...

ทำไมต้องรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม?
วัฒนธรรม (Culture) หมายถึง ความดี ความงาม ความเจริญในชีวิตมนุษย์ ซึ่งปรากฏเป็นรูปต่างๆ เช่น ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวิทยาการ ความเชื่อ การศาสนา เป็นต้น และได้ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นหลังๆต่อไปจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมเป็น วิถีชีวิตของบุคคลในสังคมที่ได้สั่งสม เลือกสรร ปรับปรุง แก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และรักษาไว้ให้เจริญงอกงาม ใช้เป็นแนวทางการอยู่ร่วมกันของสังคม  วัฒนธรรมมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง สร้างสรรค์ให้เจริญงอกงามโดยสืบทอดจากมรดกวัฒนธรรมในอดีต หรืออาจจะรับเอาสิ่งที่เผยแพร่จากสังคมอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม และทำให้สมาชิกยอมรับ เกิดความนิยม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะต้องไม่ทิ้งเอกลักษณ์ประจำชาติของตนไว้เพื่อเป็นศักดิ์ศรีของคนทั้งชาติ นอกจากนี้วัฒนธรรมยังใช้เป็นเครื่องมือในการยึดโยง หล่อหลอมให้คนในชาติมีความรักความสามัคคีต่อกัน ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างความั่นคงของชาติ ดังนั้น จึงมีผู้รู้บางท่านอาจจะกล่าวถึง วัฒนธรรม ว่า เป็นความเจริญแล้ว  แล้วยังแสดงเอกลักษณ์ของชาติอีกด้วย
 
วัฒนธรรม เป็นความมั่นคงของชาติดังกล่าวมาแล้ว เพราะวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดชนชาติ ชุมชนสังคม และเผ่าพันธุ์มนุษย์ บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และวิถึชีวิตของตนเอง บ่งบอกถึงรากเหง้าพื้นฐานของความเป็นชาติ สืบทอดจากบรรพบุรุษตั้งแต่อดีตกาล วัฒนธรรมเป็นศักดิ์ศรีของความเป็นชาติ  มรดกทางวัฒนธรรม มีความสำคัญ มีคุณค่าที่ต้องอนุรักษ์ กล่าวโดยสรุปคือ
 
มรดกศิลปวัฒนธรรม
 
-เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติของเผ่าพันธุ์ท้องถิ่น
 
-เป็นสิ่งที่แสดงถึงเกียรติและความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นและของคนในชาติ ทำให้เกิดความรัก หวงแหน เห็นคุณค่า
 
-เป็นสิ่งก่อให้เกิดความรู้สึก ความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติ เป็นความมั่นคงของชาติ
 
-เป็นหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย (การดำเนินการทางวิชาการ) เพื่อการเผยแพร่การสืบทอดและนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันนำไปสู่การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป เช่น การประกอบอาหาร การถักทอผ้า การคิดประดิษฐ์ลายผ้า วิธีการตัดเย็บ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องเรือน การแพทย์ การผลิตยา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และหากมีการเผยแพร่เป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ  จะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจได้  แทนที่คนไทยจะเป็นผู้บริโภควัฒนธรรมของชาติอื่นแต่ฝ่ายเดียว
 
*คงจะได้คำตอบกันแล้วนะคะ
 
 ข้อมูลความรู้คัดลอกจาก หนังสือกรมศิลปากรกับการบริหารจัดการทรัพย์สินทางศิลปวัฒนธรรม อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต

(จำนวนผู้เข้าชม 70432 ครั้ง)