ข่าวประชาสัมพันธ์
วันพุธที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นางนงคราญ สุขสม ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้าง เดินทางมาตรวจรับงานบูรณะเจดีย์ วัดเชียงงา ตำบลเชียงงา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี งวดสุดท้าย ซึ่งการบูรณะเจดีย์วัดเชียงงาได้แล้วเสร็จเรียบร้อย ตามประวัติความเป็นมาของวัด ระบุว่า กลุ่มชาวพวน ซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงขวางในช่วงสมัยหลังรัชกาลเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ (พ.ศ. ๒๓๔๘-๒๓๗๑) มีจิตศรัทธาร่วมกันก่อตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ และเรียกชื่อ“วัดเชียงงา” ตามชื่อของหมู่บ้านที่ตั้งตามชื่อเดิมในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
เจดีย์วัดเชียงงา ก่อสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๕ เป็นอุทเทสิกเจดีย์สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยจำลองแบบมาจากธาตุฝุ่น พระธาตุสำคัญประจำเมืองคูนหรือเมืองเชียงขวางของชาวพวน เพื่อสักการะบูชา และความเป็นสิริมงคลของชุมชน ลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง ศิลปะรัตนโกสินทร์ผสมผสานกับศิลปะลาวและศิลปะมอญ-พม่า มีขนาดความสูง ๒๙.๒๐ เมตร ส่วนฐานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๑๔.๒๘ x๑๔.๒๘ เมตร ชั้นล่างสุดเป็นฐานบัวลูกแก้วที่มีท้องไม้ยืดสูง มีการเจาะเป็นช่องโค้งด้านละ ๒ ช่อง เข้าไปยังห้องคูหาใต้ฐานเจดีย์ซึ่งเชื่อมต่อกันโดยรอบ ฐานเจดีย์ชั้นที่สองทำเป็นฐานสิงห์อยู่ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบ ตรงกึ่งกลางด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป หลังคาซุ้มเป็นรูปเจดีย์ขนาดเล็กตกแต่งด้วยลายปูนปั้น มีราวบันไดนาครับ ทั้ง ๔ ทิศ ตรงมุมของฐานเจดีย์ชั้นที่สองประดับด้วยรูปสิงโตจีนปูนปั้น ถัดเหนือขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้ว มีบัวคว่ำ บัวหงายเอนลาด และลูกแก้วขนาดใหญ่อยู่ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบซ้อนลดหลั่นกัน ๒ ชั้น รองรับบัวกลุ่ม และองค์ระฆังขนาดเล็กประดับด้วยรัดอกตกแต่งลายเฟื่องอุบะ ลายดอกไม้ ๘ กลีบและลายใบโพธิ์ปูนปั้น เหนือรัดอกขึ้นไปมีรูปยักษ์ยืนถือดอกบัว และบัวคอเสื้อประดับที่ไหล่ระฆัง ไม่มีบัลลังก์ ส่วนยอดประกอบด้วย ปล้องไฉนจำนวน ๙ ชั้น ตกแต่งด้วยลายกลีบบัว และลายดอกเบญจมาศ มีปัทมบาทคั่นระหว่างปล้องไฉนกับปลียอดแบบปลียาว มีบัวลูกแก้วคั่น ส่วนยอดบนสุดประดับฉัตรโลหะผสมฉลุลาย
สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ตรวจสอบพบว่าเจดีย์วัดเชียงงาอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม วัสดุที่ในการก่อสร้าง และอายุของตัวโบราณสถานเอง จึงเสนอของบประมาณรายจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการบูรณปฎิสังขรณ์โบราณสถานในวัดหรือศาสนสถานจากกรมศิลปากร มาดำเนินการบูรณะซ่อมแซมองค์เจดีย์ บูรณะซ่อมแซมกำแพงแก้ว ปรับปรุงพื้นที่ด้านนอกกำแพงแก้ว และจัดทำป้ายข้อมูลประวัติความสำคัญ โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากพระอธิการบุญฤทธิ์ อนามโย เจ้าอาวาสวัดเชียงงา และนางสาวนพวรรณ ป้อมสูง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงงา เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทำให้เจดีย์วัดเชียงงามีความมั่นคงแข็งแรงและงดงาม เป็นปูชนียสถานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของท้องถิ่นและของจังหวัดลพบุรีต่อไป
เรียบเรียงโดย : นายเดชา สุดสวาท
นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ
ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
(วันพฤหัสบดีที่ 08 กรกฎาคม 2564)
จำนวนผู้เข้าชม 1382
วันศุกร์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นางนงคราญ สุขสม (ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี) ประชุมภายในสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ครั้งที่ ๗/๒๕๖๔ โดยมีหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมประชุม ได้แก่
๑. ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี
๒. ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน
๓. หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป
๔. ผู้อำนวยการพิพิภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
๕. หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
๖. หัวหน้าพิพิภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี ณ ห้องประชุมสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
(วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564)
จำนวนผู้เข้าชม 662
การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้าง เดินทางมาตรวจพื้นที่การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว สำหรับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๒๓๑ ส่วนด้านหลังของพระที่นั่งเป็นที่ประทับของข้าราชบริพารฝ่ายใน ก่อนหน้านี้ด้านหลังพระที่นั่งมีสภาพป่ารกร้างมานาน เมื่อ พุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้มีการขุดแต่งทางโบราณคดีพบแนวฐานโบราณสถานสมัยอยุธยาและร่องรอยเรือนจำเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ด้านหลังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์โบราณสถาน ซ่อมแซมบูรณะประตู กำแพงฉนวน และพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่อไป
การดำเนินงานเริ่มจากการถากถางวัชพืชทำความสะอาดพื้นที่ กำหนดวางผังครอบคุลมทั่วพื้นที่ จากนั้นจึงได้ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดี โดยได้ทำการขุดตรวจเป็นหลุมยาวเพื่อหาแนวฐานโบราณสถานและตรวจสอบลำดับชั้นทับถมทางโบราณคดีก่อน แล้วจึงขุดแต่งโบราณสถานทั้งหมด และได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี จำนวน ๑ หลุม ขนาด ๓x๓ เมตร เมื่อดำเนินการขุดแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้วดำเนินการจัดทำรูปแบบโบราณสถานที่พบจากการขุดแต่ง และจัดทำรูปแบบบูรณะโบราณสถานทั้งหมด สำหรับใช้ในการบูรณะโบราณสถานเพื่อรักษาและเสริมความมั่นคงแก่โบราณสถาน
ผลการดำเนินงานพบแนวฐานโบราณสถานที่ซ้อนทับกันถึง ๒ สมัย คือ แนวอาคารเดิมสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นแนวเดียวกันกับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ จำนวน ๒๐ หลัง ที่มีลักษณะเด่น คือ กลุ่มอาคาร ๔ หลัง ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน และแนวอาคารที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนจำ เมื่อครั้งที่ใช้พื้นที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์เป็นศาลากลางของมณฑลเทศาภิบาล ก่อนย้ายไปยังที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ นอกจากนี้ยังพบทางเดิน แนวกำแพงแก้ว กำแพงฉนวน บ่อน้ำ และแนวท่อน้ำอีกหลายแนว จากการขุดแต่งพบโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น ใบเสมาดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ - สมัยสาธารณรัฐ กระเบื้องเชิงชายลายเทพพนม กระเบื้องเชิงชายลายพันธุ์พฤกษา การวางแนวท่อน้ำดินเผาภายในพื้นที่สลับซับซ้อน มีการแยกระหว่างแนวท่อน้ำใช้และท่อน้ำทิ้ง แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางด้านระบบประปาในสมัยอยุธยา สำหรับการพัฒนาในอนาคต ตามที่อธิบดีกรมศิลปากรได้ให้แนวทางไว้ ในอนาคตจะเปิดเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวใหม่ของประชาชนชาวลพบุรีและประชาชนทั่วไป เพราะนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์แล้วยังเป็นสถานที่พักผ่อนและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับจังหวัดลพบุรีได้เป็นอย่างดี
(วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม 2564)
จำนวนผู้เข้าชม 928
(วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2564)
จำนวนผู้เข้าชม 609
วันศุกร์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นางนงคราญ สุขสม (ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี) ประชุมภายในสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ครั้งที่ ๖/๒๕๖๔ โดยมีหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมประชุม ได้แก่
๑. ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี
๒. ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน
๓. หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป
๔. ผู้อำนวยการพิพิภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
๕. หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
๖. หัวหน้าพิพิภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี ณ ห้องประชุมสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
(วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2564)
จำนวนผู้เข้าชม 628