...

ส่งเสริมการอ่านผ่าน Facebook กับหอสมุดแห่งชาติชลบุรี แนะนำหนังสือหมวดหมู่ปรัชญา หนังสือปรัชญาสาธารณะ
ส่งเสริมการอ่านผ่าน Facebook กับหอสมุดแห่งชาติชลบุรี
แนะนำหนังสือหมวดหมู่ปรัชญา โดย นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพสาขาวิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ความขัดแย้งและการแบ่งสี แบ่งฝั่งแบ่งฝ่ายของคนไทยในปี พ.ศ. 2558 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ใครหลาย ๆ คนเริ่มรู้สึกกังวลกับการพูดคุยกับเพื่อนร่วมชาติ เนื่องจากเรื่องของการเมืองนั้น ได้กลับกลายเป็นเรื่องอ่อนไหวไปเสียแล้ว มีหลายคนที่ไม่ยอมเปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่าง โดยความคิดทางการเมืองในสถานการณ์ถูกแบ่งออกเป็นสองฟากใหญ่ ๆ อันมีผู้สนับสนุนมากพอกัน
ฝ่ายหนึ่งเชิดชูศีลธรรมแบบ "เสรีประชาธิปไตย" สากล เน้นเรื่องสิทธิของปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ ส่วนอีกฝ่ายเน้นเชิดชู "ศีลธรรมแบบพุทธ" กล่าวคือ เน้นคุณธรรมและจริยธรรมเป็นสำคัญกว่าสิ่งใด โดยการแบ่งฟากฝั่งนี้ พอจะเปรียบได้กับการถกเถียงกันระหว่างปรัชญาสองสำนัก อันได้แก่ "เสรีนิยม" (liberalism) กับ "ชุมชนนิยม" (communitarianism) ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักในหนังสือเล่มนี้ที่ดูเผิน ๆ เหมือนปรัชญาสองสำนักนี้จะเป็น “ขั้วตรงข้าม” ที่ไม่อาจอยู่ร่วมโลกกันได้ ทว่าอาจารย์ไมเคิล แซนเดล ปรมาจารย์ปรัชญาการเมืองชาวอเมริกัน จะพาเราไปสำรวจประวัติศาสตร์ของความคิดที่หล่นหาย ผ่านคำตัดสินของศาลฎีกาอเมริกันในคดีที่เป็นประเด็นสังคมร้อนฉ่า งานของนักเสรีนิยมตกสมัย ทัศนะของนักชุมชนนิยมชั้นนำ จนถึงคำปราศรัยหาเสียงของบรรดานักการเมือง
ทั้งนี้เพื่อพยายามชี้ให้เห็นว่าปรัชญาสองสำนักนี้อาจพบ "จุดร่วม" กันได้ หากแม้นนักเสรีนิยมจะเลิกยืนกรานว่าสิทธิอยู่เหนือความดีในทุกกรณี และนักชุมชนนิยมจะเลิกวางข้อถกเถียงเรื่องสิทธิไว้บนคุณค่าของชุมชนเพียงอย่างเดียว จุดร่วมนี้เองที่อาจารย์หวังว่าจะแผ้วถางทางสู่การเมืองที่เน้นเรื่องความเป็นพลเมือง ชุมชน และสำนึกพลเมืองมากขึ้น รับมือกับคำถามว่าด้วย “ชีวิตที่ดี” อย่างตรงไปตรงมายิ่งกว่าเดิม
ตัวอย่างบทความที่น่าสนใจ : บทที่ 15 เกียรติกับความคับข้องใจ
การเมืองของคนโบราณเน้นเรื่องคุณธรรมและเกียรติ ทว่าคนสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมและสิทธิ สุภาษิตข้อนี้มีความจริงอยู่บางส่วน แต่ก็ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะหากมองอย่างผิวเผิน การถกเถียงทางการเมืองของเราพูดเรื่องเกียรติกันน้อยมาก เกียรติดูจะเป็นความกังวลตกยุคที่เหมาะกับโลกที่ครอบงำโดยสถานะแห่งความเป็นอัศวินและการดวลตัวต่อตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่อยู่ไม่ไกลนักจากพื้นผิว กล่าวคือ การถกเถียงที่ร้อนแรงที่สุดของเราเกี่ยวกับความเป็นธรรมและสิทธินั้น สะท้อนความขัดแย้งฝังลึกเกี่ยวกับฐานคิดที่เหมาะสมในเรื่องการยอมรับจากสังคม (social esteem)
ข้อพิพาทเรื่องการจัดสรรเกียรติยังเป็นพื้นฐานของประเด็นร้อนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมและสิทธิด้วย ลองพิจารณาตัวอย่างจากข้อถกเถียงเรื่องโควตาชนกลุ่มน้อย อันเป็นนโยบายรับเข้าศึกษาของมหาวิทยาลัย ในกรณีนี้ บางคนก็พยายามคลี่คลายประเด็นด้วยการยกข้อโต้แย้งทั่วไปที่ต่อต้านการเลือกปฏิบัติเช่นกัน ฝ่ายผู้สนับสนุนโควต้าเถียงว่า เราจำเป็นต้องบรรเทาผลลัพธ์ของการเลือกปฏิบัติในอดีต ส่วนฝ่ายคัดด้านยืนกรานว่าการคัดเลือกเด็กโดยคำนึงถึงเชื้อชาติเท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติในมุมกลับ เป็นอีกครั้งที่ข้อโต้แย้งเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติมีคำถามสำคัญที่ต้องตอบ นโยบายการรับเข้าล้วนแต่เลือกปฏิบัติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ประเด็นที่แท้จริงคือ การเลือกปฏิบัติแบบไหนที่เหมาะสมกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัย คำถามนี้นำมาซึ่งความขัดแย้ง ไม่ใช่เพราะมันตัดสินว่าเราจะกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างไรเท่านั้น แต่เพราะมันกำหนดว่าคุณความดีข้อใดบ้างที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ว่าคู่ควรกับเกียรติ ถ้าหากเป้าหมายหนึ่งเดียวของมหาวิทยาลัยคือการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณความดีของปัญญาความรู้ มหาวิทยาลัยก็ควรจะรับแต่นักเรียนที่มีแนวโน้มว่าจะช่วยบรรลุเป้าหมายนี้ที่สุด แต่ถ้าการปลูกฝังความเป็นผู้นำสำหรับสังคมพหุนิยมเป็นพันธกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยด้วย มหาวิทยาลัยก็ควรมองหานักเรียนที่มีแนวโน้มจะเลื่อนเป้าหมายเชิงความเป็นพลเมืองพอๆ กับเป้าหมายด้านความรู้

(จำนวนผู้เข้าชม 212 ครั้ง)