...

ร่องรอยการใช้วัสดุประเภทปูนที่โบราณสถานวัดสิงห์
ร่องรอยการใช้วัสดุประเภทปูนที่โบราณสถานวัดสิงห์
ปูน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานสถาปัตยกรรมโบราณที่นำมาใช้ในกระบวนการก่อสร้าง เช่น ใช้เป็นวัสดุเชื่อมประสานในการก่อหรือสอให้วัสดุ เช่น อิฐ ศิลาแลง เชื่อมติดกัน เพื่อเป็นสิ่งก่อสร้าง เช่น ผนัง กำแพง ให้มีความมั่นคงของโครงสร้างมากขึ้น หรือใช้เป็นวัสดุสำหรับการฉาบวัสดุอื่นเพื่อให้ผิวชั้นนอกเกิดความเรียบ หรือใช้สำหรับเป็นวัสดุสรรค์สร้างลวดลายต่าง ๆ ประดับตกแต่งอาคาร
.
คำว่า “ปูน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช 2554 หมายถึง หินปูน หรือเปลือกหอยเมื่อถูกเผาจนสลายตัว ตัวอย่างคำที่เกี่ยวข้อง เช่น ปูนดิบ หมายถึง ปูนที่ได้จากการเผาหินปูนหรือเปลือกหอยจนสลายตัว ปูนสุก หมายถึง ปูนดิบที่ถูกความชื้นในอากาศหรือพรมน้ำแล้วแตกละเอียดเป็นผงขาวสำหรับฉาบทาฝาผนัง ปูนปั้น ใช้เรียกลวดลายประดับตามอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่ทำจากปูน เป็นต้น
.
วัดสิงห์เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนอกเมืองกำแพงเพชร ภายในวัดพบหลักฐานการนำปูนมาใช้ประกอบงานสถาปัตยกรรมจากภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 จากรายงานการดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดี และการสำรวจเก็บข้อมูลในปัจจุบัน
..
จากการดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีเมื่อปีพุทธศักราช 2525 พบโกลนศิลาแลงรูปนาค ลักษณะเป็นนาคห้าเศียรแบ่งได้สองแบบ คือ นาคห้าเศียรมีหงอนด้านบน และนาคห้าเศียรแผ่แม่เบี้ยไม่มีหงอน พบโกลนศิลาแลงรูปทวารบาล ลักษณะเป็นส่วนขาและส่วนฐาน โกลนที่ด้านล่างของทั้งรูปนาคและทวารบาลนั้นมีลักษณะทำเป็นเดือยเพื่อสวมกับแท่นรองรับ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนปูนปั้นส่วนต่าง ๆของสิงห์ เช่น เล็บเท้า และเครื่องประดับข้อเท้า และ ปูนปั้นบัวหัวเสา
..
จากการสำรวจภายในพื้นที่พบปูนฉาบหรือปูนตกแต่งที่เสาอาคาร และบริเวณโดยรอบเจดีย์ประธาน ปูนฉาบอาคารมีลักษณะเป็นปูนผสมทรายขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.1-0.5 เซนติเมตร ความหนาโดยรวมประมาณ 1-3 เซนติเมตร และ ปูนตกแต่งเจดีย์ประธานลักษณะเป็นปูนผสมทรายเม็ดละเอียดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.1 เซนติเมตร มีรายละเอียด ดังนี้
 - อุโบสถ พบปูนฉาบบริเวณเสารองรับหลังคา และเสาบริเวณบันไดทางขึ้นอาคาร มีความหนาประมาณ 2 เซนติเมตร
 - เจดีย์ประธาน พบปูนฉาบบริเวณผนังด้านทิศตะวันตกของซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทางด้านทิศเหนือปรากฏร่องรอยการฉาบผนังด้านนอกมากกว่าหนึ่งครั้ง โดยปูนฉาบที่หลงเหลืออยู่มีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร บริเวณฐานบัวส่วนหน้ากระดานมีความหนา 2 เซนติเมตร ส่วนบัวคว่ำหนาประมาณ 7-9 เซนติเมตร และฐานเขียงมีความหนา 3 เซนติเมตร
 - ศาลาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกำแพงแก้ว พบปูนฉาบบริเวณเสารองรับหลังคา ปรากฏร่องรอยการฉาบมากกว่าหนึ่งครั้ง โดยปูนฉาบที่หลงเหลืออยู่มีความหนาประมาณ 0.3-1 เซนติเมตร
 - ศาลาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกเขตกำแพงวัด พบปูนฉาบบริเวณเสารองรับหลังคา มีความหนาประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร
.
ปูนปั้นที่พบในวัดสิงห์นั้นเป็นชิ้นส่วนขาของสิงห์พร้อมเครื่องประดับข้อเท้าลายเม็ดไข่ปลา มีความหนาประมาณ 2 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังพบโกลนศิลาแลงรูปทวารบาล และนาคห้าเศียร โดยปรากฏภาพประติมากรรมประเภทเดียวกันนี้ในภาพถ่ายเก่าครั้งสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ (เสด็จประพาสต้น) ในปี พุทธศักราช 2449 อีกทั้งยังพบชิ้นส่วนปูนปั้นรูปใบหน้าสิงห์ และโกลนรูปนาคจากการดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีที่วัดสิงห์ดังกล่าว อันเป็นหลักฐานแสดงถึงการมีอยู่ของประติมากรรมปูนปั้นบริเวณด้านหน้าอุโบสถ
..
ทวารบาล หมายถึง นายประตูหรือผู้ปกปักรักษาประตู ไม่ให้สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งชั่วร้ายผ่านไปสู่พื้นที่ด้านหลังบานประตูนั้นได้ ศาสนสถานเปรียบเสมือนที่ประทับแห่งเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างรูปทวารบาลของศาสนสถานที่ดูน่าเกรงขามหรือทำให้เชื่อว่าป้องกันสิ่งที่ชั่วร้ายได้ และอำนวยพรแก่ผู้มาสักการะให้รู้สึกปลอดภัย จึงปรากฏการสร้างประติมากรรมรูปบุคคล และรูปสัตว์ บริเวณทางเข้าหรือประตูเพื่อเป็นทวารบาลในการปกป้องและคุ้มครองศาสนสถานแห่งต่าง ๆ
.
สิงห์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช 2554 หมายถึง สัตว์ในนิยาย ถือว่ามีความดุร้าย และมีกำลังมาก มีที่มาจากสิงโตซึ่งเป็นสัตว์ในท้องถิ่นของประเทศอินเดีย เป็นตัวแทนของราชาแห่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นสัญลักษณ์แห่งกษัตริย์ เนื่องจากพระพุทธเจ้าเคยเป็นบุคคลในวรรณะกษัตริย์ สิงห์จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง ดังนั้นจึงปรากฏประติมากรรมรูปสิงห์ในฐานะทวารบาลบริเวณทางเข้าของศาสนสถาน
.
นาค ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช 2554 หมายถึง สัตว์ในนิยายโบราณ รูปร่างคล้ายงูแต่หัวมีหงอน ปรากฏในคัมภีร์ทางศาสนาทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ในคัมภีร์ทางศาสนาฮินดูได้กล่าวว่า นาคมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเหล่าเทพเจ้า เช่น นาคเป็นสายยัญชโยปวีตของพระอิศวร นาคเป็นแท่นบรรทมของพระนารายณ์ เป็นต้น ส่วนความสัมพันธ์ของนาคกับศาสนาพุทธนั้น มีที่มาจากเรื่องราวในพุทธประวัติ เช่น พญานาคราชหรือพญามุจลินทร์นาคราชแผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้า
..
จากหลักฐานที่พบจึงสามารถระบุได้ว่าสถาปัตยกรรมของวัดสิงห์มีการฉาบปูน โดยการก่อสร้างอาคาร เจดีย์ สถาปัตยกรรมต่างๆ ด้วยอิฐและศิลาแลงก่อน แล้วจึงใช้ปูนฉาบประดับตกแต่ง และปั้นรูปทรงประติมากรรมประกอบอาคาร
________________________________________
เอกสารอ้างอิง
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2549). ครบ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2549. กรุงเทพฯ: จังหวัดกำแพงเพชร.
ศิลปากร,กรม. (ม.ป.ป.). รายงานการสำรวจ ขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และ กำแพงเพชร  พ.ศ. 2512. สุโขทัยและกำแพงเพชร: กรมการปรับปรุงบูรณะโบราณสถานจังหวัดกำแพงเพชรและสุโขทัย. เอกสารอัดสำเนา.
ศิลปากร,กรม. (2546). ทวารบาลผู้รักษาศาสนสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : บริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช 2554. กรุงเทพฯ: สำนักงานราช บัณฑิตยสภา.
อนันต์ ชูโชติ. (2525). รายงานการขุดแต่งโบราณสถานวัดสิงห์. ม.ป.ท..















(จำนวนผู้เข้าชม 712 ครั้ง)