...

วันพิพิธภัณฑ์ไทย

19 กันยายน วันพิพิธภัณฑ์ไทย

 

          พิพิธภัณฑสถาน ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542 ว่า สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรม หรือด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมาย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ
          พิพิธภัณฑสถาน มาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต “พิพิธ” แปลว่า ต่างๆ กัน “ภัณฑ์” แปลว่า สิ่งของ เครื่องใช้ “สถาน” หมายถึง สถานที่ แหล่ง ที่ตั้ง ดังนั้น คำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” จึงแปลว่า “สถานที่สำหรับรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นต้น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหงตั้งอยู่ทางด้านขวาของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ประวัติความเป็นมา พิพิธภัณฑ์ไทย

          ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 – 17 ทางด้านซีกโลกตะวันตก ได้มีการตื่นตัวในด้านการเก็บรวบรวม และสะสมทรัพย์สมบัติ และมรดกต่างๆ ทั้งที่เป็นวัตถุ สิ่งของมีค่า สิ่งเก่าแก่ ที่หายาก และแปลกๆ เพื่อเป็นหลักฐานทางมรดกวัฒนธรรมของชาติอันเป็นการแสดงถึงความเป็นใหญ่และความมั่งคง ของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เด่นชัด ซึ่งเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมนั้น จะปรากฏขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาตินั้นๆ ได้มีการรวบรวมหลักฐานที่เป็นศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ สิ่งประดิษฐ์จากการคิดค้นหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นสมบัติของชาติ มาประมวลเป็นหลักฐาน ให้ชีวิตของชนในชาตินั้นได้

          ในดินแดนสยามหรือประเทศไทยพิพิธภัณฑสถานถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์เป็นผู้ที่ทำการริเริ่มดำเนินการรวบรวมวัตถุที่เป็นมรดกวัฒนธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งราชฤดีเป็นครั้งแรก ต่อมาทรงโปรดฯ ให้ย้ายสิ่งของจัดแสดงมาไว้ยังพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์

          เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และของแปลกประหลาดจากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ มาจัดแสดงในหอมิวเซียม (Museum) ณ หอคองคอเดีย ซึ่งเป็นอาคารใหม่ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพิธีเปิด หอมิวเซียม หรือพิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย ในวันที่ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 ถือเป็นวันกำเนิดของพิพิธภัณฑสถานของชาติแห่งแรกในราชอาณาจักรไทย เพราะเป็นพิพิธภัณฑสถานของหลวงหรือทางราชการที่จัดตามหลักวิชาการสากลและเปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นครั้งแรก

หอคองคอเดีย
พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย พิพิธภัณฑ์สถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศ

          พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ทั่วไป มีพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) นายทหารในกรมทหารมหาดเล็ก เป็นหัวหน้าฝ่ายไทย และมีนายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ เป็นผู้อำนวยการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน หอคองคอเดียให้เป็นแบบสากล
การจัดแสดงในหอคองคอเดีย แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.ศิลปะโบราณวัตถุของไทย 2. ศิลปะโบราณวัตถุส่วนพระมหากษัตริย์ และ 3.ศิลปะโบราณวัตถุจากต่างประเทศ ซึ่งนายเฮนรี่ ยังเป็นผู้ริเริ่มจัดทำแค็ตตาล็อกบัญชีภาษาอังกฤษ และภาษาไทยด้วย

          จนถึงปีพุทธศักราช 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ย้าย “มิวเซียม” จากพระบรมมหาราชวังไปจัดตั้งในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) โดยใช้พระที่นั่งส่วนหน้าสามองค์เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

พิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2469

          ครั้นรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอาคารหมู่พระวิมานทั้งหมด เป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวร เรื่องประวัติศาสตร์ไทย ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เรื่องโบราณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปกรรม ในอาคารมหาสุรสิงหนาทและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ เรื่องประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา ในอาคารหมู่พระวิมาน

          จากอดีตจนถึงปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานไทยมีมากมายหลายประเภท ตามลักษณะของศิลปวิทยาการที่เกิดขึ้นในโลก ทั้งทางศิลปะ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชาติพันธุ์วิทยา สังคมวิทยา และสาขาวิชาอื่นๆ กว่า 200 แห่ง และได้ยกระดับกิจการพิพิธภัณฑ์ไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยเข้าเป็นสมาชิกสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM ซึ่งให้คำจำกัดความว่า “พิพิธภัณฑ์” ว่ามิใช่เป็นแหล่งเก็บรวบรวม สงวนรักษาศึกษาวิจัย และจัดแสดงเฉพาะวัตถุเท่านั้นแต่พิพิธภัณฑ์ไดัรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นหลักฐานสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมวัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ จากหลักฐานในอดีต สิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

พิพิธภัณฑ์ สามารถแบ่งประเภทตามหลักสากลทั่วโลก ดังนี้

  1. พิพิธภัณฑสถานทางศิลปะ (Museum of Art)
  2. พิพิธภัณฑสถานศิลปะร่วมสมัย (Gallery of Contemporary Arts)
  3. พิพิธภัณฑสถานทางธรรมชาติวิทยา ( Natural History Museum)
  4. พิพิธภัณฑสถานทางวิทยาศาสตร์และเครื่องกล (Museum of Science and Technology)
  5. พิพิธภัณฑสถานทางมานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา (Museum of Anthropology and Ethnology)
  6. พิพิธภัณฑสถานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี (Museum of History and Archaeology)
  7. พิพิธภัณฑสถานประจำท้องถิ่น (Regional Museum)
  8. พิพิธภัณฑสถานแบบพิเศษ (Specialized Museum)
  9. พิพิธภัณฑสถานของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา (University Museum)

          ในประเทศไทย พิพิธภัณฑสถาน ในสังกัดกรมศิลปากร ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ จึงมีคำว่า “แห่งชาติ” กำกับ นอกจากนี้ ยังมีพิพิธภัณฑสถานอื่นๆ เช่น พิพิธภัณฑสถานในส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจ เช่น รัฐสภา สวนสัตว์ดุสิต พิพิธภัณฑสถานในส่วนประจำวัด หรือ องค์กรทางศาสนา เช่น พิพิธภัณฑสถานแสดงชีวประวัติหลวงปู่มั่น ท่านพุทธทาส และพิพิธภัณฑสถานของเอกชน เช่น เมืองโบราณ บ้านจิม ทอมสัน เป็นต้น

พิพิธภัณฑสถานในความดูแลของกรมศิลปากร มี 2 ลักษณะ คือ

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์  เป็นต้น
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนภูมิภาค เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น

หน้าที่ของพิพิธภัณฑสถาน แบ่งเป็นหมวดใหญ่ๆ ดังนี้
1.รวบรวมวัตถุ (Collection)  2.จำแนกประเภทวัตถุ (Identifying)  3.ทำบันทึกหลักฐาน (Recording)  4.สงวนรักษา (Preservation)  5.จัดแสดง(Exhibition) และ  6.ให้บริการทางการศึกษา (Education)

Bangkok National Museumพิพิธภัณฑสถาน จึงมีความสำคัญในฐานะสถาบันแห่งการอนุรักษ์มรดกอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ สถาบันแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ ในปีพุทธศักราช 2538 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบประกาศให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑสถานต่อการปลูกฝังให้คนไทยรัก และหวงแหนในมรดกศิลปวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เพื่อประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการศึกษาและการเรียนรู้ของปวงชนชาวไทยโดยทั่วกัน

(จำนวนผู้เข้าชม 5434 ครั้ง)