...

จารึกคาถา เย ธฺมมา ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์


เลขทะเบียน ๗๖/ ๒๕๑๙ สมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒) หิน, ยาว ๖๓.๕ เซนติเมตร สูง ๓๐ เซนติเมตร หนา ๑๕ เซนติเมตร

          นายประสาร บุญประคอง พบจารึกนี้ในบริเวณระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ย้ายมาจากพิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ (ทะเบียนจารึก นฐ.๒) สภาพของจารึกชำรุดมากโดยเฉพาะตัวอักษรข้อความทางตอนต้นบรรทัด
          ลักษณะของจารึกชิ้นนี้เป็นแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลายด้านหนึ่งโค้งมน จารึกเพียงด้านเดียว มีจำนวน ๒ บรรทัด ด้านข้างและด้านบนของแผ่นหินโกลนไว้ จนแลดูเรียบร้อยกว่าด้านหลังซึ่งขรุขระกว่ามาก
          นายชะเอม แก้วคล้าย ได้อ่านแปลและวิจารณ์ไว้จากอักษรที่เหลืออยู่ สรุปได้ว่าเป็น คาถา เย ธฺมมา จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี อายุของตัวอักษรราว พุทธศตวรรษที่ ๑๒ แปลว่า ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคต ตรัสเหตุ และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะ มีปกติตรัสอย่างนี้ฯ

คาถาเย ธมฺมา ถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนามาจากคาถาสมบูรณ์ ดังนี้
"เย ธมฺมา เหตุ ปัพฺพวา เตสํ เหตุงฺ ตถาคโต เตสญฺจะ โย นิโรโธ จะ เอวํ วาที มหาสมฺโณ"
"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้"

          ความเป็นมาของพระคาถาบทนี้ปรากฏอยู่ในประวัติของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา มีเนื้อความโดยย่อคือ หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และแสดงธรรมสั่งสอนประกาศพระศาสนาแล้ว ครั้งหนึ่งได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ วันหนึ่ง พระอัสสชิ ผู้เป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ซึ่งตามเสด็จฯ พระพุทธองค์มาด้วย เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ระหว่างทาง อุปติสสะปริพพาชกซึ่งเดินทางมาจากสำนักปริพพาชกได้พบเห็นพระอัสสชิมีกิริยาอาการอันสงบสำรวม น่าเลื่อมใส จึงอยากทราบว่าใครเป็นศาสดาของพระอัสสชิและมีคำสั่งสอนเช่นไร พระอัสสชิจึงแจ้งว่าตนเป็นนักบวชในสำนักของพระมหาสมณะ ผู้เป็นโอรสแห่งศากยวงศ์ พร้อมกับแสดงธรรมอันย่นย่อของพระพุทธองค์ ซึ่งก็คือพระคาถา เย ธมฺมาฯ นั่นเอง
          จากนั้น อุปติสสะปริพพาชกจึงเดินทางกลับมายังสำนัก และบอกเล่าเรื่องที่ได้พบกับพระอัสสชิ ตลอดจนแสดงธรรมที่พระอัสสชิกล่าวให้แก่สหาย คือโกลิตตะปริพพาชกฟัง จนกระทั่งเกิดดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน ปริพพาชกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารจึงพากันไปเข้าเฝ้าฯ พระพุทธองค์ยังเวฬุวันมหาวิหาร และทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์จึงประทานอนุญาตให้ปริพพาชกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
          พระโกลิตตะปริพพาชก ซึ่งต่อมาก็คือพระโมคคัลลานะ หลังจากอุปสมบทได้ ๗ วัน ก็สำเร็จอรหัตตผล ส่วนอุปติสสะปริพพาชก หรือพระสารีบุตร บรรลุเป็นอรหันต์หลังจากอุปสมบทได้ ๑๕ วัน ส่วนบริวารทั้งหลายภายหลังก็ได้บรรลุเป็นอรหันต์จนหมดสิ้น
          โดยพระคาถานี้ ทำให้พระพุทธองค์ทรงได้สาวกองค์สำคัญ คือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรมาเป็นอัครสาวกซ้ายขวา พุทธศาสนิกชนจึงนับถือกันเป็นพระคาถาวิเศษ ถือเป็นสัมฤทธิมนต์สำหรับเปลี่ยนแปลงความนับถือของผู้ที่ยังไม่เคยสดับรับฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ จึงนิยมจารึกไว้เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาให้เผยแผ่ออกไป
          พระคาถา เย ธมฺมาฯ จึงมักพบปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคแรกๆ เช่นในศิลปะทวารวดีและศิลปะศรีวิชัย นอกจากที่จารึกอยู่บนพระพิมพ์แล้ว ยังพบปรากฏอยู่บนศาสนวัตถุอื่นๆ เช่นเสาศิลาจารึก ฐานธรรมจักร หรือภาพสลักพระพุทธรูปอีกด้วย
          นอกจากศิลาจารึกคาถาเย ธมฺมา ข้างต้นแล้ว ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ยังเก็บรักษายอดสถูปจำลอง ตามประวัติกล่าวว่าพบที่วัดพระงาม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ลักษณะของยอดสถูปจำลอง คล้ายหม้อทรงกลมแป้น คดคอดสั้น มีขอบปากผาย ส่วนเชิงเป็นทรงกระบอกสูงตอนปลายผายออก ซึ่งส่วนล่างของเชิง มีจารึก ๑ แถว เป็นจารึก เย ธมฺมา ภาษาบาลี อักษรปัลลวะแบบหวัด จะเห็นได้ว่าในดินแดนเมืองนครปฐมโบราณ มีหลักฐานโบราณวัตถุหลายประการที่สะท้อนถึงการแรกรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานยังนครรัฐ นอกเหนือไปจากธรรมจักรอย่างที่พบเป็นจำนวนมาก


เลขทะเบียน ๓๐๕/ ๒๕๑๙ สมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖) ดินเผา, เส้นผ่าศูนย์กลางยอด ๑๒.๕ เซนติเมตร สูง ๓๕.๕ เซนติเมตร

          หากผู้สนใจต้องการศึกษาจารึกไม่เพียงแต่เฉพาะภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เท่านั้น ภายในบริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ยังมีศิลาจารึกคาถาเย ธมฺมา ให้ศึกษาได้ คือ บริเวณภายในเก๋งจีนหน้าพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ หรือที่เรียกว่าศิลาจารึกที่ศาลเจ้า พระปฐมเจดีย์ จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เช่นกัน



(จำนวนผู้เข้าชม 31354 ครั้ง)