...

วัดพระนอน เมืองกำแพงเพชร
          โบราณสถานวัดพระนอนตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือที่เป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาคารต่างๆก่อสร้างด้วยศิลาแลงพื้นที่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออกมีอาคารศาลาโถง ที่อาบน้ำและบ่อน้ำที่ขุดเจาะลงไปในชั้นศิลาแลง ประตูทางเข้าอยู่ทิศตะวันออกทางเดินปูลาดด้วยศิลาแลงมีเสาปักตลอดสองฟากข้างทางเดิน
          สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วยพระอุโบสถ เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ตอนหน้าสุด ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รูปแบบของฐานอาคารเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ภายในอาคารปรากฏแท่นชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป มีเสาศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยมเป็นเสารองรับเครื่องบน ด้านนอกอาคารมีเสาศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยมเป็นเสาพาไลรองรับชายคาของอาคาร และมีฐานใบเสมา ๘ ฐานตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ ใบเสมาสลักจากหินชนวนมีการแกะสลักลวดลายประเภทลายพรรณพฤกษา เป็นรูปดอกไม้อยู่ท่ามกลางเถาใบไม้มีกระหนกปลายแหลมและมีการแกะสลักเป็นภาพบุคคลเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ทรพีสู้กับพาลี (ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร)
          ถัดจากพระอุโบสถไปทางด้านทิศตะวันตกเป็นวิหาร มีแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อเป็นฐานหน้ากระดานและบัวคว่ำ ภายในอาคารปรากฏแท่นอาสนสงฆ์และแท่นฐานชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถไสยาสน์(นอน) องค์พระพุทธรูปพังทลายคงเหลือแต่ส่วนโกลนของพระบาทที่บริเวณด้านทิศเหนือของแท่นฐานชุกชี เสาวิหารที่รองรับโครงสร้างเครื่องไม้และหลังคาเป็นเสาศิลาแลงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ กว้างด้านละ ๑ เมตร สูง ๖ เมตร มีน้ำหนักกว่า ๑๔ ตัน เป็นเสาศิลาแลงที่เป็นแบบชิ้นเดียวที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย และถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่แสดงถึงความสมบูรณ์ในทรัพยากรและความสามารถในเชิงช่างในสมัยโบราณของเมืองกำแพงเพชร
          เจดีย์ประธานอยู่ถัดจากวิหารไปทางด้านทิศตะวันตก เป็นแบบเจดีย์ทรงกลม หรือทรงระฆัง ฐานหน้ากระดานล่างสุดก่อเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยม ด้านหน้าทำเป็นมุขเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดจากฐานหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยม เป็นฐานหน้ากระดานรูปแปดเหลี่ยมที่ซ้อนลดหลั่นกัน ๓ ชั้น ถัดไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ต่อด้วยชุดบัวคว่ำ ๓ ชั้น หรือชั้นบัวถลา รองรับองค์ระฆังและบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ส่วนยอดเจดีย์หักพังทลายไป
          พระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสต้น” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ระบุถึงการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ โดยได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระนอน ดังนี้
          “...ถัดไปจึงถึงวัดพระนอน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน วัดเหล่านี้ มักจะมีวิหารหรืออุโบสถใหญ่อยู่ข้างหน้า มีทักษิณล่างชั้นหนึ่งแล้วจึงถึงฐานบัตร ลักษณะวัดสุทัศน์ วิหารเหล่านี้ไม่เกิน ๕ ห้อง แต่คงมีมุขเด็จด้านหน้าอย่างวัดหน้าพระธาตุเมืองลพบุรี พนักเป็นช่องลูกฟัก เสาเป็นแปดเหลี่ยม ตัดแลงเป็น ๘ เหลี่ยมทีเดียว ด้านหลังมีมุขตั้งทักษิณชั้นล่างจนผนัง แลเสาใช้แลงอย่างเดียวไม่มีอิฐปน ใช้พื้นโบสถ์พื้นวิหารสูง ไม่ต่ำเหมือนอย่างกรุงเก่า เหตุที่เขารวยแลง แต่หลังคาจะหาตัวอย่างให้เห็นว่าเป็นอย่างไรไม่มีสักหลังเดียว ถัดโบสถ์หรือวิหารนี้ไป จึงมีก้อนกลางต่าง ๆ กัน ชิ้นหลังก็ยักไปต่าง ๆ กัน บางทีมีแต่ ๒ ชิ้น
          จะว่าด้วยวัดพระนอนนี้ วิหารหน้าใหญ่มาก แต่โทรมไม่มีอะไรอัศจรรย์ ในทักษิณชั้นล่างตั้งสิงห์เบือน เห็นจะมากคู่แต่เดี๋ยวนี้เหลือ ๒ ตัว ชิ้นกลางเป็นวิหาร ๕ ห้อง กันไว้ข้างหน้า ๒ ห้อง ห้องหลัง ๒ ห้องเหมือนวิหารพระศาสดาวัดบวรนิเวศแลวิหารพระอัฏฐารสวัดสระเกศแต่ใหญ่มาก เสาใช้แลงท่อนเดียว เป็นเสา ๔ เหลี่ยมสูงใหญ่ ห้องข้างหน้ามีพระนอน ห้องข้างหลังมีพระนั่ง ๒ องค์ ชิ้นหลังเป็นพระเจดีย์ฐาน ๘ เหลี่ยม ระฆังกลมรูปแจ้งามมาก เกือบจะสู้พระเจดีย์กลางถนนเมืองย่างกุ้งได้ ยังดีไม่ซวดเซอันใด เหตุด้วยพื้นเป็นแลงแข็งไม่ต้องทำราก ชั่วแต่ยอดหักแต่ที่เหลืออยู่บัดนี้สูงกว่า ๑๕ วา ที่หน้าพระเจดีย์นี้มีที่บูชา เป็นศาลาหลังคา ๒ ตอน ลักษณะเดียวกับที่ทูลกระหม่อมไปสร้างไว้ในที่ต่าง ๆ ต่อไปข้างหลังมีฐานโพธิ์ แลมีวิหารอะไรอีกหลังหนึ่งชำรุดมากดูไม่ออก เป็นวัดใหญ่มาก แต่จะเรียกว่าวัดพระนอนก็ควร เพราะมี พระนอนเป็นสำคัญ ...”
          การเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๐ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระนอน ดังนี้
          “…ที่วัดพระนอนนั้นยังมีชิ้นสำคัญอยู่ คือวิหารพระนอน ซึ่งทำด้วยฝีมือดี การก่อสร้างใช้แลงทั้งนั้น เสาเป็นเสากลมก่อด้วยแลงก้อนใหญ่ ๆ รูปอย่างศิลาโม่ ก้อนใหญ่ ๆ และหนา ๆ มาก ผนังวิหารมีเป็นช่องลูกกรง ลูกกรงทำด้วยแลงแท่งสี่เหลี่ยม สูงราว ๓ ศอก ดูทางข้างนอกงามดีมาก…”
          วัดพระนอนจึงถือเป็นโบราณสถานอีกแห่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่มีความสำคัญยิ่งเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของแผ่นดินเมืองกำแพงเพชร ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและงานฝีมือศิลปกรรมในรูปแบบของสกุลช่างกำแพงเพชร ที่ปรากฏผ่านงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรม ตลอดจนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

















-------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
-------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง :
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๙. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 5808 ครั้ง)