...

ชิ้นส่วนพระพุทธรูปนาคปรก

               ชิ้นส่วนพระพุทธรูปนาคปรก

               พบที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

               จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

               แผ่นปูนปั้นภาพพระพุทธรูปนาคปรก ชำรุดส่วนบนหักหายไป เหลือเพียงส่วนพระเพลาและขนดนาค พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิราบโดยไขว้พระบาทหลวม ๆ บนขนดนาค ๓ ชั้น ทั้งนี้รูปแบบการนั่งขัดสมาธิราบแบบหลวม ๆ เป็นลักษณะที่พบทั่วไปในศิลปะอินเดียแบบอมราวดี เช่น พระพุทธรูปที่นาคารชุนโกณฑะ ซึ่งกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๐ (ประมาณ ๑,๖๐๐ – ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว)

               ความสัมพันธ์ทางด้านรูปแบบศิลปกรรม และคติการสร้างพระพุทธนาคปรก ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในศิลปะอินเดียแบบอมราวดี ที่เจริญขึ้นทางภาคใต้ของประเทศอินเดีย อาจเป็นเพราะอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นเขตร้อนชื้น มีงูชุกชุม จึงเกิดลัทธิบูชางูของคนพื้นเมืองขึ้น ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปยังอินเดียใต้ ความเชื่อเรื่องงูกับความเชื่อในพุทธศาสนาจึงผสมผสานกัน ดังปรากฏเรื่องงูหรือนาคในพุทธประวัติตอนสำคัญ เช่น พญานาคมุจลินท์ใช้กายกำบังให้พระพุทธเจ้าเมื่อเกิดพายุฝนเป็นเวลาเจ็ดวันขณะเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๖ ภายหลังทรงตรัสรู้ ทั้งนี้ต่อมารูปแบบและคติการสร้างพระพุทธรูปนาคปรกจึงได้แพร่หลายมายังลังกา และดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในระยะแรกยังคงแสดงให้เห็นรูปแบบศิลปกรรมที่รับมาจากประเทศอินเดีย จนกระทั่งมีพัฒนาการเป็นรูปแบบเฉพาะของท้องถิ่นนั้น ๆ ในระยะเวลาต่อมา

            ชิ้นส่วนพระพุทธรูปนาคปรกนี้ จึงถือเป็นหลักฐานสำคัญ สันนิษฐานว่าเป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นในท้องถิ่น เนื่องจากทำจากปูนปั้นเพื่อประดับติดเข้ากับผนังศาสนาสถาน โดยอาจเป็นหลักฐานที่เก่าที่สุดชิ้นหนึ่ง เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางด้านรูปแบบศิลปกรรมจากอินเดีย และยังอาจจะแสดงถึงการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในดินแดนไทย แสดงให้เห็นว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๑ ชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ได้เริ่มนับถือศาสนาพุทธ และสร้างศาสนสถานแล้ว โดยเมืองโบราณอู่ทองอาจเป็นศูนย์กลางสำคัญของการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในระยะแรก ที่เผยแผ่มาจากประเทศอินเดียก็เป็นได้

 

ที่มาข้อมูล

เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘

ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, ๒๕๔๒.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, รู้เรื่องพระพุทธรูป. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๐

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย. กรงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 480 ครั้ง)