...

พระพิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธรูปปางแสดงธรรม

     พระพิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธรูปปางแสดงธรรม 

     พบที่เจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 

     จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

     พระพิมพ์รูปทรงโค้งมน ทำเป็นภาพพระพุทธรูปยืนตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก) อุษณีษะเป็นต่อมนูนสูง เม็ดพระศกใหญ่ พระพักตร์รูปวงรี พระขนงเป็นเส้นต่อกัน และพระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาวจรดพระอังสา มีประภามณฑลเป็นวงโค้งรอบพระเศียร ครองจีวรห่มเฉียง บางแนบพระวรกาย เห็นขอบสบงบริเวณบั้นพระองค์ ชายสบงยาวจรดข้อพระบาท ปรากฏชายจีวรเป็นวงโค้งด้านหน้า พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอังสา แสดงวิตรรกมุทรา (ปางแสดงธรรม) พระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย

     การยืนตริภังค์ของพระพิมพ์องค์นี้ แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะ แต่รูปแบบศิลปกรรมโดยรวม เป็นลักษณะศิลปะทวารวดีแล้ว จึงกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) ภายในเมืองโบราณอู่ทอง นอกจากที่เจดีย์หมายเลข ๒ แล้วยังพบชิ้นส่วนพระพิมพ์รูปแบบเดียวกันนี้ ที่เจดีย์หมายเลข ๓ อีกด้วย

อนึ่ง ในสมัยทวารวดีการสร้างพระพุทธรูปยืนตริภังค์ และแสดงวิตรรกมุทราโดยพระหัตถ์ขวาข้างเดียว ส่วนพระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย หรือยกขึ้นยึดชายจีวรในระดับบั้นพระองค์ มักพบในพระพิมพ์และพระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก ส่วนพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างจากหินมักสร้างเป็นพระพุทธรูปยืนตรงแบบสมภังค์ และแสดงวิตรรกมุทราทั้งสองพระหัตถ์ ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดีมากกว่า

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. สหมิตรพริ้นติ้ง : นนทบุรี, ๒๕๔๕.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ,  ๒๕๖๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 1407 ครั้ง)