...

เครื่องประดับทองคำรูปกินรี

     เครื่องประดับทองคำรูปกินรี 

     พบจากเมืองโบราณอู่ทอง

     เครื่องประดับทองคำรูปกินรี พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

     เครื่องประดับทำด้วยทองคำ ขนาดกว้าง ๑.๓ เซนติเมตร สูง ๑.๙ เซนติเมตร สันนิษฐานว่าเป็นรูป “กินรี” ลักษณะลำตัวเป็นนกและมีศีรษะเป็นมนุษย์ ใบหน้าค่อนข้างกลมรี เกล้าผมเป็นมวย คิ้วต่อกันเป็นปีกกา ตาโปน จมูกใหญ่ ริมฝีปากหนา อมยิ้ม ซึ่งเป็นลักษณะใบหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ของประติมากรรมรูปบุคคล และพระพักตร์ของพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประติมากรรมรูปกินรีดังกล่าว สวมสร้อยคอ และตุ้มหูทรงกลม ซึ่งเป็นตุ้มหูรูปแบบหนึ่งที่พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง มีทั้งที่เป็นตุ้มหูสำหรับสวมเป็นเครื่องประดับ และปรากฏในประติมากรรมดินเผาหรือปูนปั้นรูปบุคคลทั้งบุรุษ สตรี และคนแคระสวมตุ้มหูลักษณะเดียวกันนี้ ส่วนลำตัวเป็นสัตว์ประเภทนก มีปีก มีการขีดตกแต่งลำตัวเป็นร่องโค้งเพื่อทำเป็นขนนก ด้านหลังทำเป็นห่วงกลม กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว

     กินรีและกินนร เป็นอมนุษย์ในเทพนิยาย มีลักษณะเป็นสัตว์ผสมระหว่างระหว่างคนกับนก ปรากฏทั้งในศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดี นอกจากเครื่องประดับทองคำรูปกินรีชิ้นนี้แล้ว ยังพบประติมากรรมรูปกินรีและกินนร ทำจากดินเผาหรือปูนปั้นสำหรับประดับศาสนสถานตามเมืองโบราณสมัยทวารวดีต่าง ๆ เช่น ประติมากรรมปูนปั้นรูปกินนรกำลังเล่นเครื่องดนตรีที่มีลักษณะคล้ายพิณเปี๊ยะ พบจากเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม ประติมากรรมปูนปั้นรูปกินรี พบจากเจดีย์หมายเลข ๓ บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ แผ่นดินเผารูปกินรีพบจากเจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น 

     เครื่องประดับรูปกินรีชิ้นนี้ แม้มีขนาดเล็ก แต่ก็มีรายละเอียดที่คมชัด งดงาม เป็นหลักฐานที่แสดงถึงแสดงถึงความชำนาญและฝีมือของช่างสมัยทวารวดีที่ทำเครื่องประดับทองคำนี้เมื่อกว่าพันปีมาแล้ว นอก จากนั้น ที่เมืองโบราณอู่ทองยังพบเครื่องประดับทำด้วยทองคำอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ เครื่องประดับรูปหน้ายักษ์ ตุ้มหู แหวน จี้และลูกปัด เป็นต้น 

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.

ดวงกมล  อนันต์วัชรกุล. “คติความเชื่อเนื่องสัตว์ที่ปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดี”. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 1219 ครั้ง)