...

พระพุทธรูปปางแสดงธรรม จากเจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง

         พระพุทธรูปปางแสดงธรรม จากเจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง

         พระพุทธรูปปางแสดงธรรม พบจากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ จัดแสดงห้องโบราณคดีเมืองอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

         พระพุทธรูปนูนสูงสลักจากหิน กว้าง ๒๐ เซนติเมตร สูง ๒๕ เซนติเมตร พระเศียรชำรุดกะเทาะหายไป ครองจีวรห่มคลุมบางแนบพระวรกาย เห็นขอบสบงเป็นแผ่นโค้งบริเวณบั้นพระองค์ พระกรทั้งสองข้างหักหายไป หากมีสภาพสมบูรณ์สันนิษฐานว่าแสดงวิตรรกมุทราสองพระหัตถ์ (ปางแสดงธรรม) ตามความนิยมของพระพุทธรูปยืนสมัยทวารวดี ปรากฏจีวรพาดผ่านข้อพระกรทั้งสองข้าง แล้วทิ้งชายลงเป็นวงโค้งเบื้องหน้าอยู่เหนือขอบสบง ซึ่งยาวถึงข้อพระบาท ส่วนพระบาทชำรุดกะเทาะหายไป ยืนแบบสมภังค์ (ยืนตรง) มีศิรประภาหรือประภามณฑลรอบพระเศียรเป็นรูปวงกลมสองวงซ้อนกัน และมีประภาวลีหรือประภามณฑลรอบพระวรกายรูปร่างคล้ายเปลวไฟแผ่ออกมาโดยรอบ ซึ่งในปัจจุบันบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง พบหลักฐานการทำประภามณฑลในลักษณะนี้เพียงพระพุทธรูปองค์นี้เท่านั้น

         รูปแบบศิลปกรรมของพระพุทธรูปองค์นี้ ปรากฏลักษณะที่รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียผสมผสานกับลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะทวารวดี ได้แก่ การครองจีวรห่มคลุมตามอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๓ หรือประมาณ ๑,๓๐๐ – ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว แต่มีการปรับเปลี่ยนลักษณะการยืนจากท่าตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก) และแสดงมุทรา (ปาง) ด้วยพระหัตถ์ขวา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยึดชายจีวร ตามความนิยมที่ปรากฏในศิลปะอินเดีย มาเป็นการยืนในท่าสมภังค์ (ยืนตรง) พระหัตถ์ทั้งสองข้างแสดงวิตรรกมุทรา (ปางแสดงธรรม) แสดงถึงลักษณะเฉพาะซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ที่มีพัฒนาการจากศิลปะอินเดียซึ่งเป็นต้นแบบแล้ว จึงอาจกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว  

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.

เชษฐ์ ติงสัญชลี. พระพุทธรูปอินเดีย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๖๔.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 145 ครั้ง)