...

โบราณสถานสำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

โบราณสถานเมืองสุโขทัย

โบราณสถานสำคัญในเขตกำแพงเมือง  ได้แก่

วัดมหาธาตุ

          ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ตามแบบแผนความเชื่อในเรื่องจักรวาลแบบอินเดียโบราณ เป็นวัดที่มีความสำคัญประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป โบสถ์ และเจดีย์รายจำนวนมาก ถึง ๒๐๐ องค์

          เจดีย์ประธานของวัด ซึ่งตั้งเด่นสง่างามมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยแท้ แต่คงมิได้เป็นรูปแบบแรกเริ่มเมื่อมีการสร้างวัดมหาธาตุขึ้น ของเดิมน่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับเจดีย์ทิศที่ตั้งอยู่ตรงกลางของด้านทั้งสี่บนฐานเดียวกัน

          รายรอบเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทิศ จำนวน ๘ องค์ องค์ที่อยู่ตรงมุมทั้งสี่เป็นเจดีย์ที่มีอิทธิพลของศิลปะหริภุญไชยล้านนา  ส่วนเจดีย์ที่อยู่กึ่งกลางของด้านทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัยซึ่งมีลวดลายปูนปั้นแบบอิทธิพลศิลปะลังกา รอบ ๆ เจดีย์ประธานมีปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชุลีเดินประทักษิณโดยรอบพระมหาธาตุ

          ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้บรรยายว่า...กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศ มีพระพุทธอันใหญ่ มีพระพุทธอันราม... พระพุทธรูปทองเข้าใจโดยทั่วไปว่าหมายถึงหลวงพ่อโตของชาวเมืองเก่า เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ ที่ประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุ  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญโดยล่องแพไปไว้ที่ วิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานนามว่า พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปนี้น่าจะเป็นพระพุทธรูปสำริดที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงโปรดให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อันเป็นแบบที่นิยมมากในสมัยสุโขทัย ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุสุโขทัยจึงยังปรากฏแท่นฐานขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปองค์นี้เหลือให้เห็น

          ส่วนพระอัฎฐารศ ที่กล่าวถึงในจารึกหมายถึงพระพุทธรูปยืน ที่มีขนาดใหญ่สูงราว ๑๘ ศอก ประดิษฐานภายในมณฑปที่ขนาบอยู่สองข้างของเจดีย์ประธาน

          ถัดจากวิหารหลวงไปทางตะวันออกเป็นวิหารสูง ที่เรียกชื่อเช่นนี้ เนื่องจากวิหารหลังนี้มีฐานก่ออิฐเป็นลักษณะฐานบัว มีความสูงประมาณ ๑.๕ เมตร เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นในภายหลัง ทำให้พื้นที่ว่างระหว่างหน้าวิหารสูงกับกำแพงแก้วด้านหน้าเหลือเพียงพื้นที่แคบ ๆ ไม่ได้สัดส่วนกับความสูงของตัวอาคาร

          นอกจากนี้ภายในวัดมหาธาตุยังมีกลุ่มเจดีย์ จัดแยกออกเป็นกลุ่มหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน มีศูนย์กลางอยู่ที่เจดีย์ ๕ ยอด ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นที่ ๒ รองจากเจดีย์ประธาน ได้พบหลักฐานที่เป็นจารึกลานทองมีข้อความระบุเป็นที่น่าเชื่อว่าเจดีย์ ๕ ยอดองค์นี้เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของพระมหาธรรมราชาลิไท

เนินปราสาท

          ทางทิศตะวันออกติดกันกับวัดมหาธาตุ มีโบราณสถานแห่งหนึ่งซึ่งเรียกในปัจจุบันว่าเนินปราสาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นฐานปราสาทราชวังของกษัตริย์เมืองสุโขทัย

          กรมศิลปากรได้ขุดแต่งโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ พบฐานอาคารแบบฐานบัวคว่ำบัวหงาย ลักษณะเป็นฐานสูงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ขนาด ๒๗.๕๐ x ๕๑.๕๐ เมตรมีบันไดที่ด้านหน้าและด้านหลังอย่างละหนึ่งแห่ง

          อย่างไรก็ตาม ในการขุดค้นทางโบราณคดีไม่พบหลักฐานที่พอจะชี้ได้ว่าสถานที่นี้เป็นปราสาทราชวัง อีกทั้งแผนที่เก่าทำในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็บ่งบอกว่า เป็นบริเวณเดียวกันกับวัดมหาธาตุ คือเป็นสิ่งก่อสร้างเนื่องในทางศาสนาในวัด มากกว่าจะเป็นวัง แต่เดิมวังกษัตริย์สุโขทัยควรเป็นตำหนักไม้ ตำแหน่งที่ตั้งควรอยู่เหนือศาลตาผาแดงติดกับวัดสรศักดิ์ทางทิศตะวันตก  ซึ่งศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ กล่าวว่าเป็นตำหนัก ของเจ้านายสุโขทัย เมื่อตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งเช่นนี้จะตรงกันกับตำแหน่งของพระราชวังกษัตริย์เขมรโบราณที่เมืองพระนครหลวง หรือนครธม

วัดศรีสวาย

          ตั้งอยู่ทางใต้ของวัดมหาธาตุห่างออกไปประมาณ ๓๕๐ เมตร โบราณสถานสำคัญ ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วนั้นประกอบไปด้วยปรางค์ ๓ องค์ ที่มีรูปแบบศิลปะลพบุรี แต่ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียวตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ มีลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน ได้พบทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ อันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าวัดศรีสวาย เคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อนแล้วแปลงเป็นพุทธสถานโดย ต่อเติมวิหารขึ้นที่ด้านหน้า เป็นวัดในพุทธศาสนาในภายหลัง

วัดตระพังเงิน

          ตั้งอยู่ทางตะวันตกของวัดมหาธาตุ มีระยะห่างประมาณ ๓๐๐ เมตร โบราณสถานแห่งนี้ไม่มีกำแพงแก้ว ประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร และโบสถ์กลางน้ำ

          โบราณสถานของวัดนี้มีเจดีย์ทรงดอกบัวตูมเป็นประธาน โดยมีวิหารประกอบอยู่ด้านหน้า ลักษณะที่เด่นของเจดีย์ทรงดอกบัวตูมของวัดนี้ คือมีจระนำที่เรือนธาตุทั้งสี่ด้านสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปยืนและลีลา ซึ่งแตกต่างไปจากเจดีย์ทรงดอกบัวตูมในที่อื่น ๆ

          ด้านตะวันออกของเจดีย์ เป็นเกาะมีโบสถ์ตั้งอยู่กลางน้ำตามคตินทีสีมาเช่นเดียวกับวัดสระศรี โบสถ์นี้ตั้งอยู่ในสระน้ำที่มีชื่อว่า ตระพังเงิน

วัดสระศรี

          เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุ โบราณสถานนี้มีความงดงามมากอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากตั้งอยู่กลางสระน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ชื่อว่า ตระพังตระกวน สิ่งสำคัญของวัดประกอบด้วย เจดีย์ทรงระฆัง วิหารและโบสถ์กลางน้ำ ก่อน พ.ศ. ๒๕๒๑ มีถนนจรดวิถีถ่องตัดผ่านกลางวัด ซึ่งทำลายคุณค่าและเป็นอันตรายต่อโบราณสถาน กรมศิลปากรจึงได้ปรับปรุงทัศนียภาพเพื่อรักษาโบราณสถาน โดยขุดรื้อถนนออกไป แล้วสร้างถนนเลียบสระน้ำขึ้นแทน

          เจดีย์ทรงระฆังกลมของวัดเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงการรับพุทธศาสนาจากลังกาของสุโขทัย บางครั้งจึงเรียกเจดีย์แบบนี้ว่า เจดีย์ทรงลังกา ส่วนโบสถ์ที่อยู่กลางน้ำก็เป็นความเชื่อถือแบบพุทธศาสนา ที่ใช้น้ำในความหมายของความบริสุทธิ์ของขอบเขตที่กันไว้เป็นเขตสำหรับให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกว่า นทีสีมา

วัดชนะสงคราม

          ตั้งอยู่ทางเหนือของวัดมหาธาตุ และอยู่ใกล้กับ โบราณสถานที่เรียกว่า หลักเมืองด้วย เดิมเรียกกันว่า วัดราชบูรณะ ลักษณะเด่นก็คือ มีเจดีย์ทรงระฆังกลมขนาดใหญ่เป็นเจดีย์ประธาน ด้านตะวันออกมีวิหาร โบสถ์ และเจดีย์รายต่าง ๆ แผนผังของวัดนี้มีที่พิเศษออกไปคือ มีเจดีย์ทรงวิมานขนาดเล็ก ๒ องค์ ขนาบอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน(ด้านตะวันออก) คล้ายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวเมืองศรีสัชนาลัย น่าจะเป็นเจดีย์ที่สร้างเพิ่มเติมขึ้นในระยะเวลาต่อมา เมื่อสุโขทัยรวมอยู่ในราชอาณาจักรอยุธยาแล้ว

ศาลตาผาแดง

          ตั้งอยู่ติดกับตระพังตระกวนทางด้านทิศเหนือ และใกล้กับประตูเมืองด้านเหนือ ปรากฏในแผนที่สมัย รัชกาลที่ ๕ เรียกว่า ศาลเทพารักษ์ใหญ่และศาลตาผ้าแดง

          ลักษณะเป็นโบราณสถานหลังเดี่ยวแบบปราสาทเขมร ก่อด้วยศิลาแลงทั้งหมด ส่วนบนฐานบัวลูกฟัก มีห้องยาวหรือส่วนที่ยื่นออกไปจากตัวปราสาท อยู่ทางด้านตะวันออก และตะวันตก โดยห้องด้านตะวันออกมีความยาวกว่าด้านตรงข้าม

          เมื่อกรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะศาลตาผาแดง ได้พบชิ้นส่วนเทวรูปและเทวสตรี ประดับด้วยเครื่องตกแต่งอย่างงดงาม เมื่อได้ศึกษาเปรียบเทียบแล้วอาจเทียบได้กับศิลปะเขมรแบบบายน รุ่นแรก ๆ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง

          โบราณสถานแห่งนี้เป็นหลักฐานยืนยันถึง การมีชุมชนที่มีวัฒนธรรมเขมรนับถือศาสนาฮินดูปะปนในแถบนี้แล้ว เมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘

โบราณสถานนอกเขตกำแพงเมือง

          ในพื้นที่ทั้งสี่ด้านของเมืองสุโขทัยมีโบราณสถานตั้งอยู่เป็นจำนวนมากปรากฏทั่วไปตามพื้นที่ราบและบนภูเขา เป็นจำนวนถึง ๑๑๖ แห่ง นอกจากนั้นเป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อระบบชลประทาน แหล่งวัตถุดิบ และแหล่งอุตสาหกรรม

โบราณสถานสำคัญนอกเขตกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ

วัดพระพายหลวง

          ตั้งอยู่ใกล้ประตูเมืองด้านเหนือและอยู่ขนาบกับกำแพงเมืองชั้นนอก จัดเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สุโขทัยอีกแห่งหนึ่ง เพราะมีสิ่งก่อสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของเมืองสุโขทัย และก่อสร้างเพิ่มเติมสืบต่อกันมาจนถึงสมัยสุโขทัยตอนปลาย

          กลุ่มโบราณสถานตั้งอยู่ตรงกลางในพื้นที่ที่มีคูน้ำล้อมรอบ คูน้ำแต่ละด้านมีความยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร โบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดในวัดเป็นปราสาท ๓ องค์ ปัจจุบันพังทลายลงเหลือเพียงฐาน ๒ องค์ และที่สมบูรณ์เพียงองค์ด้านทิศเหนือนั้น มีลักษณะของปราสาท และลวดลายปูนปั้นประดับเล่าเรื่องตามพุทธประวัติเหมือนกับปราสาทที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี และที่ปราสาทปาลิไลย์ในเมืองพระนครหลวงของเขมรเป็นเครื่องยืนยันว่า ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ชุมชนสุโขทัยมีวัฒนธรรมร่วมกับเขมรในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และมีความเกี่ยวข้องกับเมืองละโว้ (ลพบุรี) เมืองใหญ่ที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมเขมร ในที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง

          ถัดจากปราสาทไปทางตะวันออกนอกจากจะมีวิหารแล้ว ยังมีเจดีย์ทรงเหลี่ยมแบบปิรามิด ประดับทุกด้านด้วยซุ้มพระพุทธรูปลดหลั่นเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป เหมือนกับเจดีย์กู่กุดจังหวัดลำพูน ที่เจดีย์นี้มีหลักฐานการก่อสร้างทับซ้อนกันหลายสมัย เช่น มีพระพุทธรูปในซุ้มเป็นแบบหมวดวัดตระกวนอยู่ภายใน  โดยถูกปิดและซ้อนทับอยู่ด้วยพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่อันเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เป็นต้น

          ทางด้านตะวันออกสุดของกลุ่มโบราณสถาน  เป็นมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบท  เดิน ยืน และนอน ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะสร้างในสมัยหลังที่สุดในบรรดาโบราณสถานที่กล่าวมาแล้ว คือในสมัยสุโขทัยตอนปลาย

วัดศรีชุม

          อยู่นอกกำแพงเมืองตรงมุมตะวันตกเฉียงเหนือพอดี สิ่งสำคัญที่ปรากฏอยู่โดดเด่น ได้แก่ อาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ภายในอาคาร มีขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๑๑.๓๐ เมตร เชื่อกันว่าชื่อพระพุทธรูปเรียกตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า พระอจนะ มีความหมายว่า ผู้ไม่หวั่นไหว สร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์ที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ราว พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๙๙

          คำว่า ศรี มาจากคำเรียกพื้นเมืองเดิมของไทยว่า สะหลี ซึ่งหมายถึงต้นโพธิ์ ดังนั้นชื่อศรีชุม จึงหมายถึงดงของต้นโพธิ์ แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เขียนในสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่เข้าใจความหมายนี้แล้ว จึงเรียกสถานที่นี้ว่า ฤๅษีชุม ว่าเป็นสถานที่ที่พระนเรศวรมาประชุมทัพกันอยู่ที่นั้นก่อนที่จะยกทัพไปปราบเมืองสวรรคโลก อันเป็นต้นตอของตำนานเรื่องพระ (อจนะ) พูดได้ที่เล่าขานกันต่อมา

          วัดศรีชุมยังมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สุโขทัยอีก ในช่องผนังของมณฑปได้ค้นพบศิลาจารึกหลักที่ ๒ เรียกว่า จารึกวัดศรีชุม ที่เล่าเรื่องราวของการก่อตั้งราชวงศ์สุโขทัยของคนไทยกลุ่มหนึ่ง และที่เพดานของช่องผนังดังกล่าวมีภาพจิตรกรรมลายเส้นเป็นภาพเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าในชาติต่าง ๆ ที่เรียกว่า ชาดก บางภาพมีลักษณะทางศิลปกรรมคล้ายกับศิลปะลังกา โดยมีอักษรสมัยสุโขทัยกำกับบอกเรื่องชาดกไว้ที่ภาพแต่ละภาพด้วย

เตาเผาเครื่องสังคโลก

          สังคโลก เป็นชื่อที่มีความหมายถึงเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในสมัยสุโขทัย ทั้งในเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัย เป็นการทำเครื่องถ้วยชามที่เคลือบสีต่าง ๆ เช่น สีเขียวไข่กา สีน้ำตาล สีใสเคลือบทับลายเขียนรูปต่าง ๆ เป็นอาทิ สังคโลกเป็นสินค้าที่ส่งไปขายยังนอกอาณาเขตสุโขทัยอย่างกว้างขวาง ทั้งในดินแดนแถบที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันเช่นที่อยุธยาและแถบภาคใต้แล้วยังได้พบในแถบฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่นด้วย

          แหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยชามสังคโลกที่เมืองสุโขทัยพบอยู่ทางด้านเหนือ นอกกำแพงเมืองโดยเฉพาะในบริเวณคันดินรอบวัดพระพายหลวง ลักษณะของเตามีอยู่ ๒ แบบ แบบแรกเป็นเตากลม มีพื้นเจาะรูเพื่อระบายความร้อนจากช่องใส่ไฟที่อยู่ด้านล่างขึ้นมา บางครั้งก็เรียกว่า เตาตระกรับ  แบบที่ ๒ มีลักษณะเป็นรูปหลังเต่า มีปล่องระบายความร้อนและช่องไฟอยู่คนละแนวกัน เพื่อระบายความร้อนในแนวนอนเรียก เตาประทุน

          เตาเผาที่สุโขทัยส่วนใหญ่เป็นเตาที่ก่อขึ้นจากอิฐดิบ ไม่ใช่เตาขุดที่ขุดเข้าไปในเนินดินธรรมชาติแบบเตาบางแห่งที่ศรีสัชนาลัย เพราะในการขุดค้นของกรมศิลปากรพบเตาอิฐดิบนี้ ก่ออยู่บนชั้นดินดานซึ่งเป็นชั้นดินล่างสุดของสุโขทัย

โบราณสถานสำคัญนอกเขตกำแพงเมืองด้านทิศใต้

ประตูนะโม

          ประตูเมืองทางด้านใต้ มีลักษณะทั่วไปเช่นเดียวกับประตูเมืองด้านอื่น ๆ คือ ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางกำแพงด้านใต้เป็นช่องตัดผ่าน และมีป้อมดินที่สร้างยื่นออกไปจากแนวกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยม เพื่อใช้ดูข้าศึก หลักฐานกล่าวถึงกำแพงเมืองสุโขทัยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า.... เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง... และ... รอบเมืองสุโขทัยนี้ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา...

          ลักษณะกำแพงเมืองสุโขทัยเป็นกำแพงสามชั้น สองชั้นนอกเป็นคันดินสลับกับคูน้ำ กำแพงชั้นในมีแกนเป็นคันดิน ก่อหุ้มด้วยศิลาแลงและอิฐ ประโยชน์ของกำแพงเมือง คือ ใช้บอกขอบเขตของเมือง ป้องกันข้าศึก และคูน้ำใช้เป็นทางระบายน้ำไม่ให้ท่วมเมือง เนื่องจากพื้นที่ลาดเอียงจึงเป็นทำเลที่ดีและมีการใช้เทคนิควิทยาการที่เหมาะสม คือ ใช้คันดินบังคับน้ำให้ไหลพ้นตัวเมือง

          การขุดค้นทางโบราณคดี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๕  พบว่าการสร้างกำแพงเมืองทั้งสามชั้นนั้น คงสร้างในระยะเวลาที่แตกต่างกัน คือครั้งแรกมีกำแพงเมืองกับคูน้ำชั้นในเพียงชั้นเดียว

วัดเชตุพน

          ลักษณะโดดเด่นของโบราณสถานแห่งนี้เป็นพระพุทธรูปสี่อิริยาบท (นั่ง นอน ยืน เดิน) ขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถมองเห็นได้แต่ไกล โดยสร้างอยู่ภายในมณฑปจตุรมุข องค์พระพุทธรูปปั้นโดยรอบผนังอิฐซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนรองรับหลังคาอันเป็นลักษณะที่พัฒนามาจากสถาปัตยกรรมของพม่าในเมืองพุกาม ถัดไปทางด้านตะวันตกของมณฑปจตุรมุขนี้มีมณฑปย่อมุมไม้ยี่สิบขนาดเล็กมีหลังคาก่อซ้อนกันเป็นเสา และใช้หินชนวนขนาดใหญ่ทำเป็นเพดาน ยังปรากฏร่องรอยของพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย แต่ชำรุดมากแล้ว ที่ผนังด้านนอกมีลายเขียนสีดำ แสดงลักษณะลายแบบที่ปรากฏบนเครื่องถ้วยจีนเป็นลายพันธุ์พฤกษา

          วัดเชตุพนยังมีสิ่งที่น่าดูอีกอย่างหนึ่งก็คือ กำแพงแก้วที่ล้อมมณฑปจตุรมุขนี้สร้างจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่และหนา โดยมีการสกัดและบากหินเพื่อทำเป็นกรอบและซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้

          ถัดจากมณฑปจตุรมุขและมณฑปย่อมุมไปทางตะวันตก มีลานก่ออิฐสูงราว ๑ เมตร ใช้เป็นที่ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์

          ไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยใด เชื่อว่าในสมัยพ่อขุนรามคำแหงคงยังไม่สร้างขึ้น จารึกวัดสรศักดิ์ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ว่าเมื่อพระมหาเถรธรรมไตรโลกฯ มีศักดิ์เป็นน้าของพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัยพระองค์หนึ่ง มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสรศักดิ์ได้ร่วมชุมนุมกับพระวัดเชตุพน พิจารณาการสร้างเจดีย์ช้างรอบและศาสนสถานอื่น ๆ ที่วัดสรศักดิ์ จากข้อความที่ระบุชื่อวัดเชตุพนในศิลาจารึกหลักนี้  ประกอบกับรูปแบบทางศิลปกรรมของที่นี่แสดงให้เห็นว่า วัดเชตุพนคงเป็นวัดที่มีความสำคัญและเจริญรุ่งเรืองในช่วงสุโขทัยตอนปลาย

          นอกจากนี้ยังได้พบจารึกที่วัดเชตุพน กล่าวถึงเจ้าธรรมรังษีซึ่งบวชได้ ๒๒ พรรษามีจิตศรัทธาสร้างพระพุทธรูปขึ้นใน พ.ศ. ๒๐๕๗

วัดเจดีย์สี่ห้อง

          ตั้งอยู่ทางตะวันออกของวัดเชตุพน ห่างกันประมาณ ๑๐๐ เมตร นอกจากวิหาร เจดีย์ประธาน และเจดีย์รายต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญของวัดคือ ที่ฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบ ปั้นเป็นรูปบุคคล รูปบุรุษและสตรี สวมอาภรณ์และเครื่องประดับต่าง ๆ กัน ในมือถือภาชนะมีพันธุ์พฤกษางอกโผล่พ้นออกมาแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญงอกงาม ภาชนะนี้เรียกว่า หม้อปูรณฆฏะ นอกนั้นก็มีปูนปั้นรูปช้างและสิงห์ประดับ รูปบุคคลที่กล่าวนี้อาจหมายถึงมนุษยนาค ซึ่งถือว่าเป็นเทพอยู่ในโลกบาดาลตามแบบอย่างคติที่นิยมในลังกา

          องค์เจดีย์ประธานที่ได้รับการบูรณะมาแล้วหลายสมัยนั้น เป็นทรงระฆังกลมส่วนยอดของเจดีย์ได้พังทลายลง คงปรากฏส่วนปล้องไฉนตกอยู่ที่ฐานเจดีย์

วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม

          จากวัดเจดีย์สี่ห้องเดินทางต่อไปทางตะวันออกราว ๒๐๐ เมตร เป็นที่ตั้งของวัดนี้ ซึ่งมีชื่อเรียกของชาวบ้านแต่เดิมว่า วัดตาเถรขึงหนัง ต่อมาได้พบศิลาจารึกที่วัดนี้ปรากฏชื่อเรียกว่า วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามสร้างขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๔๖ โดยพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดามหาดิลกรัตนราชนาถกรรโลง ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระมหาธรรมราชาลิไท และเป็นพระราชมารดาของพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัยพระองค์หนึ่งได้โปรดให้นิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่จากเมืองกำแพงเพชรมาอำนวยการสร้างวัดนี้

          โบราณสถานยังล้อมรอบด้วยคูน้ำเช่นวัดทั่วไปในสุโขทัย รูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังกลมซึ่งเป็นประธานของวัด ได้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบทั่วไปของสุโขทัยที่มีฐานเตี้ย แต่เจดีย์วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม ตั้งอยู่บนฐานสูง มีฐานเขียงสี่เหลี่ยมเรียบ ๓ ชั้น ต่อด้วยฐานย่อมุมไม้ยี่สิบ แล้วจึงถึงองค์ระฆังกลม ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ได้พบอัฒจรรย์ คือลายบนพื้นเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก (ครึ่งวงกลม) มีลวดลายเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ  ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากศิลปะลังกา

โบราณสถานด้านตะวันออก

          ทางด้านตะวันออกของสุโขทัยมีถนนโบราณผ่านหน้าวัดมุมลังกา ถนนเส้นนี้เชื่อมการสัญจรระหว่างเมืองกำแพงเพชรและสุโขทัย เป็นถนนที่มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยและเป็นเส้นทางที่สมเด็จ      พระสามีสังฆราช ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไท ได้อาราธนามาจากนครพัน เมืองทางตอนใต้ของพม่า เดินทางมาสู่เมืองสุโขทัยและเข้าประตูเมืองด้านตะวันออกที่เรียกว่าประตูกำแพงหัก

          ด้านเหนือของประตูกำแพงหักเข้าไปช่วงต่อกับกำแพงเมืองสุโขทัยชั้นกลางและชั้นนอกมีคลองแม่ลำพัน นำน้ำจากภูเขาและที่ลาดแถบนี้ไปสู่แม่น้ำยมที่ตำบลธานี ฝั่งตรงข้ามกับตัวจังหวัดสุโขทัย และจากคลองแม่ลำพันติดต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ลุ่มกว้างใหญ่อยู่ผืนหนึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นทะเลหลวง หรือที่รับน้ำขนาดใหญ่ซึ่งกล่าวอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ นอกจากนี้ศิลาจารึกยังได้บรรยายให้เห็นสภาพทางด้านตะวันออกของเมืองสุโขทัยนี้ว่า ...มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง  มีป่าหมากป่าพลู มีไร่มีนา มีถิ่นมีถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก...

          โบราณสถานในด้านตะวันออกที่ปรากฏอยู่ และมีความสำคัญ ได้แก่

วัดช้างล้อม

          จากประตูกำแพงหักไปตามถนนจรดวิถีถ่อง วัดช้างล้อมตั้งอยู่ทางฝั่งซ้าย ห่างถนนออกไปราว ๑๐๐ เมตร และตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของคลองแม่ลำพัน ได้พบศิลาจารึกที่วัดนี้กล่าวถึงเหตุการณ์ในระหว่างก่อน พ.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๓๓ ว่า พ่อนมไสดำผัวแม่นมเทด เป็นขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระ      มหาธรรมราชาลิไท มีใจศรัทธา ออกบวชตามพระมหาธรรมราชาลิไท และได้อุทิศที่ดินของตนสร้างวิหารใน ปี พ.ศ. ๑๙๓๓ สร้างพระพุทธรูป หอพระไตรปิฎก ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ อุทิศบุญกุศลถวายแด่พระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งทรงเสด็จสวรรคตแล้ว และสร้างพระพุทธรูปหิน อุทิศบุญกุศลถวายแด่พระมเหสีของพระมหาธรรมราชาลิไทที่ทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้วด้วยเช่นกัน

          โบราณสถานวัดนี้มีพื้นที่กว้างขนาด ๑๐๐ x ๑๕๗ เมตร มีคูน้ำล้อมรอบนอกคูน้ำห่างไปทางตะวันออกมีอุโบสถแบบ นทีสีมา เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มาก เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม มีฐานเจดีย์ทำเป็นรูปช้างล้อม จำนวน ๓๒ เชือก มีลานประทักษิณโดยรอบ มีวิหารหน้าเจดีย์มีพระพุทธรูปปูนปั้นชำรุดมากแล้ว โบราณสถานอื่นก็มีเจดีย์ราย มีกำแพงแก้วล้อมรอบชั้นหนึ่งก่อนที่เป็นชั้นของคูน้ำ

 

วัดตระพังทองหลาง

          อยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง หากเดินทางมาจากจังหวัดสุโขทัยวัดตระพังทองหลางจะตั้งอยู่ริมซ้ายมือ  จุดสังเกตง่าย ๆ ก็คือ มีซุ้มประตูประดับกระจกทางเข้าวัดตระพังทองหลางซึ่งเป็นวัดสมัยปัจจุบัน


          วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารว่าสร้างในสมัยใด เป็นวัดขนาดกลาง โบราณสถานหลักก็มีมณฑปประกอบวิหารที่งดงามแห่งหนึ่งของสุโขทัย เจดีย์ราย มีคูน้ำล้อมรอบ และโบสถ์อยู่ทางตะวันออก วัดนี้ไม่มีเจดีย์ประธาน แต่ใช้มณฑปทำหน้าที่เหมือนเป็นเจดีย์ประธาน อันเป็นลักษณะเฉพาะแบบหนึ่งของการสร้างวัดที่สุโขทัย

          มณฑปก่อด้วยอิฐ เป็นอาคารในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ แต่ปัจจุบันชำรุดหมดแล้ว มณฑปด้านทิศตะวันออกเป็นซุ้มประตู อีกสามด้านเป็นผนังที่ประดับด้วยปูนปั้น เป็นเรื่องตามพุทธประวัติที่ชำรุดเกือบหมดแล้ว แต่จากหลักฐานที่บันทึกเป็นภาพถ่ายเก่าทำให้ทราบเรื่องราวได้ว่า

          ผนังด้านเหนือเป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าทรงทรมานช้างนาฬาคีรี โดยปั้นรูปพระพุทธองค์ประทับยืนเคียงข้างด้วยอัครสาวกคือ พระอานนท์ ที่ปลายพระบาทของพระพุทธเจ้ามีร่องรอยให้ทราบว่าเป็นหัวเข่าช้าง ซึ่งคุกเข่ายอมแพ้พระพุทธเจ้า

          ผนังด้านใต้เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรคชั้นดาวดึงส์ ภายหลังเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา ปั้นรูปพระพุทธเจ้าในท่าลีลา มีพระอินทร์กับพระพรหม และเหล่าทวยเทพตามเสด็จมาส่ง ได้มีการถอดพิมพ์ภาพปูนปั้นนี้ขณะที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์กว่า จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง

          ผนังด้านตะวันตกเป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าโปรดเทศนาสั่งสอนพวกศากยวงศ์ที่เมืองกบิลพัสดุ์ ขณะทรงสั่งสอนทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เป็นรูปรัศมีเปลวไฟล้อมรอบพระพุทธองค์ และมีรูปบรรดาพระญาติแวดล้อมอยู่ภายนอกรูปรัศมีนั้น

          บรรดาภาพปูนปั้นเหล่านี้แสดงถึงลักษณะศิลปะสุโขทัยที่เจริญสูงสุด หรือที่เรียกว่ายุคทองของศิลปะสุโขทัย ซึ่งอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐

โบราณสถานนอกเขตกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก

          พื้นที่นอกเขตกำแพงเมืองสุโขทัยด้านตะวันตกเรียกว่าเขตอรัญญิก ซึ่งเรียกตามการแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายแรกเรียกว่าฝ่ายคามวาสีเป็นพระสงฆ์ที่อยู่ในเขตเมือง อีกฝ่ายหนึ่งเป็นพระสงฆ์ที่อยู่นอกเขตเมือง มุ่งเน้นการปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อการหลุดพ้น เขตอรัญญิกในระยะแรก ๆ ของสุโขทัยคงเริ่มขึ้นที่บริเวณด้านตะวันตกดังปรากฏความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า “...เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร...”

          เส้นทางที่จะออกไปสู่เขตอรัญญิกจักต้องผ่านประตูเมืองด้านตะวันตกที่ชื่อว่า ประตูอ้อ นับว่าเป็นเส้นทางสำคัญ เพราะนอกจากพ่อขุนรามคำแหงจะทรงเสด็จขึ้นไปไหว้พระบนเขาตะพานหิน ตามเส้นทางนี้แล้ว พระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งผนวชแล้วมาจำพรรษาที่วัดป่ามะม่วง ตลอดจนสมเด็จพระสังฆราชจากลังกาที่มาเผยแพร่ศาสนาที่สุโขทัย ก็ทรงใช้เส้นทางและมีกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับ พื้นที่เขตอรัญญิกอีกด้วย

          โบราณสถานที่สำคัญนอกเขตกำแพงเมืองด้านตะวันตก ได้แก่

วัดสะพานหิน


          เป็นวัดตั้งอยู่บนเนินเขาที่มีความสูง ๒๐๐ เมตร ชื่อวัดเรียกตามลักษณะทางที่ปูลาดด้วยหินจากตีนเขาขึ้นไปเป็นระยะทาง ๓๐๐ เมตร สิ่งสำคัญในวัดมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่น่าจะตรงกับที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวถึงเมืองสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า  “...ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารศอันณึ่งลุกยืน...”  และน่าจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อรูจาคีรีเพื่อไปนบพระในวัดนี้ทุกวันข้างขึ้นและแรม ๑๕ ค่ำ

วัดเขาพระบาทน้อย

          อยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกห่างจากประตูอ้อประมาณ ๒.๗ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ทรงจอมแห มีคูหาพระพุทธรูป ๔ ทิศ องค์ระฆังมีรอยเป็นริ้ว ๆ ลักษณะเหมือนการตากแห ซึ่งพบเพียงองค์เดียวในเมืองสุโขทัย

          ด้านหน้าเจดีย์ทรงจอมแหมีวิหาร ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ๔ รอย (ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง) นอกจากนี้ยังมีกุฏิสงฆ์สำหรับวิปัสสนา และฐานเจดีย์ศิลาแลงขนาดใหญ่

วัดป่ามะม่วง

          จารึกสมัยสุโขทัยหลายหลักกล่าวถึงป่ามะม่วง ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเมืองสุโขทัย มีจารึกหลักที่ ๖ ค้นพบในวัดป่ามะม่วง พูดถึงความสำคัญของวัดนี้ว่าพระมหาธรรมราชาลิไททรงออกผนวช เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ ในวัดป่ามะม่วงปัจจุบันประกอบด้วยอุโบสถและเจดีย์ต่าง ๆ และอยู่ไม่ไกลจากเทวาลัย  มหาเกษตร ซึ่งเป็นที่ที่พบเทวรูปสำริดศิลปะสุโขทัยอันเป็นรูปเคารพในศาสนาฮินดู อาทิ พระนารายณ์ พระศิวะ และพระพรหม

เทวาลัยมหาเกษตร


          ชื่อ เทวาลัยมหาเกษตร พบอยู่ ในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงของพระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งทำเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ กล่าวถึง พระมหาธรรมราชาลิไททรงประดิษฐานรูปพระอิศวร และรูปพระนารายณ์ไว้ที่เทวาลัยมหาเกษตร ในป่ามะม่วงนี้เพื่อเป็นที่สักการะ บูชาของพวกดาบสและพราหมณ์ทั้งหลาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๘๙๒

          รูปพระอิศวรและพระนารายณ์ตามที่กล่าวนี้ เชื่อกันว่าตรงกับกลุ่มประติมากรรมลอยตัวเทวรูปสำริด นุ่งผ้าและสวมเครื่องประดับอย่างที่เรียกว่าทรงเครื่อง คือมีเครื่องประดับรัดต้นแขนและรัดเกล้า ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครหลายองค์ องค์ที่มีขนาดใหญ่นั้นคือ พระอิศวร สูง ๓.๐๘ เมตร และพระนารายณ์ สูง ๒.๖๗ เมตร

          ตัวโบราณสถานที่ประดิษฐานเทวรูปเหล่านี้ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังก่อด้วยอิฐ ทั้งผนังและเสามณฑปมีขนาดใหญ่หันหน้าสู่ทิศตะวันออก


วัดมังกร

          ตั้งอยู่บริเวณสามแยกทางไปเขตอรัญญิกและสรีดภงส์   ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้คือ กำแพงแก้วก่อด้วยอิฐ  ประดับซี่ลูกกรงด้วยเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ  และยังพบประติมากรรม มกรดินเผาเคลือบแบบเครื่องสังคโลกด้วย  ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดแห่งนี้    ภายในกำแพงวัดประกอบด้วยฐานโบสถ์ที่มีมุขยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง  มีใบเสมาหินชนวนปักล้อมรอบ  เจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ส่วนยอดได้พังทลายอยู่ทางด้านทิศเหนือของอุโบสถ  มีฐานวิหาร และยังมีเจดีย์รายอีกหลายองค์   นอกจากนี้ยังมีเจดีย์รายที่ตั้งอยู่ภายนอกกำแพงด้วย

วัดเขาพระบาทใหญ่

          อยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนเขาพระบาทใหญ่ติดกับสรีดภงส์ โบราณสถานประกอบด้วย ซากวิหารก่อด้วยอิฐและหิน วัดเขาพระบาทใหญ่เคยเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๐๒ ปัจจุบันนำมาประดิษฐานที่วัดตระพังทอง ข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง

 

สรีดภงส์


          ทิศตะวันตกของเมืองมีเทือกเขาประทักษ์ทอดตัวยาวเป็นฉากหลังให้กับเมืองเป็นอย่างดีนั้น เป็นแหล่งที่อุดมด้วยพืชพรรณไม้ต่างๆ รวมทั้งพืชสมุนไพร และเป็นพื้นที่เปรียบเสมือนหลังคาที่สามารถรองรับน้ำฝนได้อีกด้วย จากความชาญฉลาดของคนสุโขทัยในอดีตจึงรู้จักสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดใหญ่ในระหว่างหุบเขากิ่วอ้ายมาถึงเขาพระบาทใหญ่อันเป็นที่รวมของน้ำจากโซกต่าง ๆ ตามบริเวณเขาถึง ๑๗ โซกเป็นคันดินสำหรับผันแปรทิศทางของน้ำ ที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าคือสรีดภงส์ที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกที่ ๑ น้ำจาก สรีดภงส์ถูกระบายไปตามคลองเสาหอ เพื่อเข้าไปใช้อุปโภคบริโภคในเมือง โดยระบายเข้าสู่เมืองตรงมุมตะวันตกเฉียงใต้ สรีดภงส์ในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยกรมชลประทานร่วมกับกรมศิลปากร ให้มีความสูงและแข็งแรงกว่าเดิมสำหรับใช้กักเก็บน้ำ มีความสูงประมาณ ๑๐ เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร

 

          นอกจากนี้ยังมี พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงและหอพระพุทธสิริมารวิชัย  ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่  แต่ก็มีคุณค่าและความสำคัญเช่นเดียวกันกับโบราณสถานต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

(จำนวนผู้เข้าชม 29166 ครั้ง)