...

พระพิมพ์รูปพระพุทธเจ้าแสดงภูมิปรรศมุทรา

          พระพิมพ์รูปพระพุทธเจ้าแสดงภูมิปรรศมุทรา

          พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙

          ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี ณ เจดีย์ชเวซานดอ เมืองพุกาม (Pagan) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๔๗๐ กองตรวจค้นโบราณคดีของประเทศพม่า ส่งมาแลกเปลี่ยนกับพระพิมพ์ไทยเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๔

          ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องเอเชีย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          พระพิมพ์ดินเผา กึ่งกลางเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับขัดสมาธิเพชร แสดงภูมิปรรศมุทรา (ปางมารวิชัย) พุทธลักษณะอุษณีษะนูน พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระวรกายครองจีวรห่มเฉียง ประทับขัดสมาธิเพชรเหนือฐานบัวคว่ำบัวหงายภายซุ้มวงโค้ง กรอบซุ้มประดับแถบลายลูกประคำ เหนือซุ้มขึ้นไปเป็นฉัตร ด้านข้างซุ้มแวดล้อมด้วยสถูป ด้านล่างของพระองค์มีจารึกอักษรเทวนาครี (Nagari) ภาษาสันสกฤต ในรายงานของ Charles Duroiselle ระบุว่าจารึกดังกล่าวมีใจความว่า พระเจ้าอโนรธามหาราชทรงสร้างพระพิมพ์ชิ้นนี้เพื่อให้พระองค์ได้ไปสู่ในภพภูมิของพระเมตไตรยะ

          ตามประวัติพระพิมพ์องค์นี้พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เจดีย์ชเวซานดอ (Shwesandaw Pagoda) เมืองพุกาม ซึ่งเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าอโนรธามหาราช หรือที่คนไทยรู้จักในพระนามว่า พระเจ้าอนุรุทธ หรืออนิรุทธ (ครองราชย์ พ.ศ.๑๕๘๗-๑๖๒๐) เพื่อบรรจุพระเกศาธาตุที่ได้มาจากเมืองสะเทิม ภายหลังที่พระองค์ยกทัพทำสงครามและได้รับชัยชนะเมื่อ พ.ศ. ๑๖๐๐* จากรูปแบบของพระพิมพ์ชิ้นนี้สะท้อนถึงการรับอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบปาละ ในสังคมพุกาม ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ (ซึ่งในอินเดียตรงกับสมัยปาละตอนปลาย) กระนั้นก็ตามศิลปะปาละของอินเดียที่เกี่ยวเนื่องพุทธศาสนามักปรากฏการสร้างศิลปกรรมในคติพุทธศาสนามหายาน ต่างจากพุกามซึ่งแม้จะปรากฏรูปแบบของศิลปะปาละจากอินเดีย แต่มักจะสร้างขึ้นในคติพุทธศาสนาเถรวาท

          พระพิมพ์ชิ้นนี้เป็นหนึ่งในพระพิมพ์จำนวน ๑๖ รายการที่กองตรวจค้นโบราณคดีของประเทศพม่า (Archaeological Survey Burma) ส่งมาแลกเปลี่ยนกับพระพิมพ์ไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ โดย นาย Charles Duroiselle ผู้อำนวยการกองตรวจค้นโบราณคดีของประเทศพม่าในขณะนั้น เป็นผู้คัดเลือกและส่งมอบให้กับทางราชบัณฑิตยสภา 

 

*ในคราวนั้นมีพระภิกษุนามว่า ชิน อระหัน เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาที่เมืองพุกาม พระเจ้าอโนรธามหาราช ทรงมีความเลื่อมใสเป็นอย่างมาก และต่อมาทราบว่าเมืองสะเทิม มีพระไตรปิฎก จึงส่งราชทูตไปขอพระไตรปิฎกมายังเมืองพุกาม แต่พระเจ้ามกุฎ (หรือพระมนูหะ - Manuha) ปฏิเสธพระองค์ จึงทรงทำสงครามและได้รับชัยชนะพร้อมกับกวาดต้อนผู้คนจากเมืองสะเทิมพร้อมทั้งพระไตรปิฎกกลับยังเมืองพุกาม

 

 

อ้างอิง

ศักดิชัย สายสิงห์. ศิลปะพม่า. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๗.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (๔)ศธ. ๒.๑.๑/๑๘๐, เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร เรื่อง แลกเปลี่ยนพระพิมพ์ดินเผากองตรวจรักษาของโบราณประเทศพม่ากับราชบัณฑิตยสภา (๒๒ เม.ย.๒๔๗๔-๒๔ ก.พ. ๒๔๗๕).

Marshall, John editor. Annual Report Of The Archaeological Survey Of India 1926-1927. Galcutta: Government of India Central Publication Branch, 1930.

(จำนวนผู้เข้าชม 15 ครั้ง)