...

เข็มทิศ
เข็มทิศ
ทะเบียน ๒๗/๓๖/๒๕๓๖ (๑๕/๒๕๓๖/๑)
อายุสมัย รัตนโกสินทร์ วัสดุ(ชนิด) ทองเหลือง ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗.๕ เซนติเมตร สูง ๒ เซนติเมตร
ประวัติ ใช้สำหรับการเดินทางเรือเล็กบริเวณชายฝั่ง เมื่อประมาณ ไม่ต่ำกว่า ๘๐ ปีมาแล้ว เป็นของขุนวิจารณ์โลหะกิจ นายเริก ณ ตะกั่วทุ่ง อดีตนายอำเภอถลางคนแรก สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

          เข็มทิศ คือ เครื่องมือสำหรับใช้หาทิศทาง มีเข็มแม่เหล็กที่แกว่งไกวได้อิสระในแนวนอนทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ ตามแรงดึงดูดของแม่เหล็กโลก และที่หน้าปัดมีส่วนแบ่งสำหรับหาทิศทางโดยรอบ เข็มทิศจึงมีปลายชี้ไปทางทิศเหนือเสมอ การบอกทิศทางในแผนที่โดยทั่วไป คือ การบอกเป็นทิศที่สำคัญ ๔ ทิศ
          สันนิษฐานกันว่าเข็มทิศเป็นการค้นพบของชาวจีน โดย โจเซฟ นีดแฮม(Joseph Needham) นักวิทยาศาสตร์สาขาชีวเคมี ชาวอังกฤษ ผู้ที่ใช้เวลาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับจีนอย่างยาวนาน กล่าวว่า ชาวจีน “ล้ำหน้าความรู้เกี่ยวกับการเบี่ยงเบนขั้วแม่เหล็กของชาวยุโรปไปราวหกศตวรรษ ชาวจีนคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเบี่ยงเบนขั้วแม่เหล็กก่อนที่ยุโรปจะรู้จักขั้วแม่เหล็กด้วยซ้ำ” ไม่มีการกล่าวถึงเข็มทิศแม่เหล็กและขั้วสนามแม่เหล็กโลกในงานเขียนใดๆ ของตะวันตกจนกระทั่งปี ค.ศ.๑๑๙๐ (พ.ศ.๑๗๓๓) ซึ่งชาวจีนมี เข็มทิศมาแล้วถึงหนึ่งพันห้าร้อยปีก่อนหน้านั้น โจเซฟ นีดแฮม สรุปไว้ว่า ยุโรปได้รับเข็มทิศมาจากชาวจีน และไม่ได้เข้าสู่ยุโรปผ่านทางชาวอาหรับ เป็นไปได้ว่าชาวยุโรปและชาวอาหรับดูเหมือนจะรับเข็มทิศแม่เหล็กมาใช้เดินเรือในช่วงเวลาประมาณเดียวกันจากการเดินทางติดต่อทางเรือกับประเทศจีน ถือได้ว่าจีนเป็นชาติแรกของโลกที่ประดิษฐ์เข็มทิศขึ้น และนำเข็มทิศไปใช้ในการเดินเรือ สันนิษฐานว่าในประเทศไทยน่ามีการได้รับการใช้เข็มทิศจากจีนด้วยเช่นกัน เข็มทิศ แม้เป็นเครื่องมือที่เห็นได้ทั่วไปในปัจจุบันแต่เป็นเครื่องแสดงในเห็นถึงความสามารถของชาวจีนตั้งแต่อดีตที่มีการค้นพบเครื่องมือชิ้นสำคัญให้กับโลกใบนี้ไว้ใช้ประโยชน์ จวบจนปัจจุบัน









-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง
-----------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง -โรเบิร์ต เทมเพิล. ต้นกำเนิด ๑๐๐ สิ่งแรกของโลก. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 21773 ครั้ง)


Messenger