การขับเคลื่อนเมืองโบราณศรีเทพเข้าสู่บัญชีแหล่งมรดกโลก
การขับเคลื่อนเมืองโบราณศรีเทพเข้าสู่บัญชีแหล่งมรดกโลก
​​ตามนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวัฒนธรรม โดยเพิ่มจำนวนแหล่งมรดกโลก ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการสำรวจและผลักดันการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 - 2564 และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในเวทีโลก โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 เรื่องการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้ เห็นชอบเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพ ภายใต้ชื่อ The Ancient Town of Si Thep เพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก และรับทราบการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการนำเสนอแห่งมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ในการเสนอเรื่องนี้คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน จึงมีคำสั่งที่ 2/2563 ลงวันที่ 10 มกราคม 2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก โดยมีนายบวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานคณะทำงาน การประชุมคณะทำงานเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมกองโบราณคดี ชั้น 5 อาคารกรมศิลปากร เทเวศร์ ที่ประชุมพิจารณาคุณค่าความสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพ มีความโดดเด่นเป็นพิเศษในประเด็น ต่อไปนี้​
1. การเลือกชัยภูมิที่ตั้งของชุมชน การกำหนดพื้นที่ใช้สอย การพัฒนาเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ
2. เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางความเชื่อและศาสนา
3. มีลักษณะเด่นทางศิลปกรรมอันเป็นเอกลักษณ์และมีความต่อเนื่อง
จึงมีมตินำเสนอรายละเอียดบรรจุในบัญชีขั้นต้น ตามเกณฑ์ (Criteria) ที่ 2 และ 3 ดังนี้
​เกณฑ์ที่ 2 คือ แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนที่สำคัญอันมีคุณค่าของมนุษย์ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือภายในพื้นที่วัฒนธรรมของโลก ในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี งานศิลปกรรมที่สำคัญ การวางผังเมือง และการออกแบบภูมิทัศน์ 
​​เกณฑ์ที่ 3 คือ เป็นเอกลักษณ์ หรือเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของประเพณีวัฒนธรรมหรืออารยธรรม ที่ยังคงอยู่หรือที่สูญหายไปแล้ว  
​​คณะทำงานขับเคลื่อนการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก ดำเนินการจัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกแล้วเสร็จและนำส่งยังศูนย์มรดกโลกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2565 จากนั้นได้รายงานความก้าวหน้าในการประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 1/2565 วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 8 อาคารกรมศิลปากร เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร โดยกรมศิลปากร เตรียมพร้อมในการตรวจเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ได้มอบหมายให้ทาง Dr. Jigna Desai ผู้เชี่ยวชาญชาวอินเดีย เป็นผู้ตรวจประเมินด้านเทคนิคเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 12 - 17 กันยายน 2565 และในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10 - 25 กันยายน 2566 ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ในฐานะองค์กรที่ปรึกษาจะได้เสนอให้เมืองโบราณศรีเทพ ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จนกระทั่งที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา พิจารณาให้ความเห็นชอบให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมซึ่งมีคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลตามเกณฑ์ (ii) และ (iii) ในวันอังคารที่ 19 กันยายน 2566 จึงเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 4 ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของประเทศไทยในรอบ 30 ปี

(จำนวนผู้เข้าชม 361 ครั้ง)