...

โบราณวัตถุที่สร้างขึ้นในกรมพระราชวังบวร

ลับแลลายรดน้ำ เรื่องรามเกียรติ์ ตอนกุมภกรรณทดน้ำ


ลับแลลายรดน้ำ เรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระลักษมณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทราชิ

ลับแลลายรดน้ำ เรื่องรามเกียรติ์
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔
เป็นของอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่เดิม
____________________________________

          ฉากไม้สี่เหลี่ยมมุมมน ส่วนขอบฉากเป็นลายรดน้ำลวดลายประจำยามก้ามปู ด้านหน้าประดับลายรดน้ำเรื่องรามเกียรติ์ตอนกุมภกรรณทดน้ำ มีเรื่องย่อว่า กุมภกรรณ ผู้เป็นน้องชายของทศกัณฐ์ออกทำศึกกับฝ่ายพระราม โดยคิดอุบายเนรมิตกายให้ใหญ่เท่าภูเขาแล้วไปนอนขวางทางน้ำเพื่อไม่ให้น้ำไหลไปถึงเขามรกตที่ตั้งทัพของพระราม ฝ่ายพระรามจึงใช้ให้หนุมานไปทำลายพิธีทดน้ำของกุมภกรรณ เมื่อหนุมานพบกับกุมภกรรณที่กำลังนอนขวางทางน้ำก็เข้าต่อสู้กัน ฝ่ายกุมภกรรณสู้หนุมานไม่ได้จึงยกทัพกลับกรุงลงกา ฉากด้านนี้เรียงลำดับโดยมุมบนขวาเป็นภาพนางกำนัลของกุมภกรรณกำลังเก็บดอกไม้ และฉากหนุมานสังหารนางคันธมาลีเพื่อแปลงกายเป็นนางกำนัลแฝงตัวเข้าไปหากุมภกรรณ ถัดมาด้านซ้ายเป็นฉากหนุมานพบกุมภกรรณที่กำลังขวางทางน้ำและต่อสู้กัน ฉากด้านล่างเป็นภาพกุมภกรรณยกทัพกลับกรุงลงกา
          ส่วนฉากด้านหลังประดับลายรดน้ำเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระลักษมณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต มีเรื่องย่อว่า อินทรชิตตั้งโรงทำพิธีกุมภนิยาอยู่ที่เขาจักรวาล พระลักษมณ์และขุนกระบี่เข้าทำลายพิธี อินทรชิตสู้กับพระลักษมณ์ไม่ได้จึงหนีกลับไปกรุงลงกา ฉากด้านนี้เรียงลำดับโดยแบ่งเป็นสองตอน ตอนบนเป็นฉากพระลักษมณ์และขุนกระบี่ทำลายพิธีกุมภนิยา ตอนล่างเป็นฉากพระลักษมณ์รบอินทรชิต
          ลับแลนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่าเป็นของที่อยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่เดิมและเป็นของที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ดังข้อความลายพระหัตถ์ว่า “...นึกถึงตัวอย่างที่จะชี้ฝีมือครั้งรัชกาลที่ ๑ ได้ชัด ไปนึกออกถึงลับแลรามเกียรติ์ที่ตั้งอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งวสันตพิมาน เป็นของอยู่ในพระราชวังบวรมาแต่เดิม...”
           ปัจจุบันลับแลลายรดน้ำเรื่องรามเกียรติ์นี้ จัดแสดงในพระที่นั่งวสันตพิมาน (ชั้นบน) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และกล่าวได้ว่าเป็นงานช่างชิ้นสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชพระองค์แรกในกรุงรัตนโกสินทร์


พระที่นั่งบุษบกเกริน
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔
สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
_________________________________
          พระที่นั่งบุษบกเกรินหรือบุษบกราชบัลลังก์ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระทวารกลางของพระที่นั่งมุขกระสัน ด้านทิศตะวันออกของหมู่พระวิมาน ลักษณะของพระที่นั่งบุษบกเกรินเป็นงานไม้ปิดทองประดับกระจกในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมไม้สิบสอง และมีเกรินขนาบทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ของบุษบก
          ส่วนฐานรองรับเรือนบุษบกประกอบด้วย ฐานสิงห์หนึ่งชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวปากฐานหรือฐานเชิงบาตรซ้อนกันสามชั้น หน้ากระดานแต่ละชั้นจำหลักลายปิดทองประดับกระจกเป็นลายก้ามปูและประดับแนวกระจังตาอ้อย ท้องไม้แต่ละชั้นประดับประติมากรรมไม้จำหลักเรียงจากชั้นล่างถึงชั้นบนประกอบด้วย ชั้นยักษ์ ครุฑ และเทวดา ตามลำดับทั้งหมดอยู่ในท่าพนมมือ ส่วนปลายของเกรินทั้งสองด้านประดับกระหนกเกรินตลอดทั้งสามชั้น
           ตัวเรือนบุษบกด้านล่างประดับแนวกระจังเจิมกึ่งกลางเป็นกระจังปฏิญาณ เสาเรือนบุษบก ปลายเสาประดับกาบพรหมศร กึ่งกลางประดับประจำยาม หัวเสามีคันทวยรองรับชายหลังคา
          ชั้นหลังคาประกอบด้วยชั้นเชิงกลอนในผังยกเก็จเพิ่มมุมไม้สิบสองซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปห้าชั้น แต่ละชั้นประดับซุ้มบรรพแถลงและบราลี ที่มุมหลังคาประดับนาคปัก ถัดขึ้นไปเป็นชั้นองค์ระฆังในผังเพิ่มมุมไม้สิบสอง ส่วนบนได้แก่ บัลลังก์ เหม บัวคลุ่มเถา ปลีคั่นด้วยลูกแก้ว ปลียอดและเม็ดน้ำค้าง เรียงกันขึ้นไปตามลำดับ
          พระที่นั่งบุษบกเกรินหรือพระที่นั่งบุษบกราชบัลลังก์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เดิมเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งพรหมพักตร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนางหรือออกว่าราชการ ดังนั้นจึงเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า “ท้องพระโรงหน้า” ถัดจากเบื้องหน้าพระที่นั่งบุษบกเกรินเป็นชาลาและมีอาคารทิมคดตั้งอยู่สามด้านเรียกว่า “ทิมมหาวงศ์” สำหรับเป็นที่ประชุมนักปราชญ์ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้ดำเนินการสร้างอาคารพระที่นั่งขึ้นใหม่ต่อมาจากพระที่นั่งมุขกระสันและรื้อทิมมหาวงศ์ ให้พระที่นั่งบุษบกเกรินประดิษฐานอยู่กึ่งกลางภายในอาคาร พระราชทานนามว่า พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย


พระที่นั่งพรหมพักตร์
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔
สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
_________________________________
          พระที่นั่งพรหมพักตร์ ตั้งอยู่บนพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เป็นงานไม้จำหลักลายปิดทองประดับกระจกในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จ รูปแบบเดียวกับบุษบกยอดทรงปราสาท ส่วนฐานประกอบด้วยชุดฐานสิงห์หนึ่งชั้น ส่วนหลังสิงห์ประดับแนวกระจังตาอ้อย ฐานหน้ากระดานบนจำหลักลายปิดทองประดับกระจกลายประจำยามก้ามปู ถัดขึ้นมาเป็นฐานเชิงบาตรหนึ่งชั้น ส่วนท้องไม้ปิดทองประดับกระจกลายดอกซีกดอกซ้อน หน้ากระดานบนจำหลักลายปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายประจำยามก้ามปู และประดับแนวกระจังตาอ้อยด้านบนและกระจังรวนด้านล่าง ส่วนเรือนแบ่งออกเป็นสามห้องยกพื้นห้องกลางเป็นประธาน เสาเรือนปีกซ้ายและปีกขวาเป็นเสาสี่เหลี่ยม ส่วนเสาห้องกลางเป็นเสาเพิ่มมุมไม้สิบสอง ปลายเสาประดับกาบพรหมศร กึ่งกลางประดับประจำยาม หัวเสาประดับคันทวยรองรับชายหลังคา ชั้นหลังคาเป็นหลังคาทรงจั่วซ้อนสองชั้นประดับครุฑยุดนาครองรับส่วนเครื่องยอด เครื่องยอดประกอบด้วยชั้นเชิงกลอนซ้อนลดหลั่นกันขั้นไปห้าชั้น แต่ละชั้นมีบรรพแถลงที่มุมประดับนาคปัก รองรับส่วนองค์ระฆังและบัลงก์ในผังเพิ่มมุม ด้านบนเป็นพรหมพักตร์ บัวคลุ่มเถา ปลีคั่นด้วยลูกแก้ว ปลียอดและเม็ดน้ำค้าง เรียงกันขึ้นไปตามลำดับ
          รูปแบบชั้นหลังคาพระที่นั่งองค์นี้คล้ายกับชั้นหลังคาของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง สันนิษฐานว่าพระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงใช้เป็นที่ประทับในคราวเสด็จออกฝ่ายใน สำหรับห้องปีกซ้ายและขวานั้นสันนิษฐานว่าเป็นที่ประทับของเจ้าศิริรจจา พระชายา และสมเด็จเจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร พระราชธิดา


หีบลายมังกร
ศิลปะรัตนโกสินทร์พุทธศตวรรษที่ ๒๔
สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันจัดแสดง ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
_________________________________

          หีบไม้จำหลักลายปิดทองประดับกระจก ลักษณะเป็นหีบทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนปากหีบกว้าง ตัวหีบสอบเข้าหากันเล็กน้อย ด้านข้างหีบจำหลักลายมังกรคู่จับลายกระหนกเครือเถา ล้อมรอบด้วยกรอบสี่เหลี่ยมลายกรวยเชิงและลายประจำยามก้ามปูคั่นด้วยแนวจุดไข่ปลา
          หีบลายมังกรชิ้นนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ในลายพระหัตถ์เมื่อ วันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ มีใจความกล่าวว่าหีบใบนี้น่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ด้วยเหตุผลสามประการ คือ ประการแรกลวดลายหีบรูปมังกรคู่ดังกล่าว คล้ายกับลวดลายมังกรคู่บริเวณหย่องของหมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคลและหอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นฝีมือช่างวังหน้าสร้างในรัชกาลที่ ๑ ประการที่สองเป็นหีบประดับกระจกไม่ใช่หีบไม้จำหลักลายธรรมดาจึงน่าจะเป็นของที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และประการที่สามขนาดของหีบมีขนาดเล็กกว่าหีบศพทั่วไปจึงน่าจะสร้างขึ้นเพื่อไว้ใส่ศพสตรีที่มีบรรดาศักดิ์


พระเก้าอี้พับ
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔
สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งมุขกระสัน หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
_________________________________

          พระเก้าอี้พับ โครงพระเก้าอี้ทำด้วยไม้ส่วนที่ประทับทำด้วยหนัง พนักเก้าอี้จำหลักลายพันธุ์พฤกษากลางพนักมีนวมหนังสำหรับรับพระปฤษฎางค์เมื่อเอนพระองค์ลงพิง
           สันนิษฐานว่าพระเก้าอี้เป็นของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงใช้เข้าในกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ในกรณีที่เจ้าพนักงานไม่ได้ทอดพระแท่นที่ประทับ เมื่อต้องทรงยืนอยู่นานเจ้าพนักงานจะเชิญพระเก้าอี้เข้าไปทอดถวายแทน ตลอดทรงใช้ในคราวเสด็จงานพระราชสงคราม


-----------------------------------
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้บริการทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒ , ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓ 

(จำนวนผู้เข้าชม 3939 ครั้ง)