...

"สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤตมีความหมายว่า "ก้าวขึ้น ย่างขึ้น ย้ายที่ หรือเคลื่อนที่"
สวัสดีวันสงกรานต์จ้า อาจจะมาช้าหน่อย แต่แอดฯก็มาพร้อมสาระเช่นเดิมน้า หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าทำไมคนไทยเราวันสงกรานต์ หรือวันที่ 13 เมษายน คือการเข้าสู่ปีใหม่ ม่ะเดี๋ยวแอดจะเล่าให้ฟัง
"สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤตมีความหมายว่า "ก้าวขึ้น ย่างขึ้น ย้ายที่ หรือเคลื่อนที่"
“วันสงกรานต์” หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งในกลุ่มดาวจักราศีทั้ง 12 กลุ่ม ดังนั้นในรอบ 1 ปี จึงมีวันสงกรานต์ถึง 12 วัน
ส่วนสงกรานต์คนไทยรู้จัก (วันที่ 13 เมษายน) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีน ไปสู่ราศีเมษ เป็นวันที่พิเศษกว่าวันสงกรานต์อื่นๆ ที่เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” หรือวันสงกรานต์ใหญ่ เพราะตามสุริยะคติของชาวฮินดูในอินเดียจะถือว่าราศีเมษ เป็นราศีที่ 1 ของทั้ง 12 ราศี
ในทางดาราศาสตร์ ก็เป็นการเริ่มต้นปีดาราศาสตร์ใหม่ เมื่อดวงอาทิตย์ย้ายจากด้านใต้ขึ้นสู่ด้านเหนือของเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า
โดยในปกรณัมศาสนาฮินดู พระสูริยะถือเป็นบุคลาธิษฐานของเทพแห่งแสงอาทิตย์ในลักษณะรูปบุคคล และยังเป็นหนึ่งในเทพนพเคราะห์อีกด้วย
ในยุคพระเวท หรือประมาณ 3300 ปีมาแล้ว สูริยะเป็นเทพในกลุ่มเทพแห่งแสงอาทิตย์ 6 องค์ ร่วมกับ สวิตฤ วิษณุ ปูษัน มิตระ และอุษา โดยวิษณุมีหน้าที่คือก้าว 3 ก้าว เพื่อทำให้เกิดความแตกแต่งของช่วงเวลา หรืออาจหมายถึงการโคจรของดวงอาทิตย์ตั้งแต่รุ่งอรุณ ส่องแสงสว่าง ยามย่ำสนธยา นั้นเอง
แต่เมื่อเข้าสู่ยุคปุราณะ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-11 (หรือประมาณ 1700-1500 ปีมาแล้ว) คัมภีร์ปุราณะได้ยกย่องวิษณุจากเทพชั้นรองของกลุ่มอาทิตยเทพในยุคพระเวท กลายเป็นเทพองค์สำคัญ 3 องค์ ร่วมกับพระศิวะ และพระหรหม ส่วนพระสุริยะนั้นถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงเทพชั้นรองเท่านั้น และยังมีการรวมบทบาทหน้าที่ รูปลักษณ์ของเทพในกลุ่มเทพเจ้าแห่งแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นเทพเจ้าองค์เดียวคือ พระสูริยะ จึงทำให้คำว่า “อาทิตย์” กลายเป็นชื่อสามัญของพระสูริยะ 
เมืองศรีเทพ เป็นเมืองโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีค้นพบประติมากรรมพระสูริยะเป็นจำนวนมาก (อาจสันนิษฐานได้มากถึง 6-7 องค์ ) จนสันนิฐานได้ถึงการอยู่มีอยู่ของลัทธิเสาระ (ลัทธิที่นับถือพระสูริยะเป็นเทพเจ้าสูงสุด) ในเมืองศรีเทพ โดยเทวรูปพระสูริยะที่พบจากเมืองศรีเทพนั้นมีอายุตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-14 โดยลักษณะทางรูปแบบศิลปกรรมนั้น กล่าวได้ว่ามีสัมพันธ์กับวัฒนธรรมเขมรยุคก่อนเมืองพระนคร ในเขตประเทศกัมพูชา และบริเวณปากแม่น้ำโขงประเทศเวียดนาม
ปล.เนื่องในวันสงกรานต์นี้ แอดฯของเป็นตัวแทนของบุคลากรอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ขอกล่าวอวยพรให้มิตรรักแฟนเพจทุกท่าน มีความสุขในวันสงกรานต์ เดินทางกลับบ้านหรือไปเที่ยวอย่างสวัสดิภาพ ขับขี่ปลอดภัย เมาไม่ขับเน้อ สุขสันต์วันปีใหม่ไทยครับ
เอกสารอ้างอิง
- ธนะจักร เย็นบำรุง. “ประเพณีสงกรานต์”. ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดีประวัติศาสร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2524
- พิกุล สมัครไทย. “คติความเชื่อเรื่องพระสูริยะเทพที่พบจากประติมากรรมที่เมืองโบราณศรีเทพ”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543
- พิริยะ ไกรฤกษ์. “รากเหง้าแห่งศิลปะไทย”. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊ค, 2553
- วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์. “คติเรื่องพระสูริยะเทพที่พบในประเทศไทยช่วงก่อนดินพุทธศตวรรษที่ 19”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549
- ศรัณย์ มะกรูดอินทร์. “การนับถือพระสูริยะในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553
- เอกสุดา สิงห์ลำพอง. “เทวปฏิมาสยาม”. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพลส, 2553

(จำนวนผู้เข้าชม 531 ครั้ง)