...

“แวดินเผา” อุปกรณ์การทอผ้าของคนก่อนประวัติศาสตร์
“แวดินเผา” อุปกรณ์การทอผ้าของคนก่อนประวัติศาสตร์

     เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การสวมใส่เสื้อผ้านั้นมีประโยชน์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ในทางตรงเสื้อผ้าสามารถปกป้องร่างกายของเราจากอากาศที่ร้อนหรือหนาว ปกป้องจากแมลงและสัตว์ต่างๆ และปกปิดส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในทางอ้อมเสื้อผ้าเป็นเครื่องแสดงถึงสถานะทางสังคมของผู้สวมใส่ แสดงถึงความนิยมในการแต่งกายของคนในแต่ละยุคสมัยและยังสะท้อนถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตได้ด้วย เสื้อผ้าจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ในทุกยุคสมัย
     ในปัจจุบันเราสามารถหาซื้อเสื้อผ้าได้ตามท้องตลาดและเสื้อผ้าก็มีรูปแบบที่หลากหลาย สาเหตุมาจากคนปัจจุบันมีความสามารถในการผลิตสูง สามารถใช้เครื่องจักรผลิตเสื้อผ้าแทนแรงงานคนได้ แต่ในอดีตการถักทอเสื้อผ้าแต่ละชิ้นจะมาจากฝีมือและแรงงานของคนทั้งสิ้น จากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีทำให้เราทราบว่า มนุษย์สามารถผลิตเสื้อผ้าใช้มานานนับพันปีมาแล้ว  โดยได้มีการค้นพบชิ้นส่วนผ้าที่ติดอยู่บนขวานสำริด อายุราว ๕,๖๐๐ – ๒,๐๐๐ ปี ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้เรายังพบโบราณวัตถุซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการผลิตเสื้อผ้า คือ แวดินเผา
แว (spindle whorl) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการปั่นฝ้ายเพื่อให้เป็นเส้นด้าย แวที่พบจากแหล่งโบราณคดีส่วนใหญ่ทำมาจากดินเผา มีลักษณะครึ่งวงกลมหรือทรงคล้ายกรวยตัดหรือรูปลูกคิด เจาะรูตรงกลางแว เป็นอุปกรณ์สำคัญในการปั่นด้าย โดยจะใช้เป็นตัวถ่วงน้ำหนักเส้นใย เพราะแวจะมีรูตรงกลางสำหรับเสียบแกน ปลายอีกด้านของแกนจะพันเข้ากับเส้นใย เมื่อปั่นแกนให้เกิดแรงเหวี่ยงหมุนรอบตัว แรงเหวี่ยงกับน้ำหนักถ่วงของแกนจะทำให้เส้นใยบิดเป็นเกลียวสม่ำเสมอกลายเป็นเส้นด้าย  แวดินเผาเป็นโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนและกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี, แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว จ.ลพบุรี, แหล่งโบราณคดีบ้ายชัยบาดาล จ.ลพบุรี และแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร เป็นต้น
     สำหรับที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๑๐ หรือเมื่อประมาณ ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว เขาสามแก้วเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีลักษณะเป็นเมืองท่าค้าขายในอดีต ซึ่งพบหลักฐานการติดต่อกับต่างแดนทั้งจากฝั่งตะวันตกและตะวันออก คือ อินเดีย เวียดนาม และจีนตอนใต้ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่แสดงถึงการผลิตลูกปัดหินและแก้ว และพบแวดินเผา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนในชุมชนโบราณเขาสามแก้ว สามารถผลิตเสื้อผ้าใช้ได้เองภายในชุมชนแล้ว ซึ่งวิธีการผลิตนั้นอาจจะมาจากความคิดของคนในชุมชนเอง หรืออาจจะมาจากการติดต่อและรับเอาวิธีการผลิตเสื้อผ้ามาจากต่างแดนก็เป็นได้
อ้างอิง
[1] ศิลปากร, กรม, ศัพทานุกรมโบราณคดี, รุ่งศิลป์การพิมพ์: กรุงเทพฯ, ๒๕๕๐, หน้า ๔๘๑.
[2] อัญชลี สินธุศร และพรพรรณ หงสไกร, คนก่อนประวัติศาสตร์ บนดินแดนไทย, ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์: กรุงเทพฯ, ๒๕๕๒, หน้า ๙๙.  
รูปภาพ
[3]https://upload.wikimedia.org/.../Ancient_Greece_Spinning...
[4]https://nicolarogersarchaeology.com/.../spindle-whorls.../
   



 




(จำนวนผู้เข้าชม 1191 ครั้ง)