...

แผ่นอิฐเขียนสีรูปเจดีย์ทรงหม้อน้ำ อิฐฤกษ์สมัยทวารวดี

    แผ่นอิฐเขียนสีรูปเจดีย์ทรงหม้อน้ำ จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

แผ่นอิฐทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ยาว ๓๓ เซนติเมตร หนา ๗ เซนติเมตร อิฐเนื้อละเอียด ผิวด้านหน้าและด้านข้างขัดมัน เห็นร่องรอยแกลบข้าวในเนื้ออิฐ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอิฐในสมัยทวารวดี ส่วนล่างมุมด้านซ้ายหักหายไป ด้านหลังและด้านข้างของอิฐมีร่องรอยปูนติดอยู่ 

    อิฐแผ่นนี้ผลิตขึ้นด้วยความประณีตแตกต่างจากอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างทั่วไป โดยมีการตกแต่งพื้นผิวด้านหน้าด้วยการเขียนภาพเจดีย์ทรงหม้อน้ำตามแนวตั้งของอิฐด้วยสีดำและสีขาว ภาพเจดีย์มีองค์ระฆังกลมคล้ายหม้อน้ำ ส่วนยอดเป็นทรงกรวยตกแต่งด้วยใบฉัตร ซึ่งเป็นลักษณะเจดีย์ที่พบทั่วไปตามเมืองโบราณสมัยทวารวดี ทั้งส่วนยอดเจดีย์ศิลาและปูนปั้น เจดีย์สำริดจำลอง รูปสลักบนใบเสมาและพระพิมพ์ สามารถกำหนดอายุอยู่ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ (ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว)

    ภาพเจดีย์ทรงหม้อน้ำที่เขียนลงบนแผ่นอิฐนี้ น่าจะหมายถึงสัญลักษณ์มงคล ได้แก่ “กลศ” หรือ “ปูรณฆฏะ” เพื่อสื่อถึงความอุดสมสมบูรณ์และความเป็นศูนย์กลางจักรวาล จึงสันนิษฐานว่าอิฐแผ่นนี้ทำหน้าที่เป็นอิฐฤกษ์ ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเมื่อเริ่มก่อสร้างศาสนสถาน เพื่อให้พื้นที่เกิดความเป็นสิริมงคลและความศักดิ์สิทธิ์ คติการวางฤกษ์ปรากฏในอินเดียและส่งอิทธิพลให้สมัยทวารวดี ปรากฏหลักฐานการวางฤกษ์ที่โบราณสถานในเมืองโบราณสมัยทวารวดีหลายแห่ง เช่น โบราณสถานที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม โบราณสถานที่บ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี และเจดีย์หมายเลข ๑ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น 

    นอกจากแผ่นอิฐเขียนสีรูปเจดีย์ทรงหม้อน้ำแผ่นนี้แล้ว ยังพบอิฐฤกษ์รูปแบบอื่น ๆ ที่มีเนื้อละเอียด ผิวขัดมัน ผลิตด้วยความประณีต มีการตกแต่งผิวหน้าอิฐด้วยการปิดทองคำเปลว การเขียนรูปลายเรขาคณิตหรือลวดลายมงคลอื่นๆ ด้วยสีแดง ขาว และดำ รวมถึงการจำหลักอิฐเป็นภาพนูนสูงลายเรขาคณิตและลวดลายอื่นๆ ด้วย 

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.

นิตยา กนกมงคล. “สถูปทรงหม้อน้ำ ศิลปะทวารวดีที่พบในเขตภาคกลางของประเทศไทย”. วิทยานิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัย ศิลปากร, ๒๕๔๗.

วิภาดา  อ่อนวิมล. “อิฐมีลวดลายในสมัยทวารวดี”. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี  คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖.

(จำนวนผู้เข้าชม 740 ครั้ง)