...

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

         พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

         พระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือพระพุทธรูปปางชนะมาร หล่อด้วยสำริด พระรัศมีเป็นเปลว พระศกขมวดเล็ก มีเส้นขอบไรพระศก พระพักตร์กลม พระหนุเป็นปม พระขนงโก่ง พระเนตรเรียว พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์ยิ้มเล็กน้อย พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชายผ้าสังฆาฏิแผ่นเล็กปลายตัดยาวจรดพระนาภี ประทับขัดสมาธิราบเหนือฐานบัวคว่ำ-บัวหงายที่ประดับด้วยลวดลายเกสรบัว รองรับด้วยฐานหกเหลี่ยมยกสูงตกแต่งด้วยช่องสี่เหลี่ยม  

         จากรูปแบบศิลปกรรมของพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในศิลปะล้านนา กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เนื่องจากพบพระพุทธรูปกลุ่มที่ประทับบนฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย มีเกสรและฐานยืดสูงเจาะเป็นช่อง ที่เรียกว่า “ช่องกระจก” ส่วนใหญ่มักพบจารึกที่บริเวณฐานช่องกระจกระบุว่าสร้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ช่วงรัชกาลพระเจ้าติโลกราชถึงพระเมืองแก้ว ตัวอย่างสำคัญได้แก่ พระพุทธรูปปางมารวิชัยมีจารึกที่ฐานในพระวิหารวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่

        พระพุทธรูปกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยและอยุธยา แต่มีลักษณะเฉพาะของศิลปะล้านนาผสมผสานจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือ ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลว พระอังสาใหญ่และขัดสมาธิราบแบบพระพุทธรูปสุโขทัย มีชายสังฆาฏิปลายตัด ยาวจรดพระนาภีแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น ในขณะเดียวกันมีลักษณะที่แสดงรูปแบบของพระพุทธรูปศิลปะล้านนา คือ มีพระพักตร์กลม พระหนุเป็นปม และประทับบนฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย มีเกสรแบบพระพุทธรูปล้านนา การปรากฏรูปแบบพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยและอยุธยา ในพระพุทธรูปสมัยล้านนาองค์นี้ เป็นหลักฐานสำคัญว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ดินแดนล้านนามีความสัมพันธ์กับสุโขทัยและอยุธยา

         คติการสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย คือการแสดงพุทธประวัติเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงสามารถชนะพระยามารที่ยกพลมาผจญพระองค์ และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแสดงสัญลักษณ์โดยวางพระหัตถ์ขวาเหนือพระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงสู่พระธรณีเป็นกิริยาเรียกพระแม่ธรณีขึ้นมาเป็นพยานในพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา พระแม่ธรณีจึงปรากฏกายขึ้นและบีบน้ำที่ทรงรดสรงในการบำเพ็ญทานในอดีตชาติ อันนับประมาณมิได้ จนท่วมทัพของพรยามารพ่ายแพ้ไป การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ เหนือกว่าชัยชนะทั้งปวงของพระองค์  โดยนัยการบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ จึงบูชาเพื่อชัยชนะทั้งทางโลกและทางธรรมในทางโลกคือชัยชนะเหนือศัตรู ทางธรรมคือชัยชนะเหนือกิเลสทั้งปวง

 

เอกสารอ้างอิง

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๔.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.

สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะล้านนา. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 448 ครั้ง)