นิทรรศการ "ปูนปั้น"
ทรรศการชั่วคราวเรื่อง " ปูนปั้น "
นิทรรศการเรื่อง " ปูนปั้น " เป็นนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวปูน ว่าแท้ที่จริงนั้นปูนไม่ใช่ของที่พึ่งเกิดขึ้นใหม่แต่เป็นสิ่งที่มีมาแล้วและสามารถสืบย้อนกลับไปได้หลายศตวรรษ ปูนนั้นมีหลากหลายประเภท และมีชื่อเรียกแต่กต่างกันไป บ้างเรียกตามสี เช่น ปูนขาว ปูนแดง บ้างเรียกตามประเภทของงาน เช่น ปูนก่อ ปูนฉาบ และบ้างเรียกตามการผลิตปูน เช่น ปูนตำ ปูนหมัก เป็นต้น
ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันมนุษย์รู้จักนำปูนมาใช้ในงานก่อสร้างเป็นเวลามากกว่าพันปีแล้ว โดยใช้เป็นวัสดุเชื่อมประสานหินหรืออิฐที่ใช้ในการก่อสร้างให้ติดกัน ปูนที่ใช้คือ “ปูนขาว” (lime) ซึ่งได้จากการเผาวัตถุที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) เช่น หินปูน หินอ่อน และเปลือกหอย เป็นต้น หากนำปูนขาวไปใช้เป็นวัสดุเชื่อมยึดหินหรืออิฐให้ติดกันเพื่อก่อเป็นผนัง กำแพง หรือเพดานก็จะเรียกว่า “ปูนสอ” (Mortar) แต่ถ้าใช้เป็นวัสดุฉาบหินหรืออิฐจะเรียกว่า “ปูนฉาบ” (plaster) และถ้าใช้ทำเป็นลวดลายหรือปั้นประดับตามอาคารจะเรียกว่า “ปูนปั้น” (stucco) ทั้งนี้ในปูนสอและปูนฉาบจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๒ ส่วน คือ ปูนขาวและทราย ขณะที่ในปูนปั้นจะมีองค์ประกอบ ๔ ส่วน คือ ปูนขาว ทราย เส้นใย และกาว
ร่องรอยการใช้ปูนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยพบในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ โดยพบการนำปูนขาวมาใช้งานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมควบคู่ไปกับการใช้ดินเผาอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่เป็นงานปูนปั้นประดับอยู่ตามฐานของอาคารและเจดีย์ ซึ่งแม้จะอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังคงความงดงามและแสดงถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีได้อย่างชัดเจน เช่น ภาพปูนปั้นเล่าเรื่องที่ฐานเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม, ภาพปูนปั้นนักดนตรีหญิงที่โบราณสถานเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี, งานปูนปั้นประดับโบราณสถานที่วัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี และงานปูนปั้นประดับโบราณสถานเขาคลังใน เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น
ความนิยมการใช้ปูนขาวในงานก่อสร้างยังคงสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น การใช้ปูนเป็นตัวฉาบและสออิฐในการก่อสร้างหมู่พระที่นั่งพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวังและการปั้นปูนประดับกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นต้นกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงเริ่มมีการใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้าง โดยเป็นการใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์นำเข้าสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น สะพานพระจอมเกล้าข้ามแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เริ่มมีการใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์นำเข้ามากขึ้น เช่น ใช้เป็นส่วนประกอบของคอนกรีตในการเสริมฐานรากเดิมของพระอุโบสถวัดราชาธิวาส และใช้ทำโครงสร้างอาคารขนาดใหญ่อย่างพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น
กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงมีการตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ทำให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในงานก่อสร้างมากกว่าเดิม เช่น ใช้สร้างพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ในพระราชวังพญาไทสร้างหอประชุมโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้นกระทั่งได้กลายเป็นที่นิยมใช้ในหมู่ประชาชนในเวลาต่อมา
ปัจจุบันคนไทยนิยมใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญของคอนกรีตซึ่งใช้เป็นโครงสร้างที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และสถาปัตยกรรมอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ส่วนปูนขาวได้เปลี่ยนบทบาทเป็นวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์โบราณสถาน เนื่องจากมีความยืดหยุ่นดีกว่าปูนซีเมนต์ หากแต่ก็ยังมีการใช้ในการทำปูนปั้นประดับตามศาสนสถานบางแห่งบ้าง
ว่าด้วยเรื่องปูนปั้น
ปูนปั้นเป็นงานศิลปกรรมประเภทหนึ่งที่ได้จากการใช้ปูนผสมกับวัสดุต่างๆ แล้วปั้นเป็นลวดลายประดับสิ่งก่อสร้างให้เกิดความสวยงาม จากหลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลกรู้จักปั้นปูนประดับตกแต่งอาคารและศาสนสถานมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมกรีกอารยธรรมโรมัน และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยมนุษย์รู้จักปั้นปูนประดับอาคารมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ ดังปรากฏหลักฐานปูนปั้นประดับศาสนสถานสมัยทวารวดีตามที่ต่างๆและยังเป็นที่นิยมเรื่อยมาทั้งในล้านนา สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์
จากข้อมูลการศึกษาปูนปั้นโบราณทำให้ทราบว่า ปูนปั้นแต่ละแห่งมีส่วนผสมแตกต่างกันไป แต่หลักๆ จะประกอบด้วยส่วนผสมสำคัญ ๔ ส่วน คือ ปูนขาว ทราย เส้นใย และกาว ส่วนผสมทั้งสี่นี้ช่างโบราณจะนำมาตำหรือโขลกรวมกันให้เป็นเนื้อเดียว และเรียกปูนที่ได้จากขั้นตอนนี้ว่า “ปูนตำ” หรือบางแห่งก็เรียก ปูนโขลก ปูนทิ่ม และปูนสดคุณสมบัติของปูนตำเป็นปูนที่มีความเหนียวและความแข็งแรง เนื่องจากมีเส้นใย กาว และเม็ดทรายผสมอยู่ หากแต่ก็มีความอ่อนตัวพอที่จะสามารถนำไปปั้นให้เป็นลวดลายต่างๆ ได้ ซึ่งเมื่อปูนที่ปั้นถูกอากาศก็จะทำปฏิกิริยากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกลายสภาพเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีความแข็งแรงอีกครั้งหนึ่ง
ปัจจุบันงานปูนปั้นในประเทศไทยยังคงมีผู้สืบทอดต่อกันมาในแต่ละสกุลช่าง แต่ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือปูนปั้นสกุลช่างเพชรบุรีซึ่งสืบทอดต่อมาจากครูพิน อินฟ้าแสง โดยอาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ กลุ่มช่างเหล่านี้จะมีบทบาททั้งในการซ่อมแซมอนุรักษ์ปูนปั้นโบราณ และการสร้างผลงานใหม่ประดับตามวัดวาอารามต่างๆ ลวดลายปูนปั้นที่ได้นอกจากจะแสดงถึงความงดงามและถ่ายทอดเรื่องราวที่ผู้ปั้นต้องการสื่อสารแล้ว ยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาที่สืบเนื่องต่อมาซึ่งมีคุณค่าทางวัฒนธรรมอย่างมากด้วย
(จำนวนผู้เข้าชม 2189 ครั้ง)