...

พระพิมพ์พระสาวกมีจารึก “สาริปุตฺโต” จากเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง

         พระพิมพ์พระสาวกมีจารึก “สาริปุตฺโต” จากเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง

         พระพิมพ์พระสาวกมีจารึก “สาริปุตฺโต” พบร่วมกับพระพิมพ์พระสาวกมีจารึกองค์อื่น ๆ รวม ๗ องค์ จากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

         พระพิมพ์พระสาวก กว้าง ๖.๓ เซนติเมตร สูง ๑๐.๒ เซนติเมตร เศียรเรียบไม่มีอุษณีษะและเม็ดพระศกเหมือนพระพุทธรูป จึงสันนิษฐานว่าเป็นรูปพระสาวก มีพักตร์กลม ขนงต่อกันเป็นปีกกา เนตรเหลือบต่ำ นาสิกใหญ่ โอษฐ์แบะ ครองจีวรเรียบห่มเฉียงเปิดอังสาขวา หัตถ์ทั้งสองประสานกันในท่าสมาธิ นั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานหน้ากระดานเรียบ มีแผ่นหลังรูปสามเหลี่ยมปลายมน ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบ มีจารึกตัวอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี จำนวน ๑ บรรทัด กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒  หรือประมาณ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ความว่า “สาริปุตฺโต” หมายถึง พระสารีบุตร 

          พระสารีบุตร เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะผู้เป็นเลิศทางปัญญามากกว่าพระภิกษุทั้งปวง มีความรู้ความสามารถแตกฉานในการสอนพระอภิธรรมและได้รับการยกย่องว่าเป็นพระธรรมเสนาบดี พระสารีบุตรมีนามเดิมว่าอุปติสสะ อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาหลังจากได้ฟังพระอัสสชิหนึ่งในปัญจวัคคีย์ตรัสคาถาเย ธมฺมา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาที่สรุปใจความสำคัญของอริยสัจสี่ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ได้อย่างครบถ้วน โดยได้ชักชวนสหายสนิทนามโกลิตะอุปสมบทด้วย โกลิตะหลังจากอุปสมบทแล้วมีนามว่าพระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าและเป็นเอตทัคคะในด้านมีฤทธิ์

          อนึ่ง พระสารีบุตร ยังเป็นหนึ่งใน “พระอสีติมหาสาวก” ซึ่งหมายถึงพระสาวกสำคัญจำนวน ๘๐ รูป ของพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์ภาษาบาลีของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เช่นเดียวกันกับพระพิมพ์พระสาวกมีจารึกองค์อื่นที่พบร่วมกัน ได้แก่ พระมหากัสสปะ หรือ พระมหากัจจายนะ พระโสณโกฬิวิสะ พระกังขาเรวตะ และพระปุณณะสุนาปรันตะ การพบพระพิมพ์พระสาวกมีจารึกเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงคติการนับถือพระอสีติมหาสาวกในสมัยทวารวดี ซึ่งในปัจจุบันมีหลักฐานว่าพบเพียงที่เมืองอู่ทองเท่านั้น จึงอาจเป็นคติที่เกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นก็เป็นได้

 

เอกสารอ้างอิง

จิรัสสา คชาชีวะ. “คำ “เมตเตยยะ” ที่เก่าที่สุดที่ได้พบจากหลักฐานประเภทจารึกในประเทศไทย”. ดำรงวิชาการ ๒, ๓ (มกราคม - มิถุนายน ๒๕๔๖) : ๒๙ - ๓๘.

ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน :  กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖. 

ปีเตอร์ สกิลลิ่ง และศานติ ภักดีคำ. “จารึกพระสาวกและจารึกพระเจ้าศุทโธทนะ พบใหม่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี.” ใน เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา เรื่อง ความก้าวหน้าใน การศึกษาโบราณคดีและเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี. โรงแรมสองพันบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี,  ๒๔ – ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖.

(จำนวนผู้เข้าชม 306 ครั้ง)