้ายโบราณวัตถุจากคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเดิมใช้พื้นที่อาคารจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาจัดเก็บ ณ อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จังหวัดปทุมธานี โดยจัดวางตามหมวดหมู่ประเภทวัสดุตามหลักการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ออกแบบห้องคลังต่างๆ ให้เป็นคลังเปิดเพื่อการศึกษา หรือ Visible Storage ที่เปิดให้ผู้เข้าเยี่ยมชมมองเห็นได้จากภายนอกผ่านผนังกระจก ต่อมาเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๕๙ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากรก่อสร้างอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลังใหม่ในพื้นที่ว่างของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ออกแบบให้เป็นอาคารคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุโดยเฉพาะ ตั้งแต่รูปแบบอาคารที่คำนึงถึงการควบคุมความร้อน ความชื้นจากภายนอกอาคาร ติดตั้งระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคารเพื่อปกป้องและรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ให้มีความยั่งยืนและปลอดภัยตามมาตรฐานคลังพิพิธภัณฑ์สากล ได้แก่ ระบบจัดเก็บตามประเภทวัสดุของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ระบบตรวจสอบและควบคุมอุณหภูมิความชื้น ระบบปรับอากาศ ระบบป้องกันอัคคีภัย ป้องกันภัยธรรมชาติ และการโจรกรรม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ถูกออกแบบและวางระบบการบริหารจัดการให้เป็นคลังเปิด (Visible Storage) เพื่อให้บริการในรูปแบบของคลังเพื่อการศึกษา (Study Collection) ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้บริการใน ๒ รูปแบบ คือการเข้าศึกษาตามอัธยาศัยในพื้นที่บริการทั่วไป ได้แก่ ห้องสมุด ห้องสอบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุ และใช้บริการสำเนาไฟล์ภาพถ่ายโบราณวัตถุ การบริการอีกรูปแบบหนึ่งคือ การศึกษาชิ้นงานโบราณวัตถุ ซึ่งต้องยื่นคำร้องขออนุญาต เมื่อได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวกนำเข้าศึกษาโบราณวัตถุในพื้นที่ควบคุมชั้นใน โดยจะเปิดให้บริการแก่นักศึกษา นักวิจัย และประชาชน เข้าศึกษาโบราณวัตถุในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี ได้ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ศกนี้ ซึ่งตรงกับวันพิพิธภัณฑ์ไทย นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังมีบริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้สามารถชมบรรยากาศห้องคลังโบราณวัตถุ และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญในมุมมอง ๓๖๐ องศา ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Virtual Smart Museum และ FA Discovery เพื่อให้โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เก็บรักษาในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ยังประโยชน์แก่ประชาชนทุกคนให้สามารถเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คงคุณค่าต่อไป


แนะนำหนังสือน่าอ่าน เรื่อง ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ กรมการศาสนา. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ, 2527. พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 วิภาค ได้แก่ วิภาคที่ 1 ให้ความรู้เกี่ยวกับ สายธารแห่งอารยธรรมของโลก ความจำเป็นต้องมีศาสนา ความหมายของศาสนาฯลฯ วิภาคที่ 2 พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ กล่าวถึงพระพุทธศาสนาก่อนสมัยสุโขทัย การเผยแพร่พระพุทธศาสนาสมัยสุโขทัย สมัยลานนาไทยคาบเกี่ยวสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นต้น วิภาคที่ 3 การปรับปรุงและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา สมัยรัชกาลที่ 1 - 9 วิภาคที่ 4 การปกครองคณะสงฆ์โดยสังเขป สมัยหลังพุทธปรินิพพาน การปกครองสงฆ์ในประเทศไทยสมัยสุโขทัย จนถึงรัชกาลปัจจุบัน พร้อมทั้งรายพระนามสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และวิภาคที่ 5 การศึกษาของคณะสงฆ์ในปัจจุบัน การเรียนการสอน เป็นต้น อ 294.309 ก521ป ห้องค้นคว้า


แนะนำหนังสือน่าอ่าน ผุสดี จันทวิมล. รัสเซีย จักรวรรดิพันปีที่ยิ่งใหญ่. กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป, 2564. 528 หน้า. ภาพประกอบ. 580 บาท. เป็นเรื่องราวของรัสเซียจากแรกเริ่มของเส้นทางประวัติศาสตร์จากอดีตจนถึงรัสเซียในปัจจุบัน เพื่อให้รู้จักรัสเซียให้มากขึ้น รัสเซียก่อนสมัยอาณาจักร ที่ตั้ง ภูมิประเทศ ชนชาติที่อาศัยในรัสเซีย ชนชาติสลาฟตะวันออก รัสเซียสมัยอาณาจักรเคียฟ สมัยราชรัฐรัสเซีย สมัยอาณาจักรมัสโควี เรื่องของจักรวรรดิรัสเซียสมัยต้น รัสเซียสมัยใหม่คริสตจักร ชนกลุ่มน้อย นโยบายต่างประเทศ การขยายอำนาจสู่เอเชีย ติดตามรายละเอียดของรัสเซียจากเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ 947 ผ662ร ( ห้องทั่วไป 2 )


แนะนำหนังสือน่าอ่าน บุญธรรม ภัทราจารุกุล. เขียนแบบเทคนิคเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2556. 200 หน้า. ภาพประกอบ. 150บาท. ให้ข้อมูลในเรื่องของหลักการอ่านแบบ เขียนแบบเทคนิคเบื้องต้น การใช้และการบำรุงรักษาเครื่องมือเขียนแบบ มาตรฐานงานเขียนแบบเทคนิค เส้น ตัวเลข ตัวอักษร การสร้างรูปเรขาคณิต การกำหนดขนาดของมิติ มาตราส่วน ภาพสามมิติ หลักการฉายภาพมุมที่ 1 และมุมที่ 3 ภาพสเกตช์ ภาพตัด และสัญลักษณ์เบื้องต้นในงานช่างอุสาหกรรม 604.2 บ471ข (ห้องทั่วไป2)


แนะนำหนังสือน่าอ่าน ชัยนนท์ ศรีสุภินานนท์. พื้นฐานทางช่าง. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2558. 384 หน้า. ภาพประกอบ. 220 บาท. ให้ความรู้พื้นฐานทางช่างคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร วัสดุช่างมีอะไรบ้าง โลหะที่เป็นเหล็ก โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก พลาสติก เครื่องมือช่างพื้นฐาน เครื่องจักรกลพื้นฐาน การวัดและการตรวจสอบ เครื่องมือวัดพื้นฐานสำหรับช่าง การหมายงาน การปรับแต่ง การกลึง การกัด การไส งานโลหะแผ่นบางและการเขียนแบบแผ่นคลี่ การเชื่อม การเชื่อมประสาน และการบัดกรี พร้อมทั้งการเจียระไน ซึ่งเป็นพื้นฐานทางช่างทั้งหมด 620.007 ช386พ ( ห้องทั่วไป 2 )


แนะนำหนังสือน่าอ่าน เจนจิรา เสรีโยธิน. พูดเยอรมันจากจินตภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์, 2562. 539 หน้า. ภาพประกอบ. 250 บาท. ภาษาเยอรมันเป็นภาษาตระกูลเจอร์มานิก ที่อยู่ในตระกูลเดียวกับภาษาอังกฤษและภาษาดัตช์ ทำให้มีศัพท์เยอรมันหลายคำที่คล้ายกับภาษาอังกฤษ เนื้อหาในเล่มนี้จะทำให้รู้จักภาษาเยอรมันอย่างละเอียด ในเรื่องของพยัญชนะ ตัวสะกดและสระของภาษาเยอรมัน ในคำนาม การเรียงประโยค ตัวเลข การคำนวณ สรรพนาม การผันกริยา เรื่องของฤดูกาล สภาพอากาศ และอีกหลายๆ เรื่องพร้อมทั้งบทสนทนาที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของการพูดในภาษาเยอรมัน 438.24 จ713พ ( ห้องทั่วไป 1 )