...

เหรียญอาหรับสมัยราชวงศ์อับบาสิยะฮ์จากเมืองโบราณอู่ทอง

          เหรียญอาหรับ พบที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง  

          ปัจจุบันมีหลักฐานการพบเหรียญอาหรับจากเมืองโบราณอู่ทอง จำนวนไม่น้อยกว่า ๙ เหรียญ สำหรับเหรียญอาหรับ จำนวน ๒ เหรียญ ซึ่งจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เป็นเหรียญทองแดง ขนาดเล็ก ผ่านศูนย์กลาง ๑.๙ เซนติเมตร ทั้ง ๒ ด้านมีจารึกตัวอักษรอาหรับ ภาษาอาหรับตรงกลางเหรียญและริมขอบเหรียญ จารึกบางส่วนค่อนข้างลบเลือนทำให้เกิดข้อจำกัดของการอ่านและแปลความ จากการอ่านและแปลความของนักวิชาการทำให้ทราบว่า เนื้อหาบนเหรียญทั้ง ๒ ด้าน มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาอิสลาม ดังนี้

           ด้านที่ ๑ จารึกข้อความว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ ไม่มีภาคีใดเสมอพระองค์ 

           ด้านที่ ๒ จารึกข้อความว่า มุฮัมมัดศาสนทูตของอัลลอฮ์ อัดล์(ยุติธรรม?)

         เหรียญของชาวอาหรับ ผลิตขึ้นหลังการปฏิรูปเหรียญตรา โดยเปลี่ยนจากต้นแบบเหรียญโรมัน-เปอร์เซียที่มีรูปบุคคล เป็นเหรียญแบบที่มีแต่ตัวอักษรอาหรับ ระบุข้อความที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาอิสลาม เช่น ข้อความจากคัมภีร์อัล-กุรอ่าน  คำปฏิญาณ รวมถึงปีและสถานที่ผลิตเหรียญ เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๓๙ ในสมัยคอลีฟะฮ์อับดุลมาลิค บิน มัรวาน (Caliph Abd al-Malik ibn Marwan) คอลีฟะฮ์หรือกาหลิบแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyad Dynasty, พ.ศ. ๑๒๐๔ – ๑๒๙๓) ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม เหรียญอาหรับที่ผลิตขึ้นในสมัยดังกล่าว ใช้วัสดุแตกต่างกัน ๓ ชนิด ได้แก่ เหรียญทอง ดีนาร์ (Dinar) เหรียญเงิน ดิรฮัม (Dirham) และเหรียญทองแดง ฟิลส์ (Fils) 

เหรียญอาหรับที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง กำหนดอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว โดยสันนิษฐานว่าผลิตขึ้นในสมัยคอลีฟะฮ์อัล-มันซูร (Caliph al-Mansur) แห่งราชวงศ์อับบาสิยะห์ (Abbasid Dynasty, พ.ศ. ๑๒๙๓ – ๑๘๐๑) ทรงครองตำแหน่งในระหว่าง พ.ศ. ๑๒๙๗ – ๑๓๑๘ เป็นผู้ทรงริเริ่มก่อสร้างนครแบกแดด (ปัจจุบันกรุงแบกแดดเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐอิรัก) ซึ่งในเวลานั้นเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าสำคัญที่มีการติดต่อค้าขายทางทะเลกับประเทศจีน และดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

         การค้นพบเหรียญอาหรับจากเมืองโบราณอู่ทอง ถือเป็นหลักฐานหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ มีการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนจากดินแดนตะวันออกกลาง มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากเหรียญที่พบมีจำนวนไม่มากนัก จึงสันนิษฐานว่า เหรียญดังกล่าว อาจไม่ได้ใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนหรือค้าขาย แต่อาจเป็นของที่ระลึก หรือของที่นำติดตัวมากับพ่อค้าชาวตะวันออกกลาง ซึ่งเดินทางเข้ามาในพื้นที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทองในช่วงเวลาดังกล่าว

อ้างอิง

โครงการศิลป์เสวนา ฝ่ายวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑). สุนิติ  จุฑามาศ. โบราณคดีอิสลาม การค้าทางทะเลสู่อิสลามานุวัตรในยุคโบราณทวารวดี-ศรีวิชัย สู่รัฐสุลต่านมลายูปาตานี. ศิลป์เสวนาเรื่อง “โบราณคดีอิสลาม จากรัฐทวารวดี ศรีวิชัย ถึงอยุธยา”. [Video file]. สืบค้นจาก https: //www.youtube. com/watch?v=8INszwEqcuA

วิภาดา อ่อนวิมล. “เหรียญตราในประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๖”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๑.

สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง. ทวารวดี : ประตูสู่การค้าบนเส้นทางสายไหมทางทะเล. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 1562 ครั้ง)