...

ระฆังสำริดสมัยอยุธยา ที่พบในจังหวัดสุพรรณบุรี ตอนที่ ๑ (ระฆังจากวัดโพธิ์คลาน)

         ระฆังสำริดมีจารึก

         ศิลปะอยุธยา พุทธศักราช ๒๑๘๑

         ปัจจุบันเก็บรักษาที่หอสวดมนต์ วัดโพธิ์คลาน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

         ระฆังทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางปากระฆัง ๔๔.๕ ซม. สูง ๘๘ ซม. มีห่วงกลมสำหรับแขวนประดับลายช่อกระหนก ๔ ด้าน ตัวระฆังมีปุ่มกลม ปากระฆังผายออก มีเส้นคาดตามแนวนอน บริเวณขอบล่างมีจารึกระบุประวัติและศักราชการสร้าง จารเป็นอักษรไทยอยุธยา ภาษาไทย จำนวน จำนวน ๒ บรรทัด อ่านโดยนายประสาร บุญประคอง ดังนี้

         คำจารึก “๑.   พรญารามแลออกหมีนเทพผูชาง่นนั ช้วย หล่อใว้ในพระส่าศ่หนาแลทาย่กทงัปวง  (เพือ) จ่ขอธรัรมพระศรีอานแล

                       ๒.   .......ทงัปวงคุมใด ๑๕๐ ชงั สมิอ........ (นอดบน?)  สกัราช่ใด้แล้ว ๒๑๘๑ ปีกบัแปดเดิอนสีวนัเถิงวันเสารเดิอนญีอแรมสีคําจุลสกัราชใส ถ...................” 

          คำอ่าน “๑.   พระยารามและออกหมื่นเทพผู้ช่างนั้นช่วย หล่อไว้ในพระศาสนา แลทายกทั้งปวง (เพื่อ) จะขอทันพระศรีอารย์แล ฯ

                       ๒.   .......ทั้งปวงคุมได้ ๑๕๐ ชั่ง เสมอ........(นอดบน?)  ศักราชได้แล้ว ๒๑๘๑ ปี กับ๘ เดือน ๔ วัน ถึงวันเสาร์เดือนยี่แรม ๔ คํ่า จุลศักราชใส่ ถ้ (วน)...................”

         เนื้อความจารึกบนระฆังวัดโพธิ์คลานสามารถให้ข้อมูลได้ว่า ระฆังใบนี้สร้างโดยขุนนางและพุทธศาสนิกชนในปีพุทธศักราช ๒๑๘๑ ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และมีคำอธิษฐานที่แสดงเจตนาว่าขอให้ทันพระศรีอาริย์ ระฆังใบนี้จึงสะท้อนคติความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ในสมัยอยุธยาตอนปลายได้

         อีกทั้งบนระฆังมีการระบุศักราชการสร้างที่ชัดเจน จึงเป็นตัวอย่างรูปแบบระฆังสำริดที่สร้างขึ้นสมัยอยุธยาที่แสดงให้เห็นถึงเทคนิคงานช่างในการหล่อระฆังอีกด้วย 

         นอกจากนี้ยังพบระฆังซึ่งมีจารึกระบุศักราชชัดเจนว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีอีกสองแห่ง อันได้แก่ วัดป่าพฤกษ์ และวัดพระรูป  สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในการสร้างระฆังเพื่อถวายในพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับการสร้างพระพุทธรูป และยังสะท้อนให้เห็นว่าเมืองสุพรรณบุรียังคงเป็นเมืองที่ค่อนข้างสำคัญในสมัยอยุธยาตอนปลาย

 

เอกสารอ้างอิง

ประสาร บุญประคอง, “คำอ่านจารึกบนขอบระฆัง ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังวัดสุพรรณบุรี,” ศิลปากร ๑๑, ๒ (กรกฎาคม ๒๕๑๐) : ๘๔-๘๕.

(จำนวนผู้เข้าชม 383 ครั้ง)