...

ตราดินเผารูปบุคคลกำลังหาบของ จากเมืองโบราณอู่ทอง

         ตราดินเผารูปบุคคลกำลังหาบของ จากเมืองโบราณอู่ทอง

         ตราดินเผารูปบุคคลกำลังหาบของ พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

         ตราดินเผา กว้าง ๓ เซนติเมตร สูง ๒ เซนติเมตร อยู่ในสภาพชำรุด หักเหลือเพียงครึ่งชิ้น ผิวหน้ามีรอยกดประทับเป็นรูปนูนต่ำภาพบุคคลกำลังหาบของ เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับตราดินเผาสมัยทวารวดีชิ้นอื่นๆ พบว่ามีรูปแบบเดียวกันกับตราดินเผารูปบุคคลกำลังหาบของที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ตราดินเผาดังกล่าวเป็นตราดินเผาทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๘ เซนติเมตร ผิวหน้ามีรอยกดประทับเป็นรูปบุคคลที่เป็นเพียงเค้าโครงอย่างง่าย ไม่แสดงรายละเอียดของใบหน้าหรือเครื่องแต่งกาย มีสัดส่วนไม่สมจริงตามธรรมชาติ โดยมีมือใหญ่และยาวลงมาถึงหัวเข่า รูปบุคคลดังกล่าวกำลังหาบของโดยใช้ไม้คานวางพาดบนบ่า ของที่หาบอยู่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกยาว อาจเป็นกระบุง หีบ หรือเครื่องใช้อื่นๆ สำหรับบรรจุสิ่งของ ส่วนด้านหน้ามีรูปบุคคลขนาดเล็ก ซึ่งอาจหมายถึงรูปเด็ก

        ตราดินเผารูปบุคคลในอิริยาบถต่าง ๆ พบมาแล้วในศิลปะอินเดีย ในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดีนอกจากตราดินเผาชิ้นนี้ ยังพบตราดินเผารูปบุคคลอีกหลายแบบ เช่น รูปบุคคล ๒ คนขี่ม้าตีคลี พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม และเมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ รูปสตรี ๓ คน พบที่เมืองซับจำปา จังหวัดลพบุรี รูปบุคคลปีนต้นไม้ พบที่เมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น สันนิษฐานว่าอาจมีการนำเหตุการณ์ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายต้นแบบบนตราประทับ เช่น การขี่ม้าตีคลี และการปีนต้นไม้ เป็นต้น

        สันนิษฐานว่าตราดินเผาชิ้นนี้น่าจะผลิตขึ้นในท้องถิ่นโดยคนพื้นเมืองทวารวดี โดยรับอิทธิพลทางด้านรูปแบบและคติความเชื่อมาจากอินเดีย และอาจมีการนำเหตุการณ์ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันมาเป็นต้นแบบ และนำมาผลิตเป็นตราดินเผาในรูปอย่างง่าย เพื่อใช้สำหรับเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวบุคคลหรือกลุ่มคน ชนชั้นปกครอง นักเดินทาง หรือพ่อค้าก็เป็นได้ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว   

 

 

เอกสารอ้างอิง

อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.

ที่มารูปภาพ

ภาพตราดินเผารูปบุคคลกำลังหาบของ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จาก อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 174 ครั้ง)