ค้นหา


รายการที่พบทั้งหมด 37,653 รายการ

          วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2566 เวลา 14.00 น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดการแสดงคอนเสิร์ต “2 ทศวรรษ เพชรในเพลง พุทธศักราช 2566” ณ โรงละครศรีอยุธยา หอวชิราวุธานุสรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยมีประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 200 คน             นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การแสดงคอนเสิร์ต “2 ทศวรรษ เพชรในเพลง พุทธศักราช 2566” ในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลงานของศิลปินนักร้องผู้ได้รับรางวัล “เพชรในเพลง” ในรอบ      2 ทศวรรษ เพื่อเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง งดงาม และสร้างสรรค์ ในโอกาสสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2566 อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมบทเพลงและศิลปินเพชรในเพลงให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย             กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของเพลงต่อการธำรงรักษาภาษาไทย   จึงจัดโครงการประกวดเพลง “เพชรในเพลง” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเป็นขวัญกำลังใจให้ศิลปินนักร้องและนักประพันธ์เพลงที่ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ เป็นการร่วมอนุรักษ์ภาษาไทยอันเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติมาอย่างสืบเนื่อง นับเป็นเวลาครบ 20 ปี หรือ 2 ทศวรรษ มีผู้ได้รับรางวัลมาแล้วทั้งสิ้น 406 รางวัล เนื่องในสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย วันที่ 2 – 8 เมษายน 2566 กรมศิลปากรได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมรดกไทย ตลอดจนส่งเสริมผู้อนุรักษ์มรดกไทยทุกสาขา จึงเป็นโอกาสอันดีที่กรมศิลปากรได้จัดกิจกรรมการแสดงคอนเสิร์ต “2 ทศวรรษ  เพชรในเพลง พุทธศักราช 2566” เพื่อเผยแพร่ผลงานของศิลปินคุณภาพที่ได้รับรางวัลเพชรในเพลงในรอบ 2 ทศวรรษให้เป็นแบบอย่างในการส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกไทยด้านภาษาและคีตศิลป์ในสังคมไทยต่อไป โดยมีศิลปินทรงคุณวุฒิ ได้แก่ อาจารย์รวงทอง ทองลั่นธม และอาจารย์วินัย พันธุรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ รวมถึงอาจารย์โฉมฉาย อรุณฉาน และปาน ธนพร แวกประยูร ผู้ทำหน้าที่กรรมการตัดสินการประกวดเพลง “เพชรในเพลง” พร้อมทั้งศิลปินนักร้องคุณภาพผู้ได้รับรางวัลเพชรในเพลง อาทิ เท่ห์ อุเทน พรหมมินทร์, หนู มิเตอร์, แจ๊ค ธนพล, รัชนก ศรีโลพันธุ์, นัน อนันต์ อาศัยไพรพนา, ใบเฟิร์น สุทธิยา, บูม ชญาภา, ปะแป้ง พลอยชมพู, หมิว เขมจิรา, นิตา ลลดา, มิวสิค โรสซาวด์ ร่วมขับขานบทเพลงไพเราะกว่า 25 เพลง บรรเลงโดยวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร


         พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๖๖ การจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เงินตราในประเทศไทย : วิวัฒน์เงินตราไทย จากสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพและวันอนุรักษ์มรดกไทย และเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเงินตราที่ใช้ในประเทศไทย พัฒนาการของเงินตรา รูปแบบของเงินตราในสมัยต่าง ๆ โดยเฉพาะที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ให้แก่นักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ และประชาชนทั่วไป            นิทรรศการพิเศษดังกล่าวจะบอกเล่าเรื่องราวของเงินตราในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่            ๑. เงินตราในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน           ๒. พัฒนาการเงินตราในประเทศไทย           ๓. เบี้ย : ความหมายของเบี้ย เบี้ยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานการใช้เบี้ยเป็นเงินตราในประเทศไทย การยกเลิกใช้เบี้ย           ๔. พดด้วง สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์            ๕. มาตราเงินไทยโบราณ           ๖. การปฏิรูประบบเงินตราในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔           ๗. เมื่อแรกปรากฏพระบรมรูปบนเหรียญกษาปณ์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กับการเปิดรับความเจริญจากชาวตะวันตก           ๘. เงินตราสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ถึง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘           ๙. เงินตราสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙           ๑๐. เงินตราสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐     นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการยังมีการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทเงินตราต่าง ๆ เช่น เบี้ย สมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๓, เงินพดด้วง ชนิดราคา ๑ บาท ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระนารายณ์ และสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ช่วงสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร  เบี้ย สมัยอยุธยา เงินพดด้วง ราคา ๑ บาท สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เงินพดด้วง ราคา ๑ บาท สมัยอยุธยา  รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เงินพดด้วง ราคา ๑ บาท สมัยอยุธยา  รัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ   เหรียญพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ บนเหรียญไม่ระบุศักราช เริ่มผลิตครั้งแรก ร.ศ. ๙๕ หรือ พ.ศ. ๒๔๑๙ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการอัญเชิญพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ประทับบนหน้าเหรียญ  เหรียญพระบรมรูป – ตราไอราพต ผลิตขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๘  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๖๑ เศรษฐกิจตกต่ำ ราคาโลหะเงินเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการลดส่วนผสมในการผลิตเงิน เหรียญตราอุณาโลม – พระแสงจักร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเหรียญที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตตามลักษณะแบบสตางค์รูที่เคยจัดทำในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่มีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง เช่น ศักราชที่ระบุบนเหรียญในสมัยนี้ใช้ปีพุทธศักราช (พ.ศ.) ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้ปีรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เหรียญพระบรมรูป – ตราพระครุฑพ่าห์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งตราพระครุฑพ่าห์ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน เหรียญพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน ชนิดราคา ๑ บาท ผลิตใน พ.ศ. ๒๕๐๕ สมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นเหรียญบาทที่มีลักษณะโดดเด่น เนื่องจากมีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๗ มิลลิเมตร เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐ วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ด้านหน้าของเหรียญเป็นพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนด้านหลังมีรูปตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ มีรัศมีโดยรอบ ธนบัตร แบบ ๓ รุ่น ๑ ชนิดราคา ๑ บาท เริ่มออกใช้ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๗๗ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธนบัตรแบบแรกที่เชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์เป็นภาพประธาน และมีการพิมพ์ข้อความแจ้งโทษของการปลอมแปลงธนบัตรเป็นครั้งแรก ธนบัตรแบบ ๙ ชนิดราคา ๕๐ สตางค์ ประกาศออกใช้ครั้งแรก วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๔๙๑ สมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นธนบัตรที่ไม่ปรากฏพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ ๙ อีกทั้งไม่มีลายมือชื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่มีลายน้ำ           ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ๒๕๖๖ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร เปิดให้บริการทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. หยุดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทย ๒๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท ยกเว้น นักเรียนนักศึกษา นักบวชทุกศาสนา และผู้สูงอายุ --------------------------------------------- ข้อมูลวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๖ โดยนางสาวพรรณลักษณ์ พันธ์วนิชดำรง ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร  




          วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖) เวลา ๑๐.๐๐ น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี ๒๕๖๖ “การจัดการคลังและวัตถุพิพิธภัณฑ์สู่ความยั่งยืน” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร            พุทธศักราช ๒๕๓๘ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วันที่ ๑๙ กันยายนของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และใน ปีนี้ กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในหมู่นักวิชาชีพพิพิธภัณฑ์ในการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑสถานให้สามารถตอบสนองต่อสังคมในมิติของความยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “การจัดการคลังและวัตถุพิพิธภัณฑ์สู่ความยั่งยืน” โดยแนวคิดหลักที่นำมาสู่หัวข้อการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากแนวทางการทำงานพิพิธภัณฑ์สากลของสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM ที่ได้ประกาศไว้ในวันพิพิธภัณฑ์สากล ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ว่า “Museums, Sustainability and well-being: พิพิธภัณฑ์เป็นสถาบันที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี พร้อมการพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน” ด้วยเล็งเห็นว่า “คลังพิพิธภัณฑ์” และ “วัตถุพิพิธภัณฑ์” เป็นหัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์ ดังนั้นการดูแลบริหารคลังพิพิธภัณฑ์และวัตถุพิพิธภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงถือได้ว่าเป็นการสร้างความยั่งยืนแก่มรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติให้คงอยู่สืบไป             กิจกรรมเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี ๒๕๖๖ “การจัดการคลังและวัตถุพิพิธภัณฑ์สู่ความยั่งยืน” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๗ - ๑๙ กันยายน ๒๕๖๖ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพิพิธภัณฑ์เครือข่าย จำนวน ๒๐ แห่ง และหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากร จำนวน ๙ แห่ง มีกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้            ส่วนที่ ๑ กิจกรรมการนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการพิพิธภัณฑสถานวิทยา โดยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ นำเสนอข้อมูลและมุมมองที่แตกต่างในการทำงานเกี่ยวกับคลังพิพิธภัณฑ์ การนำเทคโนโลยีปัจจุบันเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ การดูแลรักษาวัตถุพิพิธภัณฑ์ และการถอดบทเรียนจากงานทำงานคลังพิพิธภัณฑ์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19             ส่วนที่ ๒ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานร่วมกันของเครือข่าย ในหัวข้อ “Museum Unveiling: เรื่องลึก เบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ไทย” นำเสนอเรื่องราวความรู้ในศาสตร์ด้านต่าง ๆ ผ่านโบราณวัตถุในคลังที่หลายคนอาจยังไม่เคยเห็น    ส่วนที่ ๓ การจัดกิจกรรม Workshop ด้านการอนุรักษ์วัตถุพิพิธภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน             ส่วนที่ ๔ งานออกร้านแสดงผลงานหรือสินค้าต่อยอดกิจการพิพิธภัณฑ์            นอกจากนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เปิดการนำชมพิเศษ “ยลพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน” (Night at the Museum) ภายในหมู่พระวิมาน จำนวน ๒ รอบ เวลา ๑๗.๐๐ น. และ ๑๘.๐๐ น. (เปิดลงทะเบียนล่วงหน้าเวลา ๑๖.๑๕ น.) และกิจกรรม “มหาคณปติบูชา” เนื่องในเทศกาลคเณศจตุรถี ร่วมสักการะขอพรพระคเณศ ณ เทวาลัยชั่วคราว ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท และนำชมรอบพิเศษ “กำเนิดพระคเณศ” วันละ ๑ รอบ ในเวลา ๑๘.๐๐ น. (เปิดลงทะเบียนล่วงหน้าเวลา ๑๗.๓๐ น.)            ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๙ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ – ๑๙.๓๐ น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร   



วันที่ 11 สิงหาคม 2566กลุ่มโบราณคดี ทำการสำรวจโบราณสถานในพื้นที่อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 2 แห่ง คือ1).โบราณสถานบริเวณที่พักสงฆ์วัดไทย บ้านหัวสวยพบซากเจดีย์ (ธาตุ) ก่ออิฐฉาบปูนแปดเหลี่ยม และฐานอาคารในผังสี่เหลี่ยมวางตัวนแนวแกนตะวันออก – ตะวันตก(ธาตุอยู่ด้านหลังอาคารในผังสี่เหลี่ยม)2).เจดีย์ (ธาตุ) ร้าง ก่ออิฐ มีต้นไม้ปกคลุม ไม่สามารถศึกษารายะเอียดได้มากนักสันนิษฐานว่าโบราณสถานทั้ง 2 แห่ง สร้างขึ้นในสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง เมื่อราว 400 – 100 ปีมาแล้วสอบถามหรือแจ้งข้อมูลโบราณสถาน 043-242129 Line: finearts8kk E-mail: fad9kk@hotmail.comพื้นที่ในความรับผิดชอบขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร#ความรู้ #องค์ความรู้ทางวิชาการ #บทความ #สำนักศิลปากรขอนแก่น #ขอนแก่น #กรมศิลปากร #แหล่งโบราณคดี #โบราณคดี


นิทรรศการหมุนเวียน   "Object of the Month" วัตถุจากคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี   ประจำเดือน "มิถุนายน" ระหว่าง วันที่ ๑ - ๓๐ มิ.ย. ๒๕๖๖ เชิญพบกับ  "พระพุทธรูปปางมารวิชัย" ปางสัมผัสแผ่นดิน


องค์ความรู้สุพรรณบุรี เรื่อง ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ผู้เรียบเรียง : นางอภิญญานุช เผ่าพงษ์คล้าย บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ


เสาปริศนาที่วัดป่ามะม่วง.          วัดป่ามะม่วง เป็นโบราณสถานด้านทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย มีการค้นพบศิลาจารึกที่กล่าวถึงวัดแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นที่ป่ามะม่วง เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๔ ได้มีการอาราธนา ‘มหาสามีสังฆราช’ จากเมืองพัน (มอญ) มาจำพรรษา โดยในเวลาต่อมาพระเถระรูปนี้ได้ทำพิธีบวชให้แก่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) ภายในวัดประกอบด้วยอุโบสถ เจดีย์ราย และเจดีย์ประธาน นอกจากนี้ภายในวัดยังมีเสาศิลาแลงตั้งอยู่ด้านหลังเจดีย์ประธาน ปัจจุบันยังไม่ทราบรูปแบบการใช้งานที่แน่ชัด แต่นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า อาจเป็นเสาประดับรูปหงส์ที่สร้างขึ้นโดยพระเถระชาวมอญจากเมืองพันที่มาจำพรรษาที่วัดป่ามะม่วง          โดยที่มาของเสาหงส์ เกิดจากเรื่องเล่าที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า ภายหลังที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๘ ปี พระองค์เสด็จโปรดเวไนยสัตว์ในแคว้นต่าง ๆ เมื่อเสด็จมาถึงเขาสุทัศนมรังสิต ทางด้านทิศเหนือของสะเทิมได้ทอดพระเนตรเห็นเนินดินกลางทะเล โดยมีหงส์ทอง ๒ ตัวเล่นน้ำอยู่จึงทำนายว่า เนินดินที่หงส์ทั้งสองเล่นน้ำอยู่นั้น จะเป็นมหานครที่ชื่อว่า ‘หงสาวดี’ เป็นที่ตั้งพระธาตุสถูปเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์และพระศาสนา ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ ๑,๐๐๐ ปี จากเนินดินที่อยู่กลางทะเลกลายเป็นแผ่นดินใหญ่ พระราชบุตรของพระเจ้าเสนาคงคา นามว่า ‘สมลกุมาร’ และ ‘วิมลกุมาร’ เป็นผู้รวบรวมไพร่พลก่อตั้งเมืองขึ้น แล้วให้ชื่อว่าเมืองหงสาวดี ชาวมอญจึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังนั้นคนมอญหรือชนชาติมอญจึงมีจิตใจมุ่งมั่นในพระพุทธศาสนาและมีการประดิษฐานเสาหงส์ตามวัดวาอารามต่าง ๆ นั่นเอง          อย่างไรก็ตาม การสร้างเสาสูงภายในศาสนสถานก็เคยปรากฏมาแล้วในอินเดีย ยกตัวอย่างเช่นเสาศิลาของพระเจ้าอโศก ที่ปักอยู่ด้านหน้าพุทธสถานและสถานที่สำคัญในพุทธประวัติ เพื่อใช้ในการจารึกพุทธธรรมหรือคำประกาศ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ได้รับความนิยมมากในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ แบบที่ไม่มีธรรมจักรด้านบนและประเภทที่มีธรรมจักรด้านบน โดยธรรมจักรเป็นสิ่งที่แสดงถึงธรรมของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังสื่อถึงความเป็นพระจักรพรรดิราชของพระเจ้าอโศกมหาราชอีกด้วย.อ้างอิง          ๑. เชษฐ์ ติงสัญชลี. (๒๕๖๓). ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. พิมพ์ครั้งที่ ๔. นนทบุรี. มิวเซียมเพรส.          ๒. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (๒๕๖๑). ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส.          ๓. ที่ระลึกงาน ประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ. (๒๕๔๙). กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).


นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดี ภายใต้โครงการ "ศึกษาและกำหนดอายุแหล่งโบราณคดี ประเภทใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดี พื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗" ณ แหล่งโบราณคดีโนนสำโรง ภายในชุมชนโบราณบ้านปะเคียบ ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดอายุสมัยและศึกษารูปแบบการปักใบเสมา ในวัฒนธรรมทวารวดี ระหว่างวันที่ ๘-๑๗ มีนาคม ๒๕๖๗ ซึ่งดำเนินโครงการโดยกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา



ผู้แต่ง : บริษัทศิวกรการช่าง ปีที่พิมพ์ : 2536 สถานที่พิมพ์ : เชียงใหม่ สำนักพิมพ์ : ม.ป.พ.      พระเจดีย์หลวงเป็นสถานที่นับได้ว่ามีความสำคัญที่สุดอีกแห่งของภาคเหนือหรือดินแดนล้านนาในอดีต มีประวัติการก่อสร้างที่ยาวนานเกือบ 600 ปี เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จนในปีพ.ศ. 2533 รัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน บรรดานักวิชาการ พุทธศาสนิกชนชาวเชียงใหม่และใกล้เคียง ร่วมแรงร่วมใจกัน รณรงค์ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์หลวง รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการศึกษาและออกแบบเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์



ผู้เขียน:  หอจดหมายเหตุเเห่งชาติ จันทบุรี คำอธิบาย: บัญชีสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุชุดมณฑลจันทบุรี เอกสารต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุเเห่งชาติ จันทบุรี เพื่อให้บริการเเก่ผู้ค้นคว้าทั่วไป ครั้งที่พิมพ์ : 1, ธันวาคม 2554 ,



Messenger