...

กระเบื้องมุงหลังคาแบบมีร่อง สมัยทวารวดี

         กระเบื้องมุงหลังคาแบบมีร่อง สมัยทวารวดี

         กระเบื้องมุงหลังคาแบบมีร่อง จัดแสดงห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

         กระเบื้องดินเผา กว้าง ๙.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๓.๕ เซนติเมตร ชำรุดหักหายไปส่วนหนึ่ง มีรูปทรงสี่เหลี่ยม มีขอบมุมโค้งมนเล็กน้อย ผิวด้านบนมีร่องกว้างที่กึ่งกลางตามความยาวของกระเบื้อง ปลายข้างหนึ่งมีการเจาะรู  ๒ รู สันนิษฐานว่าใช้สำหรับประกอบกับสลักเดือย เพื่อยึดกับโครงสร้างหลังคาซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นระแนงไม้ ผิวด้านล่างแบนเรียบ เนื้อกระเบื้องค่อนข้างหยาบมีกรวดทรายและรูพรุนที่เกิดจากการผสมแกลบข้าวเข้าไปในเนื้อดิน สันนิษฐานว่าเพื่อช่วยในการถ่ายเทอากาศขณะเผาและช่วยไม่ให้กระเบื้องแตกง่าย เมื่อเผากระเบื้องแล้วแกลบข้าวเหล่านี้จะถูกเผาสลายไปกลายเป็นรูพรุน เนื้อกระเบื้องภายนอกเป็นสีส้ม ภายในเป็นสีดำ เนื่องจากเผาด้วยอุณหภูมิต่ำทำให้เนื้อกระเบื้องภายในสุกไม่ทั่วถึง การผสมแกลบลงในเนื้อดินและเผาด้วยอุณหภูมิต่ำนี้ยังพบในอิฐสมัยทวารวดีด้วย  

         นอกจากกระเบื้องชิ้นนี้แล้ว ยังพบชิ้นส่วนที่สันนิษฐานว่าเป็นกระเบื้องมุงหลังคาแบบมีร่องจากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข ๑๔ (บ้านศรีสรรเพชญ์ ๓) อีกจำนวนหนึ่งด้วย นอกจากนี้ที่โบราณสถานแห่งนี้ยังพบกระเบื้องมุงหลังคาอีก ๒ รูปแบบ ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคาแบบแผ่นเรียบมีรู และกระเบื้องมุงหลังคาแบบลอน แสดงถึงความหลากหลายของรูปแบบกระเบื้องมุงหลังคาในสมัยทวารวดี

อนึ่ง นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังพบหลักฐานทางเอกสารที่กล่าวถึงกระเบื้องมุงหลังคาในสมัยทวารวดี ได้แก่ จดหมายเหตุทงเตี่ยน ซึ่งเป็นเอกสารจีนที่รวบรวบขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ มีเนื้อหาที่กล่าวถึงดินแดนโถวเหอ (นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะตรงกับคำว่า “โถโลโปตี” ที่หมายถึง “ทวารวดี”) ซึ่งเป็นที่รู้จักในสมัยราชวงศ์สุย (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒) ว่ามีบ้านเรือนหรือวังของกษัตริย์ที่มีหลายชั้นและมีการใช้กระเบื้องมุงหลังคาด้วย

         แม้กระเบื้องชิ้นนี้จะอยู่ในสภาพชำรุด แต่ก็เป็นหลักฐานกระเบื้องมุงหลังคารูปแบบหนึ่งที่ชาวพื้นเมืองสมัยทวารวดีใช้สำหรับมุงหลังคาซึ่งมีโครงสร้างเป็นเครื่องไม้ และยังแสดงถึงเทคนิคการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาของช่างพื้นเมืองสมัยทวารวดีด้วย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว 

 

เอกสารอ้างอิง 

เด่นดาว ศิลปานนท์. โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ปริศนาวิหารถ้ำเมืองอู่ทอง. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, ๒๕๕๙.

สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง. “กระเบื้องดินเผาสมัยทวารวดี : ข้อมูลใหม่จากการขุดค้นที่เมืองนครปฐมโบราณ”. หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมไทย. ๙ (กันยายน ๒๕๕๕ – สิงหาคม ๒๕๕๖), ๓๐๒ – ๓๑๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 201 ครั้ง)