...

การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงปราสาทยอด วัดพระสี่อิริยาบถ เมืองกำแพงเพชร กับเจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย
การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงปราสาทยอด วัดพระสี่อิริยาบถ เมืองกำแพงเพชร กับเจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย
.
วัดพระสี่อิริยาบถเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนอกเมืองกำแพงเพชร สิ่งก่อสร้างสำคัญที่เป็นแกนหลักของวัดประกอบด้วยวิหาร ด้านหลังวิหารคือมณฑปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว
รอบมณฑปประธานวัดพระสี่อิริยาบถพบโบราณสถานที่คาดว่าเป็นเจดีย์ราย จำนวน 16 องค์ และเป็นที่น่าสังเกตว่าเจดีย์ประจำมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑปประธาน มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด จึงทำการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์รายดังกล่าวกับเจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย
..
เจดีย์ทรงปราสาทยอด มีความหมายตามศัพทานุกรมทางโบราณคดีหมายถึง เจดีย์ทรงปราสาทที่มีส่วนสำคัญ คือ เรือนธาตุต่อด้วยยอดทรงกรวยรูปแบบต่างๆ กันตามความนิยมของแต่ละพื้นที่ ในแต่ละยุคสมัย
.
เจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบสุโขทัย ตามคำนิยามของ ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีเรือนธาตุและยอดเป็นเจดีย์ มีส่วนสำคัญคือ เหนือเรือนธาตุจะมีเรือนชั้นซ้อนตั้งแต่ 2-4 ชั้น ประดับกลีบขนุน และประดับกรอบซุ้มหน้านาง ที่ส่วนกลางในแต่ละชั้น สันนิษฐานว่าปรับปรุงรูปแบบมาจากปราสาทเขมรคือ การมีเรือนชั้นซ้อน โดยเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบสุโขทัย ไม่มีช่องวิมานและบรรพแถลง ทำแต่เพียงกรอบซุ้มไว้ที่กลางชั้นแต่ละชั้น และดัดแปลงร่วมกับแนวความคิดของเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบพุกาม และล้านนาคือการทำกรอบซุ้มฝักเพกา ในขณะที่เจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบสุโขทัยทำกรอบซุ้มหน้านาง
.
ศาสตราจารย์ ดร. สันติ เล็กสุขุม อธิบายว่า ปราสาท หมายถึงรูปแบบเรือนที่มีหลายชั้นซ้อนกัน (ชั้นซ้อน) หรือที่มีหลังคาหลายชั้นซ้อนลดหลั่นกัน (หลังคาซ้อน) สำหรับเจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัยมีลักษณะบางประการคล้ายเจดีย์ทรงปรางค์ของอยุธยา เพราะต่างได้รับแรงบันดาลใจมาจากปราสาทเขมร เพียงแต่บริเวณส่วนยอดของเจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัยซ้อนกันน้อยชั้น และเรียบง่ายกว่า ไม่พบหลักฐานชัดเจนว่าสร้างเป็นประธานของวัดในสมัยสุโขทัย เช่น เจดีย์บริวารประจำทิศตะวันออก วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย
.
เจดีย์ทรงปราสาทแบบอื่นที่สร้างในศิลปะสุโขทัย อันได้รับแรงบันดาลใจจากเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบล้านนาโดยตรง หรือจากศิลปะพุกาม ตัวอย่างเช่น เจดีย์ราย วัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย
..
วัดเจดีย์เจ็ดแถว ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย เจดีย์ประธานเป็นทรงดอกบัวตูม และมีเจดีย์รายรวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่าง ๆ กัน 33 องค์ โดยตัวอย่างเจดีย์รายที่นำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ เจดีย์ประจำทิศใต้ มีลักษณะฐานบัวชั้นแรกประดับท้องไม้ด้วยเสาอิงเป็นระยะจนเกิดเป็นช่องสี่เหลี่ยม ต่อด้วยฐานสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวย่อมุมไม้ยี่สิบสองชั้น โดยฐานบัวชั้นล่างปรากฏร่องรอยปูนปั้นแสดงลักษณะฐานบัวลูกฟัก ต่อจากฐานบัวเป็นเรือนธาตุ 1 ชั้น ปรากฏซุ้มคูหาและบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออก ส่วนด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ทำซุ้มประตูหลอก ประดับกรอบซุ้มหน้านาง ต่อจากเรือนธาตุเป็นฐานกลมสองชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวถลาซ้อนกันสามชั้นและองค์ระฆัง ตามลำดับ
.
เจดีย์รายมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑปประธานวัดพระสี่อิริยาบถ เมืองกำแพงเพชร มีลักษณะฐานเขียงวางตัวซ้อนกันสามชั้นในผังสี่เหลี่ยม ถัดจากฐานเขียงขึ้นมาสันนิษฐานว่าเป็นเรือนธาตุปรากฏซุ้มคูหาและบันไดทางขึ้นทางด้านทิศเหนือ ไม่เหลือร่องรอยการตกแต่งหรือทำเรือนชั้นซ้อนบริเวณกรอบซุ้มดังกล่าว ถัดขึ้นไปเป็นบัวถลาซ้อนกันสามชั้น พบบัวปากระฆังและองค์ระฆังบางส่วนตามลำดับบริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
..
จากลักษณะดังกล่าวเจดีย์รายที่มณฑปประธานวัดพระสี่อิริยาบถมีลักษณะคล้ายคลึง และแตกต่างกับเจดีย์ประจำทิศใต้ของเจดีย์ประธาน วัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย ดังนี้
.
ความเหมือน :
1. ฐานอยู่ในผังสี่เหลี่ยม
2. มีเรือนธาตุและกรอบซุ้มหนึ่งชั้น และ บันไดทางขึ้นสู่เรือนธาตุ
3. ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานบัวถลาซ้อนกันสามชั้น
.
ความแตกต่าง :  
วัดพระสี่อิริยาบถ (เมืองกำแพงเพชร) วัดเจดีย์เจ็ดแถว (เมืองศรีสัชนาลัย)
- ไม่พบฐานบัวรองรับเรือนธาตุ  - ปรากฏฐานบัว และร่องรอยฐานบัวลูกฟัก
- ผนังเรียบก่อด้วยศิลาแลง ไม่ทราบการตกแต่งโดยรอบเรือนธาตุแน่ชัด เนื่องจากการหลุดร่อนของปูนปั้น  - เรือนธาตุทำซุ้มประตูหลอกในด้านทั้งสามที่เหลือ
- ฐานบัวรองรับซุ้มคูหามีลักษณะยื่นออกมาจากฐานเขียงเพียงด้านเดียว  - ปรากฏฐานรองรับซุ้มคูหาในลักษณะย่อมุม
 เมืองกำแพงเพชรปรากฏชื่อในจารึกสมัยสุโขทัยครั้งแรกในศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร พุทธศักราช 1940 ในฐานะเมืองบริวารร่วมกับเมืองศรีสัชนาลัย ดังข้อความ
 จารึกกฎหมายลักษณะโจร ด้านที่ 1 “...พระองค์ท่านเสด็จในกำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ ด้วยพระราชศฤงคารบริพารพลแลจตุรงคนิกร ธารลำน้ำพระยาพังเกษตร สคาบุรีพระยาพัง ศรีสัชนาลัยบุรีพระยาพังไทวยนทีศรียมนาพี่พระยาทานพังนครไทยแล...พระราชโองการบรมเอาฬารหนักหนาจึงท่านให้ตราพระราชปรชญบติ...ให้ลูกขุนมูลตวานบริวารไพร่ฟ้าทั้งหลาย ถ้วนเมืองเล็กเมื(องใหญ่)...ราชสีมาทั้งหลายนี้ไซร้ กลางเมืองสุโขทัยอันเป็นประธาน กึ่งในเมื(อง)...ทํเนปรเชลียง กำแพงเพชร ทุ่งย้างปากยม สองแคว...”
ส่วนวัดเจดีย์เจ็ดแถวมีอายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 - พุทธศตวรรษที่ 20 ตัวอย่างการกำหนดอายุเช่น เจดีย์ประธานทรงยอดดอกบัวตูม ซึ่งเป็นเจดีย์รูปแบบเดียวกับเจดีย์ประธานวัดอโสการามที่พบจารึกกล่าวถึงสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ พระอัครมเหสี สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ทรงมีพระราชศรัทธาประดิษฐานพระสถูปไว้ในวัดอโสการาม โดยจารึกระบุปีพุทธศักราช 1956
 วัดพระสี่อิริยาบถสามารถกำหนดอายุได้จากการพบแผ่นจารึกลานเงินเสด็จพ่อพระยาสอย ที่ระบุว่าจารขึ้นเมื่อพุทธศักราช 1963 กล่าวถึง สมเด็จพ่อพระยาสอยได้เสวยราชย์ที่บุรีศรีกำแพงเพชร และสมเด็จพระมหามุนีรัตนโมลีฯ ได้ประดิษฐานผอบพระรัตนธาตุเจ้า
ดังนั้นการที่ส่วนประกอบหลักของรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏความคล้ายกันระหว่างเจดีย์ราย วัดพระสี่อิริยาบถ และเจดีย์ประจำทิศใต้ วัดเจดีย์เจ็ดแถว อันได้แก่ ส่วนฐานวางตัวในผังสี่เหลี่ยม มีเรือนธาตุและกรอบซุ้มหนึ่งชั้น พร้อมบันไดทางขึ้น และ ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานบัวถลาซ้อนกันสามชั้น สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากอายุสมัยแห่งการก่อสร้างวัดทั้งสองแห่งที่อยู่ร่วมสมัยกันในฐานะเมืองบริวารของอาณาจักรสุโขทัย
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, 2548.
กรมศิลปากร. รายงานการศึกษาและสำรวจโบราณสถานภายในเขตกำแพงเมือง. งานจัดทำแผนแม่บทโครงการอุทยาน
ประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย, ม.ป.ป. เอกสารอัดสำเนา.
คณะกรรมการดำเนินงานจัดทำศัพทานุกรมด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ :
สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.
นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์, ธาดา สังข์ทอง และอนันต์ ชูโชติ ; ผู้แปลภาษาอังกฤษ, นันทนา ตันติเวสสะ และ สุรพล นาถะพินธุ.
นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (Guide to Sukhothai Si Satchanalai and Kamphaeng Phet historical parks) (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2542.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการ และพลังศรัทธา. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2560.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2561.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึก และศิลปกรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์สมาพันธ์, 2563.
สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ : มติชน,
2553.
ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. รายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถาน
ศรีสัชนาลัย (เล่มที่ 1). ม.ป.ท., 2549.













(จำนวนผู้เข้าชม 590 ครั้ง)


Messenger