...

เมืองชากังราวในกฎหมายตราสามดวงสมัยอยุธยา
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เมืองชากังราวในกฎหมายตราสามดวงสมัยอยุธยา
...
พระวินิจฉัยในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่าเมืองชากังราวคือเมืองกำแพงเพชร และเป็นความเชื่อที่แพร่หลายในปัจจุบัน ทั้งนี้จากเอกสารต่าง ๆ ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งของเมืองชากังราวได้แน่ชัด อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบหลักฐานชั้นรองหรือทุติยภูมิ (secondary source) ซึ่งหมายถึงหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ไม่ได้เกิดขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้น ๆ ปรากฏชื่อ “ชากังราว” อยู่ติดกับคำว่า “กำแพงเพชร” ในกฎหมายตราสามดวง (พ.ศ. 1899 รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง)
..
กฎหมายตราสามดวง คือ ประมวลกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายเก่าที่มีมาแต่ครั้งโบราณแล้วรวบรวมเป็นประมวลกฎหมาย เมื่อ พ.ศ. 2347 โดยประทับดวงตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว ไว้เป็นสำคัญจึงเรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” ดังความในประกาศพระราชปรารภของกฎหมายตราสามดวงว่า
.
“...ศุภมัศดุ 1166 (พ.ศ. 2347) ...จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จัดข้าทูลลอองทุลีพระบาท ที่มีสติปัญญยได้...ชำระ พระราชกำหนดบทพระอายการอันมีอยู่ในหอหลวงตั้งแต่พระธรรมสาตรไปให้ถูกถ้วนตามบาฬีแลเนื้อความมิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกันได้ จัดเปนหมวดเปนเหล่าเข้าไว้ แล้วทรงพระอุสาหทรงชำระดัดแปลงซึ่งบทอันวิปลาดนั้นให้ชอบโดยยุติธรรมไว้ ด้วยพระไทยทรงพระมหากรรุณาคุณจให้เปนประโยชน์แก่กระษัตรอันจดำรงแผ่นดินไปในภายหน้าครั้นชำระแล้วให้อาลักษณชุบเส้นมึก สามฉบับไว้ห้องเครื่องฉบับหนึ่ง ไว้หอหลวงฉบับหนึ่ง ไว้ณสานหลวงสำหรับลูกขุนฉบับหนึ่ง ปิดตรา พระราชสีห พระคชสีห บัวแก้ว ทุกเล่มเปนสำคัญ ถ้าพระเกษม ไกรสี เชิญพระสมุดพระราชกำหนดบทอายการออกมาพิภากษากิจคดีใดใด ลูกขุนทั้งปวงไม่เหนปิดตราพระราชสีห พระคชสีห บัวแก้ว สามดวงนี้ไซ้ อย่าให้เชื่อฟังเอาเปนอันขาดทีเดียว...”
.
ตราทั้งสามดวงนั้น ในบทพระธรรมนูญได้กล่าวถึงการใช้ตราประจำตำแหน่งหน้าที่ของขุนนางและเสนาบดีจตุสดมภ์ทั้งหลายว่า ตราพระราชสีห์ ประจำตำแหน่งกรมมหาดไทย เจ้าพระยาจักรีเป็นผู้ถือตรา ตราพระคชสีห์ ประจำตำแหน่งกรมพระกลาโหม เจ้าพระยามหาเสนาธิบดีเป็นผู้ถือตรา และตราบัวแก้ว ประจำตำแหน่งกรมพระคลัง เจ้าพระยาศรีธรรมราชเป็นผู้ถือตรา
..
ในพระอัยการลักษณะลักพาของกฎหมายตราสามดวงเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานลักพาเอาข้าคน ลูกเมีย ทาส ของผู้อื่นไปในลักษณะต่าง ๆ โดยปรากฏข้อความกล่าวถึงชื่อเมือง “ชาวดงราวกำแพงเพชร” ไว้คู่กัน ความว่า
.
“...ศุภมัศดุ 1899 (พ.ศ. 1899) มแมนักสัตวเดือนอ้ายขึ้นเจดค่ำพุทธวารปริเฉทกาลกำหนด จึ่งนายสามขลาเสมิยนพระสุภาวะดีบังคมทูลแต่สมเดจ์พระเจ้ารามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราชบรมพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวประสงด้วยข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายแลมีผู้เอาไปถึงเชลียงศุกโขไททุ่งย้างบางยมสองแก้วสหลวงชาวดงราวกำแพงเพช เมืองท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดั่งนี้ แลมีผู้เอาทาษเอาไพร่ท่านมาขายแลเจ้าทาษเจ้าไพร่แห่งพระนครศรีอยุธยาพบแลมากล่าวพิภาษว่า ให้ผู้ไถ่ไปไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายนั้นคืน...มีพระราชโองการพิพากษาด้วยพฤฒามาตราชมลตรีทังหลายว่าขายกันแต่ในพระนครศรีอยุธยาดั่งนี้ แลสูจะบังคับให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายสิยังยาก อย่าว่าข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายแลเขาลักไปขายถึงเชลียงทุ่งย้างบางยมสหลวงสองแก้วชาวดงราวกำแพงเพชศุกโขไทใตล่าฟ้าเขียว...จะมาพิภาษฉันเมืองเพชบุรียเมืองราชบุรียเมืองสุพรรณบุรีย สพงครองพลับแพรกศรีราชาธิราชนครพรหมนั้นมิชอบเลย...จะให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายฉันขายกันในพระนครศรีอยุทธยานั้นมิได้เลย ผี้แลผู้ใดมิทำตามพระราชกฤษฎีกานี้ไซ้ ผู้นั้นเลมิดพระราชอาชา ให้ไหมโดยยศถาศักดิ...”
.
ความส่วนหนึ่งในพระอัยการลักษณะลักพาข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่เสมียนสุภาวดีทูลถามข้อปฏิบัติต่อพระเจ้าแผ่นดินถึงกรณีการลักพาข้าบริวารไปถึงเมือง “เชลียงศุกโขไททุ่งย้างบางยมสองแก้วสหลวงชาวดงราวกำแพงเพช” และพระราชโองการตัดสินโทษ หากพิจารณาจากลำดับชื่อเมืองที่ถูกอ้างถึงจำนวนสองครั้งในข้อความ ไม่ได้ปรากฏการเรียงลำดับแบบเดียวกันทั้งสองครั้ง แสดงให้เห็นว่า ชื่อ “ชากังราว” ที่อยู่ติดกับคำว่า “กำแพงเพชร” นั้น ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดถึงการเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กัน หรือเป็นชื่อเมืองเดียวกันแต่อย่างใด นอกจากนี้ชื่อเมืองที่ถูกกล่าวถึงอาจเป็นเพียงการสื่อถึงกลุ่มเมืองในการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยอันห่างไกลจากอาณาจักรอยุธยาเท่านั้น
...
เอกสารอ้างอิง :
กฤษฎา บุณยสมิต. (2565). กฎหมายตราสามดวง. ใน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 30 (พิมพ์ครั้งที่ 9). (หน้า 99-127). โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.
กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. (2542). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรมศิลปากร.
ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา 3 ดวง เล่ม 1 (2482). มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.
ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา 3 ดวง เล่ม 2 (2482). มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.
ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2559). โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทยฉบับคู่มือครูสังคมศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 2). คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง.
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. ราชบัณฑิตยสถาน.
สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. (2546). ประชุมประกาศตราประจำตำแหน่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรมศิลปากร.











(จำนวนผู้เข้าชม 47 ครั้ง)


Messenger