...

ปั้นลมสังคโลกที่วัดตะแบกคู่ เมืองกำแพงเพชร
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
ปั้นลมสังคโลกที่วัดตะแบกคู่ เมืองกำแพงเพชร
..
ป้านลม ตามความหมายในศัพทานุกรมโบราณคดีหมายถึง แผ่นไม้ที่ประกอบเข้ากับแปปิดตามแนวลาดของหัว-ท้าย เครื่องมุงหลังคา เรือนไทย ทำหน้าที่ป้องกันลมมิให้พัดเครื่องมุงหลังคาหลุดปลิวไป ในบางครั้งเรียกว่า “ปั้นลม”
.
ปั้นลมที่พบจากการดำเนินการทางโบราณคดีวัดตะแบกคู่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองกำแพงเพชร เป็นผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาเมืองสุโขทัย ขึ้นรูปด้วยมือ ทาน้ำเคลือบสีขาว เขียนลายสีน้ำตาลใต้เคลือบใส รูปทรงสามเหลี่ยม ทำลายกระหนกบริเวณขอบ บริเวณตรงกลางทำรูปบุคคล (รูปเทพนม) ลักษณะสวมเครื่องประดับ ประนมมือบริเวณอก ส่วนหัวหักหาย และวาดลวดลายดอกไม้สันนิษฐานว่าเป็นดอกโบตั๋นตรงกลางหนึ่งดอกท่ามกลางพันธุ์พฤกษา ทำลายกระหนกโดยรอบดอกไม้ และบริเวณกรอบของปั้นลมเหนือรูปเทพพนมตามลำดับ มีขนาดกว้าง 40 เซนติเมตร สูง 66 เซนติเมตร และหนาประมาณ 3 เซนติเมตร
..
จากการศึกษาพบปั้นลมลายรูปเทพนมจากการดำเนินการทางโบราณคดีในเมืองสุโขทัยที่วัดกำแพงแลง ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร และที่วัดป่ามะม่วง ซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง นอกจากนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหงยังจัดแสดงปั้นลมลายเทพนมที่พบภายในเมืองสุโขทัย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21
.
“เทพนม” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานพุทธศักราช 2554 หมายถึง ชื่อภาพเทวดาครึ่งตัวประนมมือ สำหรับการทำศิลปกรรมลายเทพนมมาประดับหลังคาเหนือที่ประดิษฐานรูปพระพุทธเจ้านั้น นาย ประทีป เพ็งตะโก อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้สันนิษฐานไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา ว่าอาจเป็นการแสดงการสักการะพระพุทธเจ้าของเหล่าเทพ
นอกจากปั้นลมแล้วยังพบลายเทพนมในงานศิลปกรรมอื่น เช่น
.
งานจิตรกรรม ลายเทพนมในพุ่มข้าวบิณฑ์บริเวณหน้าต่างอุโบสถ วัดดวงแข กรุงเทพมหานคร
.
งานประดับสถาปัตยกรรม พบบริเวณหน้าบัน บันแถลง ประตู หน้าต่างของโบราณสถาน เช่น ลายปูนปั้นรูปเทพนมประดับปรางค์วัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก
.
ดอกโบตั๋นนั้น พบหลักฐานการนำลายนี้มาประยุกต์ตกแต่งในศิลปกรรมจีนในช่วงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161-1450) ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ. 1822-1911) จึงมีการผลิตเครื่องลายครามเป็นสินค้าส่งออกมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงดินแดนไทย โดยลายดอกโบตั๋นนั้น คาดว่ามีคติความเชื่อในการเป็นสัญลักษณ์มงคลแทนความมั่งคั่งร่ำรวย มีอำนาจ และเกียรติยศ ส่วนในวัฒนธรรมสุโขทัย - อยุธยา พบการนำลายดอกโบตั๋นมาประดับสถาปัตยกรรม เช่น ลายปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรมที่วัดศรีสวาย เมืองสุโขทัย และวัดนางพญา เมืองศรีสัชนาลัย รวมถึงการนำลายดอกโบตั๋นมาประดับตกแต่งในการผลิตถ้วยชามสังคโลก
..
หลักฐานทางโบราณคดีในเมืองกำแพงเพชรนั้นพบการนำลายเทพนมมาตกแต่งบนกระเบื้องเชิงชายดินเผาที่วัดช้างรอบ (กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 21-22) และดินเผาประดับสถาปัตยกรรมลายเทพนม อีกทั้งยังพบใบเสมาหินชนวนจากวัดพระนอน (กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 21) ที่แกะสลักลวดลายเทพนมผุดขึ้นมาจากดอกไม้ และปรากฏลายดอกไม้คล้ายรูปดอกโบตั๋นบริเวณส่วนยอดของใบเสมา พร้อมทั้งมีการประดับกรอบใบเสมาด้วยลายกระหนก ซึ่งมีลักษณะการตกแต่งคล้ายกับปั้นลมที่พบในวัดตะแบกคู่ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
.
การกำหนดอายุด้วยวิธีการเปรียบเทียบจากหลักฐานที่พบจึงสันนิษฐานว่า ปั้นลมที่พบในวัดตะแบกคู่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 และมีการติดต่อสัมพันธ์โดยตรงกับเมืองสุโขทัยด้านการนำผลิตภัณฑ์สังคโลกมาใช้ประดับสถาปัตยกรรมเนื่องในพุทธศาสนาของเมืองกำแพงเพชรด้วย
..
เอกสารอ้างอิง
กฤษฎา พิณศรี, ปริวรรต ธรรมาปรีชากร, และอุษา ง้วนเพียรภาค. (2535). เครื่องถ้วยสุโขทัย : พัฒนาการ
ของเครื่องถ้วยไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท โอสถสภา(เต๊กเฮงหยู) จำกัด.
ประทีป เพ็งตะโก. (2540). กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และคณะ. (2539). ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ:
บริษัท โอสถสภา จำกัด.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช 2554. กรุงเทพฯ:
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. (2550). ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
อาสา ทองธรรมชาติ. (2557). ที่มาและพัฒนาการของลายดอกโบตั๋นในงานศิลปกรรมไทย. วิทยานิพนธ์
ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.











(จำนวนผู้เข้าชม 94 ครั้ง)


Messenger