...

พระนารายณ์ราชนิเวศน์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงบูรณะซ่อมแซมพระราชวังเมืองลพบุรี และได้พระราชทานนามใหม่ว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” เนื่องด้วยวันที่ ๑๘ สิงหาคม ตรงกับวันสำคัญในรัชสมัยของพระองค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จึงขอนำเสนอองค์ความรู้เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : กษัตริย์นักดาราศาสตร์”
------------------------------
กระแสโลกตะวันตกในสมัยรัชการที่ ๓ ทำให้ชาวสยามตื่นตัวและให้ความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การแพทย์ การพิมพ์ ดาราศาสตร์ เคมี รวมถึงการต่อเรือกลไฟ สยามจึงต้องปรับตัวเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในความเป็นสากล
.
หนึ่งในบุคคลสำคัญที่สร้างปรากฏการณ์ให้เป็นที่ยอมรับในสายตาชาวโลก คือ พระบาทสมเด็จ
พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ ๔ พระองค์มีความสนพระทัยในวิชาวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ตั้งแต่ยังทรงผนวช โดยศึกษาจากตำราต่าง ๆ และทรงศึกษากับมิชชันนารีชาวยุโรปและชาวอเมริกัน
.
พระองค์ทรงมีความรู้ในการใช้เครื่องมือดาราศาสตร์หลายชนิด เช่น กล้องโทรทัศน์ แผนที่ดาว
เครื่องเซ็กสแตนท์ (sextant) เครื่องควอแดรนท์ (quadrant) และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอชัชวาลเวียงชัยเป็นหอดูดาวขึ้นบนพระนครคีรี (เขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี พระองค์ทรงใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านี้ในการกำหนดพิกัดพื้นที่ละติจูดและลองจิจูด ทรงสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ และได้ประกาศให้ประชาชนทราบอยู่เสมอ เช่น การเกิดอุปราคา การโคจรของดาวหาง การโคจรของดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ และผีพุ่งใต้ (อุกกาบาต) เพื่อให้สังคมสยามหลุดพ้นจากความงมงายกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ นอกจากนี้ พระองค์ยังติดตามข่าวสารด้านดาราศาสตร์จากหนังสือต่างประเทศ เช่น การค้นพบดาวเนปจูน การปรากฏขึ้นของดาวหาง เป็นต้น
.
พระองค์ทรงใช้วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหอนาฬิกาหลวงและทรงกำหนดเวลามาตรฐานของประเทศด้วยการคำนวณทางดาราศาสตร์ อีกทั้งทรงคำนวณวันสำคัญต่าง ๆ ลงในประกาศมหาสงกรานต์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าทุกปี ในประกาศบางปีได้ระบุถึงวันที่จะเกิดอุปราคาประจำปีด้วย
.
ความชำนาญด้านดาราศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่ยอมรับ โดยได้รับการประกาศเกียรติคุณจากราชสมาคมดาราศาสตร์แห่งอังกฤษ (Diploma of the Royal Astronomical Society) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ และในประกาศมหาสงกรานต์ แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงชำนาญเรื่องการคำนวณการเกิดอุปราคามาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๒-๒๔๐๓ ความชำนาญนี้ทำให้พระองค์สามารถคำนวณได้ว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๓๐ ตรงกับวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ โดยทรงคำนวณจากระบบเวลาของเส้นแวงที่ ๑๐๐ ตะวันออก ซึ่งเป็นระบบเวลามาตรฐานของไทย
.
การคำนวณดังกล่าว พระองค์ทรงมั่นพระทัยมาก จึงได้เชิญนักดาราศาสตร์สากลรวมทั้งชาวต่างชาติคนสำคัญโดยเฉพาะชาวอังกฤษและฝรั่งเศสเข้าร่วมสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ น่าเชื่อว่าพระองค์คงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ชาวสยามและชาวโลกได้รับรู้ว่าสยามเป็นราชอาณาจักรที่ทันสมัย ชาวต่างชาติกลุ่มนี้ได้กลับไปเขียนรายงานอันเป็นประโยชน์ทางวิชาการดาราศาสตร์และสร้างชื่อเสียงให้กับพระองค์ พร้อมทั้งสร้างเกียรติภูมิให้กับราชอาณาจักรสยาม
.
ปัจจุบัน ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ รัฐบาลไทยได้ประกาศให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และกำหนดให้วันที่ ๑๘ สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ต่อมาองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้พระองค์เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสื่อสารมวลชน เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพ ๒๐๐ พรรษา ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
------------------------------
อ้างอิง
.
ภูธร ภูมะธน. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : จากความสนพระทัยในวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นพระมหากษัตริย์นักดาราศาสตร์. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), ๒๕๔๒.
------------------------------
คำอธิบายภาพ: ภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยชาวต่างชาติ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร

(จำนวนผู้เข้าชม 244 ครั้ง)