...

ประติมากรรมดินเผารูปราชยลักษมี

     ประติมากรรมดินเผารูปราชยลักษมี 

     พบจากเมืองโบราณอู่ทอง 

     จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

     ประติมากรรมดินเผารูปราชยลักษมี สูงประมาณ ๙.๕ เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปพระลักษมี เกล้าพระศก ทรงกุณฑลทรงกลม พระกรขวาโอบลำตัวสิงห์ที่หมอบอยู่ด้านข้าง สิงห์มีแผงคอม้วนคล้ายลายกระหนก ตาโปน จมูกใหญ่ แยกเขี้ยวยิงฟันคล้ายประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ ที่พบในเมืองโบราณอู่ทอง ด้านหลังประติมากรรมรูปราชยลักษมี ตกแต่งด้วยลวดลายคล้ายเปลวไฟซ้อนกัน รองรับด้วยฐานทรงกลมตกแต่งด้วยลายกลีบบัว กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) มีผู้สันนิษฐานว่า อาจใช้เป็นฝาจุกภาชนะ หรือประดิษฐานเพื่อการเคารพบูชา หรือใช้เป็นเครื่องรางสำหรับติดตัวพ่อค้าหรือนักเดินทาง 

     ราชยลักษมี เป็นรูปแบบหนึ่งของพระศรี - ลักษมี ซึ่งมักปรากฏคู่กับสิงห์  ในศิลปะอินเดียพบรูปราชยลักษมีปรากฏบนเหรียญตราในลักษณะของพระลักษมี คือ ทรงถือดอกบัว บ่วงบาศหรือตะกร้าแห่งพืชผล นั่งบนหลังสิงห์หรือย่างพระบาทข้ามตัวสิงห์ ส่วนเหรียญอีกด้านเป็นรูปของกษัตริย์ หมายถึงโชคลาภ ความอุดมสมบูรณ์และเป็นเครื่องยืนยันถึงสิทธิในการเป็นกษัตริย์ ไม่พบการสร้างรูปราชยลักษมีเป็นประติมากรรมลอยตัวขนาดเล็ก ดังนั้นประติมากรรมราชยลักษมีที่เมืองโบราณอู่ทองนี้ จึงเป็นรูปแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นในศิลปะทวารวดี โดยมีการคลี่คลายจากศิลปะอินเดียที่เป็นต้นแบบ โดยการลดทอนรายละเอียดบางประการออกไป ได้แก่ ไม่ทรงถือสิ่งของ และเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งบนหลังสิงห์หรือย่างพระบาทข้ามตัวสิงห์ มาเป็นการนั่งโอบสิงห์

อนึ่ง นอกจากประติมากรรมรูปราชยลักษมีชิ้นนี้แล้ว ในประเทศไทยยังมีการพบประติมากรรมรูปราชยลักษมีอีกอย่างน้อย ๒ ชิ้น ได้แก่ ประติมากรรมดินเผารูปราชยลักษมีประกอบกับประติมากรรมรูปคชลักษมี พบที่เมืองโบราณอู่ทอง ๑ ชิ้น และใบเสมารูปราชยลักษมีจากเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ๑ ชิ้น ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานการค้นพบเหรียญตรารูปราชยลักษมีคู่กับกษัตริย์ตามอย่างอินเดีย ดังนั้นประติมากรรมรูปราชยลักษมีเหล่านี้ จึงไม่น่าจะมีความหมายเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ตามคติที่ปรากฏในอินเดีย แต่น่าจะสร้างขึ้นเป็นรูปเคารพ สัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับคติการสร้างรูปคชลักษมี ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของพระลักษมี และพบได้ทั่วไปตามเมืองโบราณในสมัยทวารวดี ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

 

     เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. รูปแบบและความเชื่อของงานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระศรี-ลักษมีที่พบใน ประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา ประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐.

 

(จำนวนผู้เข้าชม 642 ครั้ง)