ย้อนรอยเหตุการณ์ลักลอบงมโบราณวัตถุกลางอ่าวไทย ตอนที่ 1
ในช่วงเวลานี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเดียวกันที่ซากเรือสำเภากลางอ่าวไทยถูกค้นพบ การค้นพบแหล่งเรือจมลำนี้คล้ายกับการค้นพบแหล่งเรือจมเกาะครามเมื่อปี พ.ศ. 2517 กล่าวคือ ถูกค้นพบโดยเรือประมงโชคแสงชัย จากจังหวัดระยอง เมื่อข่าวการค้นพบได้แพร่สะพัดออกไป แหล่งเรือจมแห่งนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก จนถูกนักล่าสมบัติบุกรุกทำลาย งมนำโบราณวัตถุขึ้นมาอย่างน้อย 3 ครั้ง
ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2534 นักล่าสมบัติงมโบราณวัตถุประเภทเครื่องถ้วยชามสังคโลกและเครื่องเคลือบดินเผาจากเตาแม่น้ำน้อยเกือบ 100 ชิ้น โดยนำไปขายได้เงินเกือบแสนบาท ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2534 กองเรือป้องกันชายฝั่ง ได้จับกุมเรือประมงไทยพร้อมนักล่าสมบัติชาวไทยที่กำลังลักลอบงมโบราณวัตถุจากเรือกลางอ่าว ยึดโบราณวัตถุประเภทเครื่องถ้วยสังคโลกได้ทั้งหมด 477 ชิ้น เมื่อทราบเช่นนั้น กรมศิลปากรจึงเตรียมดำเนินการสำรวจและขุดค้นแหล่งเรือจมกลางอ่าว โดยขอความร่วมมือกับกองทัพเรือ
แต่ยังไม่ทันได้เริ่มดำเนินการอะไรก็เกิดเหตุขึ้นวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2535 เมื่อมีนักล่าสมบัติต่างชาตินำโดยนาย Michael Hatcher แล่นเรือเดินสมุทรชื่อ “Australia Tide” ขนาดความยาว 60 เมตร ระวางขับน้ำ 421 ตัน ที่พร้อมด้วยอุปกรณ์ในการดำน้ำลึกที่ทันสมัย ลงไปลักลอบงมโบราณวัตถุจากซากเรือกลางอ่าว ต่อมากองเรือเฉพาะกิจ กองทัพเรือและตำรวจน้ำได้ทราบข่าว จึงเข้าตรวจค้นเรือลำดังกล่าว ในช่วงแรกการไกล่เกลี่ยของทั้งสองฝ่ายยังไม่ลงตัวนัก ฝ่ายเรือออสเตรเลียไทด์ตกลงจะมอบโบราณวัตถุให้เพียงบางส่วน แต่ฝ่ายไทยยังไม่ยอมรับ ขณะเดียวกันฝ่ายเรือออสเตรเลียไทด์ทำท่าทีจะถอนสมอกลับสิงคโปร์ แต่ถูกฝ่ายไทยกีดกันไว้ จนภายหลังจึงยอมมอบโบราณวัตถุทั้งหมดให้แก่ฝ่ายไทย ภายหลังการบันทึกทำทะเบียนโบราณวัตถุทั้งหมดพบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 10,760 ชิ้น เป็นภาชนะดินเผาที่ผลิตในประเทศร้อยละ 97 แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากเตาแม่น้ำน้อย จ. สิงห์บุรี ประมาณ 3,400 ชิ้น ผลิตภัณฑ์จากเตาป่ายาง จ.สุโขทัย ประมาณ 6,500 ชิ้น เครื่องถ้วยจีน 5 ใบ เครื่องถ้วยอันนัมประมาณ 320 ชิ้น ปืนขนาดเล็ก 3 กระบอก โดยโบราณวัตถุทั้งหมดกองทัพเรือมอบให้แก่กรมศิลปากรเป็นผู้ดูแล
เหตุที่เรือ “Australia Tide” กล้าที่จะเข้ามางมโบราณวัตถุนั้นก็เพราะตำแหน่งที่ตั้งของเรือจมกลางอ่าวอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะชั้นใน (Exclusive Economic Zone) ซึ่งในแง่กฎหมายทางทะเลบริเวณดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย อย่างไรก็ตามกรณีการลักลอบงมโบราณวัตถุครั้งนี้ทำให้เกิดความตื่นตัวในการปกป้องคุ้มครองแหล่งโบราณคดีใต้น้ำของชาติ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติแก้ไขพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยขยายขอบเขตหวงห้ามการงมโบราณวัตถุในน่านน้ำไทยจากเดิม 12 ไมล์ทะเล ออกไปเป็น 200 ไมล์ทะเลจนถึงขอบเขตเศรษกิจจำเพาะ
อ้างอิง
จารึก วิไลแก้ว. 2535. “มรดกใต้ท้องทะเลไทย เรืออ่าวไทย 1.” นิตยสารศิลปากร 35 (2): 8-33.
สายันต์ ไพรชาญจิตร์. 2535. “ความเคลื่นไหวของโบราณคดีใต้น้ำในประเทศไทยและหลักฐานการพาณิชย์นาวีสมัยกรุงศรีอยุธยา.” นิตยสารศิลปากร 35 (2): 34-70.
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 585 ครั้ง)