...

เหรียญที่ระลึกในการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า

         เหรียญที่ระลึกในการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า

         รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พ.ศ.๒๔๗๕ 

         (ซ้าย) บริษัทดอร์แมนลอง ให้เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

         (ขวา) รับมาจากราชพัสดุ กระทรวงการคลัง

         เก็บรักษาอยู่ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๗ เรื่อง “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๒๘ มีนาคม - ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗

         เหรียญเงินกลม ส่วนขอบเหรียญเรียบ ยกขอบขึ้นเล็กน้อย ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปสะพานพระพุทธยอดฟ้าอยู่ในกรอบวงกลมยกขอบขึ้นเล็กน้อย นอกกรอบด้านบนมีอักษรภาษาอังกฤษจารึกว่า PHRA BUDDHA YOD FA ด้านล่างเขียนว่า MEMORIAL BRIDGE BANGKOK ด้านหลังมีข้อความภาษาอังกฤษว่า

COMMENCED NOVEMBER 20th 1929

COMPLETED JUNE 4th 1931

TOTAL LENGTH 754 FT.

DOUBLE LEAF BASCULE SPAN 260 FT.

TWO FIXED SPANS OF 247 FT. EACH

DESIGNED AND BUILT BY

DORMAN,LONG &CO.LTD.,ENGLAND

UNDER THE SUPERVISION OF

H.R.H. PRINCE PURACHATRA

OPENED APRIL 6th  1932

BY

H.M. KING PRAJADHIPOK

 

         เหรียญที่ระลึกในการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า สร้างขึ้นโดยบริษัท ดอร์แมนลอง จำนวน ๗๐ เหรียญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ และทางบริษัทได้ถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ดังข้อความในหนังสือกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ที่ ก.๑๘/๗๕ ลงวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึงมหาเสวกเอกเจ้าพระยามหินธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร (กรมราชเลขาธิการ) ความว่า “ด้วยนายเจ.รัก (J.Ruck) ผู้แทนบริษัทดอรแมนลองได้กลับเข้ามากรุงเทพฯ อีกเนื่องด้วยการพระราชพิธีเฉลิมกรุงเทพมหานครและเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ได้มอบเหรียญที่ระลึกในการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าไว้ให้แก่ฉัน ๗๐ เหรียญ เหรียญเหล่านี้ฉันเห็นควรจะให้ไว้แก่เจ้าหน้าที่ ที่ได้ช่วยเหลือในการนี้เป็นที่ระลึก เช่นกรรมการที่ได้ฉลองพระเดชพระคุณในการก่อสร้างสะพาน ทั้งที่ยังคงอยู่บัดนี้และออกจากราชการไปแล้ว รวมทั้งนายช่างทุกคน ฉันเห็นว่าถ้าทางกรมราชเลขาธิการเป็นผู้จัดส่งไปให้จะงดงามดีกว่าที่จะส่งจากกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เพราะฉะนั้นจึงขอส่งเหรียญที่กล่าวมานี้มายังเจ้าคุณ ๖๐ เหรียญ ถ้าขาดเหลือจะได้ส่งมาเพิ่มให้อีก”

         ในเวลาต่อมากระทรวงมุรธาธร (กรมราชเลขาธิการ) ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเหรียญ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ มีผู้ได้รับแจกทั้งหมด ๖๖ ราย เป็นจำนวน ๖๖ เหรียญ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๒ เหรียญ และส่งให้กับพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครจำนวน ๑ เหรียญ (ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ตอบกลับลงวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ความว่า “เกล้าฯ ได้รับหนังสือเจ้าพระยามหินธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรที่ ๒๖/๘๒๘ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. นี้ รับสั่งฝ่าพระบาทโปรดให้ส่งเหรียญของบริษัทดอร์แมนลองสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า มาประทานพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นเหรียญที่ระลึกในตำนาน ๑ เหรียญนั้น ได้รับไว้แล้วด้วยความยินดีในนามของราชบัณฑิตยสภา ขอขอบพระเดชพระคุณเป็นอันมาก”

         สำหรับสะพานพระพุทธยอดฟ้านั้นเริ่มดำเนินการสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ด้วยพระองค์มีพระราชประสงค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เนื่องในโอกาสที่กรุงเทพมหานครเป็นราชธานีของไทยครบ ๑๕๐ ปีบริบูรณ์ ประกอบด้วย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่มหาชนได้สัญจรระหว่างพระนครกับจังหวัดธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เป็นผู้อำนวยการสร้าง โดยบริษัทดอร์แมนลอง ประเทศอังกฤษ เป็นผู้ออกแบบ ลักษณะเป็นสะพานเหล็กยาว ๒๒๙.๗๖ เมตร กว้าง ๑๖.๖๘ เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ ๗.๕๐ เมตร มีระบบยกตอนกลางของสะพานด้วยระบบไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง ๖๐ เมตร เพื่อให้เรือใหญ่สามารถแล่นผ่านได้ 

 

 

อ้างอิง

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๗ บ.๕/๒๓ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๗ เบ็ดเตล็ด เรื่อง เหรียญที่ระลึกสร้างสะพานของบริษัทดอรแมนลอง (๔ เมษายน - ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๗๕).

“พระบรมราชโองการ ประกาศ สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า” ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๔๖ ตอนที่ ก. (๑๒ มกราคม ๒๔๗๒) หน้า ๒๘๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 22 ครั้ง)