...

พระพุทธรูปปางแสดงธรรม จากเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง

         พระพุทธรูปปางแสดงธรรม จากเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง    

         พระพุทธรูปปางแสดงธรรม พบที่เจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

         พระพุทธรูปยืนสำริด พระพักตร์ค่อนข้างกลม เม็ดพระศกกลม อุษณีษะเป็นกระเปาะสูง ด้านบนมีรูสำหรับเสียบเดือยของพระรัศมี พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ เปลือกประเนตรโปน พระนาสิกโด่ง ฐานพระนาสิกกว้าง พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย พระกรรณยาว พระวรกายครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาข้างขวา ส่วนพระอังสาข้างซ้ายมีชายสังฆาฏิทบกันเป็นริ้ว และมีเส้นเชื่อมจากชายสังฆาฏิพาดผ่านข้อพระกรซ้าย จีวรเรียบแนบไปกับพระวรกาย พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืนตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก) พระกรขวายกขึ้นระดับพระอุระ จีบนิ้วพระหัตถ์แสดงวิตรรกมุทรา (ปางแสดงธรรม) ส่วนพระกรซ้ายปล่อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์หักหาย สันนิษฐานว่าเป็นการจับชายจีวร 

         จากรูปแบบศิลปกรรมของพระพุทธรูปข้างต้น ปรากฏอิทธิพลที่ได้รับจากศิลปะอินเดียสมัยหลังคุปตะ ได้แก่ การยืนตริภังค์ และการจับชายชายจีวรไม่สมมาตรกับพระหัตถ์ที่แสดงมุทรา กล่าวคือ หากพระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงมุทรา พระหัตถ์ซ้ายที่จับชายจีวรจะปล่อยลงข้างพระวรกาย และการทำชายสังฆาฏิพับทับกันปลายแยกเป็นเขี้ยวตะขาบบริเวณพระอังสาซ้ายพบในศิลปะอินเดียสมัยหลังคุปตะจนถึงปาละ ทั้งนี้พระพักตร์แสดงลักษณะพื้นเมืองของพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดีแล้ว และยังแสดงวิตรรกมุทราซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่พบมากในพระพุทธรูปสมัยทวารวดี จึงกำหนดอายุในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว

         พระพุทธรูปองค์นี้พบที่เจดีย์หมายเลข ๑๓ ซึ่งตั้งอยู่นอกคูเมืองโบราณอู่ทอง ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒๐๐ เมตร เป็นเจดีย์ในผังแปดเหลี่ยม ส่วนฐานยกเก็จตามระเบียบเจดีย์ในสมัยทวารวดี พบโบราณวัตถุสำคัญ เช่น พระพุทธรูปนั่งปางแสดงธรรมมีพระมัสสุ สิงห์สำริด เศียรพระโพธิสัตว์ ยอดเจดีย์จำลอง เป็นต้น 

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : โรงพิมพ์ สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.

เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๐.

______________. ศิลปะไทย ภายใต้แรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียแบบปาละ. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด. ๒๕๕๘.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.

 

(จำนวนผู้เข้าชม 63 ครั้ง)