...

เรื่อง "ตุ๊กตาดินเผารูป "แม่" (?) และเด็ก "
เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ๑๒ สิงหาคม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ขอนำเสนอองค์ความรู้เรื่อง "ตุ๊กตาดินเผารูป "แม่" (?) และเด็ก "
------------------------------
ในอดีตการสร้างตุ๊กตามักทำเป็นรูปคนหรือสัตว์ สันนิษฐานว่ามีมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยนี้นิยมทำตุ๊กตาดินเผาขนาดเล็ก พบอยู่ทั่วไปตามเมืองโบราณหรือแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี เช่น เมืองโบราณซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองโบราณจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น โดยตุ๊กตาที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ ตุ๊กตารูปคนจูงลิง แต่มีตุ๊กตาที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่ง คือ
.
๑. ตุ๊กตารูปผู้หญิงอุ้มเด็กหรือผู้หญิงให้นมบุตร ลักษณะเป็นรูปผู้หญิงนั่ง ใบหน้ากลม ตาโปน จมูกใหญ่ ปากแบะ แบบพื้นเมือง หน้าอกใหญ่ และรูปร่างอ้วน แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ อยู่ในท่าอุ้มเด็กคล้ายกำลังให้นมบุตร ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน ตุ๊กตารูปผู้หญิงอุ้มเด็กชิ้นนี้อาจเป็นรูปของแม่กับลูกหรือผู้อุปการะเด็ก หากตุ๊กตาชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นตามความเชื่อท้องถิ่น อาจเทียบได้กับรูปแม่ซื้อในคติความเชื่อของไทย ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนชีวิตและความผาสุกของเด็กทารกเมื่อแรกเกิด นอกจากนี้ บางท่านสันนิษฐานว่าอาจหมายถึงรูปนางหาริตี ซึ่งเป็นยักษิณีทำหน้าที่คุ้มครองเด็กตามคติในพุทธศาสนามหายาน
.
๒. ตุ๊กตารูปผู้หญิงกับเด็กหญิงถือชามหรือเด็กหญิงหลังค่อม ประกอบด้วย รูปผู้หญิงในอิริยาบถยืน ใบหน้ากลม ตาโปน จมูกใหญ่ ปากแบะ แบบพื้นเมือง เกล้าผมเป็นมวยอยู่ที่ท้ายทอย สวมต่างหูกลม นุ่งผ้ายาวกรอมเท้า เหน็บชายผ้าไว้ที่เอว มีชายผ้าพาดเฉียงด้านหน้า แขนขวาแนบลำตัว ไม่สวมเครื่องประดับ แขนซ้ายสวมกำไลจำนวนมาก มือซ้ายมีของถือยกมือขึ้นระดับอก อีกรูปหนึ่งเป็นรูปเด็กผู้หญิงยืนอยู่ขางซ้าย เกล้าผมและนุ่งผ้าแบบเดียวกัน แต่ไม่สวมเครื่องประดับ มือซ้ายยกขึ้นถือภาชนะคล้ายชาม และมีแผ่นหลังนูนคล้ายกับเด็กพิการหลังค่อม บางท่านสันนิษฐานว่าอาจเป็นรูปเด็กกำลังขอทานจากผู้หญิง แต่บางท่านสันนิษฐานว่าอาจเป็นรูปของแม่และเด็ก โดยการปั้นรูปเด็กหลังค่อมอาจใช้เป็นรูปแทนตัวบุคคลหรือตุ๊กตาสะเดาะเคราะห์เพื่อแก้เคล็ดเรื่องโรคภัยที่เกิดกับเด็ก
.
ตุ๊กตาดินเผาสมัยทวารวดีมีรูปแบบหลายหลาย แต่ละชิ้นอาจมีความหมายเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละท่าน แม้ปัจจุบันจะยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าตุ๊กตาดินเผาเหล่านี้ทำขึ้นเพื่ออะไร และแต่ละชิ้นมีความหมายอย่างไร อาจสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นของเล่นหรือใช้ประกอบพิธีกรรมความเชื่อในระดับท้องถิ่น เพราะตุ๊กตาเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับรูปเคารพในศาสนา แต่ปัจจุบันมีข้อสันนิษฐานที่ยอมรับกันทั่วไปว่า น่าจะทำขึ้นเพื่อใช้สำหรับการสะเดาะเคราะห์ หรือบางรูปอาจใช้สำหรับอุทิศถวายให้เป็นข้าทาสแก่ศาสนสถานหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับวัตถุประสงค์การสร้างตุ๊กตาขนาดเล็กในปัจจุบันที่นอกจากจะใช้เป็นของเล่นแล้ว ยังถูกนำไปไว้ในศาลปู่ตาหรือศาลพระภูมิด้วย โดยตุ๊กตาในศาลเหล่านี้อาจถวายให้เป็นของเล่นของผีบรรพบุรุษ หรือถวายเพื่อเป็นข้าทาสของสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทนที่จะใช้มนุษย์จริง ๆ
------------------------------
อ้างอิง
.
ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, ๒๕๔๒.
.
เพ็ญพรรณ เต็มสุข. “ตุ๊กตาสมัยต่าง ๆ ที่พบในประเทศไทย.” ศิลปากร ๑๗, ๒ (กรกฎาคม ๒๕๑๖) : ๗๕-๘๔.
.
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. มรดก ๑,๐๐๐ ปี เก่าที่สุดในสยาม. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๖.
.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๗.
.
อนุสรณ์ คุณประกิจ. “การศึกษาคติและรูปแบบประติมากรรมดินเผาขนาดเล็กสมัยทวารวดีที่พบในบริเวณ ภาคกลางของประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๐.
------------------------------
ตุ๊กตาดินเผา
ศิลปะ/อายุ : ศิลปะทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ชั้น ๑ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
------------------------------
เรียบเรียง : นายกฤษฎา นิลพัฒน์ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
------------------------------
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
เปิดให้บริการ วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
ปิดให้บริการ วันจันทร์ - วันอังคาร

(จำนวนผู้เข้าชม 221 ครั้ง)