เรือโบราณพนมสุรินทร์’ ร่องรอยประวัติศาสตร์การค้าทางทะเล อุษาคเนย์-อาหรับ


‘เรือโบราณพนมสุรินทร์’
ร่องรอยประวัติศาสตร์การค้าทางทะเล อุษาคเนย์-อาหรับ
.
ซากเรือโบราณพนมสุรินทร์ถูกค้นพบบริเวณนากุ้ง ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2556 หลังจากสองสามีภรรยาเจ้าของที่ดินเดิมได้ขุดเจอโครงสร้างไม้ประหลาดเข้าโดยบังเอิญ จึงเรียกชาวบ้านละแวกนั้นให้มาช่วยกันนำไม้ขึ้นมา ก่อนจะกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ เมื่อนักโบราณคดียืนยันว่าเป็นชิ้นส่วนของเรือโบราณอายุนับพันปี
.
ณภัทร ภิรมย์รักษ์ ผู้ช่วยนักโบราณคดี ประจำกองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร เผยว่า สำนักศิลปากรที่ 1 ร่วมกับกองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ได้เริ่มสำรวจ-ขุดค้นพื้นที่ที่พบซากเรือโบราณมาตั้งแต่ปี 2556 จวบจนปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 8 ปีแล้ว จากการดำเนินงานพบว่าเรือลำนี้ใช้เทคนิคการต่อเรือแบบอาหรับ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในแถบทะเลอาหรับ เทคนิคนี้เริ่มด้วยการขึ้นโครงสร้างเปลือกเรือก่อน โดยมีเอกลักษณ์ที่การนำแผนไม้กระดานมาประกบกันแล้วจึงเจาะรูและเย็บติดกันด้วยเชือกในลักษณะกากบาท ส่วนรอยต่อเรือมีการตอกหมันและชันยาเรือ ซากเรือแบบนี้เคยพบแค่แห่งเดียวในประเทศเพื่อนบ้าน คือบริเวณเกาะเบลิตุง ประเทศอินโดนีเซีย
.
จากการค้นพบสิ่งของบนเรือและส่งตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ไปประเมินพบว่า เรือลำนี้มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือประมาณ พ.ศ. 1300-1400 ร่วมสมัยกับยุคทวารวดี โดยโบราณวัตถุที่พบเจอในซากเรือนั้นมาจากหลายพื้นที่ เช่น ภาชนะดินเผาแบบตอร์ปิโด พบมากแถบตะวันออกกลาง ภาชนะดินเผาแบบเปอร์เซีย ภาชนะดินเผาพื้นเมืองแบบทวารวดี และเครื่องถ้วยจากจีน คาดการณ์ว่าเรือลำนี้อาจเป็นเรือเดินสมุทรที่ติดต่อค้าขายกันระหว่างดินแดนแถบคาบสมุทรอาระเบีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงจีน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าของดินแดนในแถบนี้กับภูมิภาคตะวันออกกลางและจีน
.
นอกจากภาชนะดินเผา สิ่งสำคัญที่พบเจอคือหมาก ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคนั้น คาดว่าเรือลำนี้กำลังเดินทางออกจากดินแดนอุษาคเนย์ โดยนำเอาภาชนะถ้วยชามรามไห พืชพรรณธัญญาหาร และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในดินแดนแถบนี้กลับไปด้วย
.
สาเหตุที่ตั้งชื่อเรือว่า ‘เรือพนมสุรินทร์’ มาจาก นางพนมและนายสุรินทร์ ศรีงามดี สองสามีภรรยาเจ้าของที่ดินผู้ขุดค้นเจอและบริจาคที่ดินให้กรมศิลปากรเพื่อการศึกษาวิจัย จึงตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่พวกเขา
.
แหล่งข้อมูล: กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร
.
เรื่องและภาพ: วิศรุต วีระโสภณ


Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 2762 ครั้ง)

Messenger