...

ประติมากรรมดินเผารูปนาค พบจากเมืองโบราณอู่ทอง

         ประติมากรรมดินเผารูปนาค พบจากเมืองโบราณอู่ทอง

         ประติมากรรมดินเผารูปนาค สมัยทวารวดี พบจากเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

         ประติมากรรมดินเผารูปนาค สูง ๔ เซนติเมตร กว้าง ๓.๓ เซนติเมตร มีขนดนาคซ้อนเป็นวง ๒ ชั้น รองรับเศียรนาคซึ่งมีลักษณะเหมือนหงอนเป็นตุ่มนูน ใบหน้าและลำตัวของนาค ตกแต่งโดยใช้วัสดุปลายแหลมขีดให้เป็นลูกตากลมโต จมูกเจาะเป็นรูกลม ๒ รู ส่วนปากขีดเป็นเส้นตรงยาว มุมปลายยกขึ้นคล้ายอมยิ้ม ลำตัวตกแต่งเป็นขีดคล้ายเกล็ดงู  

         นาค เป็นสัตว์ในจินตนาการ ซึ่งได้รับแนวคิดมาจากสัตว์ที่มีอยู่จริงประเภทงูใหญ่ ตามความเชื่อ นาค ถือเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นผู้พิทักษ์รักษาในศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู ความเชื่อเรื่องนาคที่ปรากฏในดินแดนไทย จึงเป็นการผสมผสานทั้งความเชื่อที่มีมาแต่เดิม และความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งการรับวัฒนธรรมมาจากอินเดีย

         รูปแบบทางศิลปกรรมของนาคชิ้นนี้ สัมพันธ์กับประติมากรรมรูปนาค ที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดีที่พบในเมืองโบราณอู่ทอง ได้แก่ ประติมากรรมปูนปั้นรูปนาค พบที่เจดีย์หมายเลข ๓ นาค เป็นนาคหัวโล้น มีหงอนเป็นจุกสามเหลี่ยม นอกจากนั้น ในเมืองโบราณอู่ทอง ยังพบหลักฐานประติมากรรมรูปนาคปูนปั้นที่เจดีย์หมายเลข ๒๘ ซึ่งประติมากรรมรูปนาคปูนปั้นเหล่านี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อประดับส่วนฐาน หรือประดับองค์ประกอบอื่นๆ ของสถาปัตยกรรม หลักฐานประติมากรรมรูปนาคที่พบจากเมืองโบราณอู่ทอง ส่วนใหญ่มักทำจากปูนปั้น และเกี่ยวข้องกับการตกแต่งศาสนสถานในศาสนาพุทธ ซึ่งน่าจะมีความหมายถึงความเป็นสิริมงคลและเป็นผู้พิทักษ์ดูแลพุทธสถานแห่งนั้น

         ประติมากรรมรูปนาคชิ้นนี้ น่าจะมีหน้าที่ต่างจากประติมากรรมรูปนาคชิ้นอื่น ๆ ที่พบภายในเมืองโบราณอู่ทอง เนื่องจากทำจากดินเผา มีขนาดเล็ก และส่วนฐานโค้งเว้า ประกอบกับบริเวณขนดนาคมีการเจาะรูกลมทะลุถึงกัน  ลักษณะคล้ายกับประติมากรรมดินเผารูปช้าง และสิงห์ ประดับบนจุกภาชนะ พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง จึงสันนิษฐานว่าประติมากรรมรูปนาคนี้ เป็นประติมากรรมที่ประดับอยู่บนจุกภาชนะเช่นเดียวกัน ซึ่งน่าจะใช้สำหรับอุดปากภาชนะประเภทปากแคบหรือขวดที่มีความสำคัญ อาจใช้สำหรับบรรจุของที่ใช้ในพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ หรืออาจเป็นเครื่องใช้ของบุคคลชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองก็เป็นได้ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว

 

เอกสารอ้างอิง

ดวงกมล อนันต์วัชรกุล. “ความเชื่อเรื่องสัตว์ที่ปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดี.” เอกสารศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔.

สุพิชฌาย์ จินดาวัฒนภูมิ. “นาค” ในงานประติมากรรมสมัยทวารวดี เอกสารประกอบงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ ๑๑ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ๑๑-๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 271 ครั้ง)