...

"ทับหลังสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ "
"ทับหลังสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ "
ศิลปะ/อายุ : ศิลปะเขมรในประเทศไทย แบบบาปวน-นครวัด อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
แหล่งที่พบ : วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ชั้น ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
------------------------------
ทับหลังสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เป็นแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กึ่งกลางของทับหลังสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ๓ เศียรในซุ้มเรือนแก้ว เหนือหน้ากาลคายสิงห์คาบท่อนพวงมาลัย มีลายใบไม้ตั้งขึ้นและลายใบไม้ม้วนลงด้านล่าง ตำแหน่งของหน้ากาลอยู่ชิดขอบด้านล่าง ซึ่งปกติจะทำให้ท่อนพวงมาลัยอ่อนโค้งลงมา แต่ทับหลังชิ้นนี้มีการออกแบบให้ท่อนพวงมาลัยพาดผ่านปากสิงห์และกลายเป็นส่วนหนึ่งของซุ้มเรือนแก้ว อย่างไรก็ดี รูปแบบโดยรวมเป็นลักษณะของทับหลังศิลปะเขมรแบบบาปวน อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗
.
น่าสังเกตว่า ทับหลังแผ่นนี้ยังคงสลักรูปพระอินทร์เป็นรูปบุคคลนั่งชันพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวายกขึ้นถือวัชระ (อาวุธของพระอินทร์) คล้ายกำลังร่ายรำอยู่บนช้างเอราวัณ เป็นรูปแบบที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ สันนิษฐานว่าคงทำสืบเนื่องมา ต่างจากทับหลังสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ที่มักจะนั่งในท่ามหาราชลีลาสนะ (นั่งชันเข่า) ไม่แสดงอาการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ การสลักรูปสิงห์คาบท่อนพวงมาลัยแบบหันหน้าตรง เริ่มปรากฏตั้งแต่ศิลปะแบบบาปวนและมีแนวโน้มสู่ศิลปะแบบนครวัด ดังนั้น จึงอาจกำหนดอายุอยู่ในศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลายถึงนครวัด ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗
.
การสลักรูปพระอินทร์ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะพระอินทร์เป็นเทพประจำทิศตะวันออก จึงปรากฏภาพสลักบนทับหลังหรือหน้าบันของปราสาทเขมรทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้าหลัก และรูปแบบทับหลังศิลปะแบบบาปวน เป็นทับหลังแบบที่พบมากที่สุดในประเทศไทย สอดคล้องกับช่วงที่อำนาจทางการเมืองของอาณาจักรเขมรเริ่มขยายพื้นที่กว้างขวางมากขึ้นจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เราจึงพบเห็นทับหลังและศาสนสถานในศิลปะแบบบาปวน นครวัด และบายน กระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมถึงที่เมืองลพบุรีด้วย แต่ทับหลังสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ แผ่นนี้ แม้จะพบอยู่ในจังหวัดลพบุรี แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเคยประดับอยู่ที่ปราสาทหลังใด เพราะได้ถูกเคลื่อนย้ายนำมาเก็บรวบรวมไว้ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเช่นเดียวกับทับหลังแผ่นอื่นที่พบร่วมกัน
------------------------------
อ้างอิง
.
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.
.
สมิทธิ ศิริภัทร์ และมยุรี วีรประเสริฐ. ทับหลัง : การศึกษาเปรียบเทียบทับหลังที่พบในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๓.
.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยนิยายจากปราสาทหิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.
------------------------------
เรียบเรียง : นายกฤษฎา นิลพัฒน์ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

(จำนวนผู้เข้าชม 216 ครั้ง)