...

เมื่อข้าราชการต้องย้ายที่ (ตอนที่ 2)
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : ตามรอยบันทึก : เมื่อข้าราชการต้องย้ายที่ (ตอนที่ 2) --
 ความเดิมจากตอนที่แล้ว พระเจดีย์รัฐธำรง ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปรับตำแหน่งปลัดจังหวัดหล่มศักดิ์ และเริ่มออกจากเดินทางจากจังหวัดพิษณุโลก พักตามศาลาที่พักหลายแห่งจนถึงอำเภอป่าหมากและพักแรมที่นั่น ต่อไปนี้คือการเดินทางของคุณพระและคณะในช่วงต่อไป
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
คนเก่าเล่าตำนาน
 ก่อนที่จะเดินทางต่อไปนั้น คุณพระจำเป็นต้องหาคนหาบหามชุดใหม่ ได้ขอความช่วยเหลือจากหลวงพำนักนิกรราษฎร์ นายอำเภอป่าหมาก แต่โชคไม่ดีที่นายอำเภอหาคนจ้างไม่ได้ในวันนั้น จึงต้องอยู่ที่อำเภอป่าหมากอีกวัน ระหว่างรอเดินทางได้เดินดูตลาดในเมือง และเช่นเคย คุณพระได้บันทึกสภาพการค้าขายที่ตลาดอำเภอป่าหมาก พบว่าต้องอาศัยเรือสินค้าที่ล่องไปตามลำน้ำวังทองเป็นหลัก ขาไปเอาข้าวเปลือกซึ่งเป็นสินค้าพื้นเมืองไปขายกรุงเทพฯ ขากลับซื้อสินค้าจากกรุงเทพฯ เข้ามาขาย
 ช่วงระหว่างที่พักอยู่ที่อำเภอป่าหมากนั้น คุณพระได้ฟังเรื่องเล่าตำนานเขาสมอแครง (สะกดตามต้นฉบับ) จากนายถนอม ครูโรงเรียนวัดป่าหมาก สรุปความได้ว่า สองสามีภรรยาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บึงราชนก มีลูกสาวสวยอยู่คนหนึ่ง เป็นที่รักใคร่ของวานรที่อาศัยอยู่บนเขาฟ้า วันหนึ่งเกิดฝนตกหนัก มีปลาหมอยักษ์มาอยู่ที่บันไดเรือน สองสามีภรรยาจึงปลาหมอมาต้มกินและแจกจ่ายให้คนอื่นกินด้วย ต่อมาเกิดเหตุน้ำท่วมมีผู้คนตาย วานรทราบข่าวจึงหักหินที่ยอดเขาฟ้าจะมาทดน้ำหวังช่วยหญิงสาวที่รักให้รอด แต่สุดท้ายก็ไม่ทันกาล วานรจึงทิ้งหินก้อนนั้นที่ทุ่งนาบ้านหนองกระทอน และกลายเป็นเขาสมอแครงในที่สุด
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เดินทางเข้าป่า
 วันที่ 25 ธันวาคม 2468 เมื่อได้คนหาบหามแล้ว คุณพระและคณะจึงออกเดินทางเลียบลำน้ำวังทองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ การเดินทางในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ป่าอย่างแท้จริง โดยคุณพระได้บันทึกไว้ว่าระหว่างทางต้องผ่านทั้งป่าไม้สักและป่าไม้เต็งรัง รวมถึงต้องฝ่าภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง เช่น เขาวัวหัก เขาฟอง และเขาปลาตะเพียร มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ จุดพักระหว่างการเดินทางไม่ใช่ศาลาอย่างที่เคยเป็น หากแต่เป็นลำห้วยต่างๆ ที่มีน้ำพอใช้อุปโภคบริโภค เช่น ห้วยฟอง ห้วยสพานหิน ห้วยม่วง คณะได้เดินทางออกจากป่ามาถึงศาลาห้วยหนองปรือที่เป็นทุ่งนาเมื่อเวลา 18.30 น. จึงพักค้างคืนที่นั่น
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ฝ่าด่าน 33 ห้วย
 วันรุ่งขึ้น คุณพระและคณะออกเดินทางจากบ้านหนองปรือตั้งแต่ 6 โมงเช้า ไปตามเส้นทางที่บุกป่าฝ่าดงอีกครั้ง รวมถึงต้องขึ้นเขากระยางซึ่งคุณพระบรรยายว่า “สูงเป็นชั้น 5 กระพัก [ไหล่เขาที่เป็นขั้นๆ พอพักได้] ถึงยอดเขาระยะ 100 เส้น [4 กิโลเมตร]” ซึ่งถึงแม้จะเป็นยอดเขาสูง แต่คุณพระก็ยังได้พบเห็นชาวบ้านไล่ต้อนกระบือลงจากเขาถึง 120 ตัว เพื่อนำไปขายทางใต้ ชาวบ้านบอกว่าได้กำไรดีแต่เสียค่าโสหุ้ยมาก นอกจากเขากระยางแล้ว คุณพระยังต้องขึ้นลงเนินเขาจำนวนมาก และต้องขึ้นลงห้วยอีก 33 แห่ง รวมระยะทางในการเดินทางตลอดทั้งวัน 700 เส้น (28 กิโลเมตร) กว่าจะถึงจุดหมายที่พักที่ศาลาวัดบ้านหนองกระเท้าก็เป็นเวลาสี่ทุ่มแล้ว
 การเดินทางอันแสนทรหดของคุณพระเจดีย์รัฐธำรงยังไม่จบแค่นี้ ในตอนต่อไปจะเล่าเรื่องราวการเดินทางช่วงสุดท้ายจนถึงจังหวัดหล่มศักดิ์และชะตากรรมของคุณพระหลังจากไปรับตำแหน่งใหม่แล้ว
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สบ 2.42/25 เรื่อง รายงานเดินทางของพระเจดีย์รัฐธำรงไปเมืองหล่มศักดิ์ [ 6 ม.ค. 2468 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ







(จำนวนผู้เข้าชม 241 ครั้ง)


Messenger