...

ครกสีข้าว


ชื่อวัตถุ
ครกสีข้าว

ทะเบียน ๒๗/๓๙๔/๒๕๓๒

อายุสมัย รัตนโกสินทร์

วัสดุ(ชนิด) ไม้ไผ่

ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔๗เซนติเมตร สูง ๙๙เซนติเมตร

ประวัติ เป็นมรดกตกทอด อายุกว่า ๑๐๐ ปuพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลางรับมอบจาdนายประสิทธิ์ ถิ่นกลาง บ้านเลขที่ ๑๑๑ ม.๓ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ตรับมอบเมื่อวันที่๓มีนาคม๒๕๓๒

เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

“ครกสีข้าว”

ข้าว ถือเป็นอาหารหลักของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในอดีตคนแต่ละท้องที่จะนิยมทำนาข้าวเอง ข้าวที่ได้จากท้องนาเรียกว่า “ข้าวเปลือก” ซึ่งยังนำมาหุ้งกินไม่ได้ต้องนำข้าวเปลือกไปผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า “สีข้าว” เสียก่อน เครื่องมือที่ใช้สีข้าวในอดีตเรียกว่า “ครกสีข้าว”

ครกสีข้าว ประกอบด้วยส่วนบนหรือปากครกมีรูปทรงกระบอกทำด้วยไม้ไผ่สานและส่วนฐานทำเป็นขอบขึ้นมาใช้รองรับข้าวที่สีแล้ว ตรงกลางของครกจะมีฟันครกทำจากไม้เนื้อแข็งมีหน้าที่ในการกะเทาะเปลือกเมล็ดข้าว และมีไม้เป็นแกนกลางเรียกว่า “โดครก” โดยจะยึดกับไม้ที่เป็น มือครก หรือ แขนครก ซึ่งเชื่อมกับคันโยกของครกอีกทีนึง

กรรมวิธีในการสีข้าวนั้นทำโดยการนำข้าวเปลือกมาใส่ลงในปากครก คนสีข้าวจะต้องหมุนคันโยก ข้าวเปลือกจึงจะไหลลงสู่ฟันครกซึ่งเป็นตัวที่กะเทาะเปลือกข้าวให้หลุดออกจากเมล็ดข้าว ข้าวจะไหลออกจากฟันครกลงสู่ขอบที่ใช้รองรับข้าว ซึ่งมีทั้งแกลบข้าวเปลือกและเมล็ดข้าวสารปะปนกัน จากนั้นจะต้องนำข้าวไป “ฝัด” เพื่อแยกข้าวสารออกจากแกลบข้าว ข้าวที่ได้จากการสีนั้นเรียกว่า “ข้าวกล้อง” ซึ่งเป็นข้าวที่มีสารอาหารสูงสามารถนำไปหุงกินได้

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าครกสีข้าวเป็นเครื่องมือที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ และใช้แรงงานคนในการสีข้าว ในสมัยก่อนชาวนามักจะมีครกสีไว้ใช้เองที่บ้าน ต่อมาเมื่อมีโรงสีข้าวเกิดขึ้นชาวนาจึงนิยมนำข้าวไปสีที่โรงสีแทน จึงทำให้การใช้ครกสีข้าวเริ่มหายไปจากวิถีชีวิตของชาวนาไทย

“ครกสีข้าว” เป็นเครื่องใช้ที่นิยมใช้กันในทุกภูมิภาคของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งภาคใต้ เป็นเครื่องใช้ที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านและวิถี-ชีวิตของชาวนาไทยในอดีตได้เป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

- มโน พิสุทธิรัตนานนท์. “ครกสี.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๔๒ เล่ม ๒.กรุงเทพ : บริษัท สยามเพรส แมเนจเมนท์ จำกัด,๒๕๔๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 6744 ครั้ง)