...

เทวรูปพระวิษณุ ๔ กร

          เทวรูปพระวิษณุ ๔ กร 

          พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓

          ได้มาจากวัดธ่อ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

          ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องลพบุรี (บน) อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          เทวรูปพระวิษณุสลักจากหินทราย พระเศียรทรงกิรีฏมกุฎ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเปิดมองตรง พระนาสิกใหญ่ ใต้พระนาสิกมีเส้นพระมัสสุ พระโอษฐ์แบะ ทรงมี ๔ กร พระกรขวาล่างชำรุดหักหายไป พระกรขวาบนทรงจักร พระกรซ้ายบนทรงสังข์ พระกรซ้ายล่างทรงคทา พระวรกายท่อนล่างทรงพระภูษายาว พระชานุโปน ส่วนพระบาทชำรุดหักหายไป

          เทวรูปพระวิษณุองค์นี้ยังคงแสดงอิทธิพลจากศิลปะอินเดียใต้หลังสมัยคุปตะ (หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๑) อย่างชัดเจน อาทิ การแสดงพระหัตถ์คู่บนทรงจักรและสังข์ (ซึ่งต่างจากเทวรูปพระวิษณุในศิลปะอินเดียเหนือ ที่พระหัตถ์คู่บนทรงคทาและจักร) รวมทั้งกิรีฏมกุฎ ซึ่งแสดงรูปแบบเดียวกับกลุ่มเทวรูปวิษณุในศิลปะอินเดียแบบปัลลวะ กล่าวคือ ลักษณะของศิราภรณ์เป็นหมวกทรงสูง เรียบ ไม่ตกแต่งลวดลาย รูปแบบดังกล่าวนี้ได้รับความนิยมมากในกลุ่มเทวรูปพระวิษณุที่สร้างขึ้นในภาคพื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเทวรูปเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร กลุ่มเทวรูปพระวิษณุในประเทศไทยบริเวณคาบสมุทรภาคใต้และตามเมืองโบราณหลายแห่งทั้งพื้นที่ชายฝั่ง เช่น เพชรบุรี และศรีมโหสถ (ปราจีนบุรี) รวมทั้งเมืองตอนในแผ่นดิน เช่น เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น

          เทวรูปองค์นี้เป็นหนึ่งใน ๒ องค์ของวัดธ่อ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ถึง อำมาตย์เอก พระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ในขณะนั้น ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ความตอนหนึ่งรับสั่งให้ย้ายเทวรูปพระวิษณุทั้ง ๒ องค์เข้ามายังพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน) ว่า

          “...ด้วยในการที่ฉันออกมาตรวจราชการโบราณวัตถุที่เมืองเพ็ชรบุรีครั้งนี้ มีกิจบางอย่างซึ่งใคร่จะขอความสงเคราะห์ของเจ้าคุณแลมีกิจบางอย่างซึ่งเห็นควรจะบอกเจ้าคุณไว้เพื่อจะได้คอยพิจารณาเพื่อเป็นการตรวจตรารักษาโบราณวัตถุ จะบรรยายข้อความดังต่อไปนี้คือ ๑ ที่วัดธ่อมีรูปพระนารายณ์ของโบราณชำรุดบ้างตั้งไว้ที่พระอุโบสถ ๒ รูป เปนของควรรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ขอเจ้าคุณได้จัดส่งเข้าไปยังกรุงเทพฯ...”

 

 

อ้างอิง

เชษฐ์ ติงสัญชลี. เทวรูปา: ประติมานวิทยาฮินดูจากประติมากรรมชิ้นเอกในศิลปะอินเดีย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์, ๒๕๖๖.

เชษฐ์ ติงสัญชลี. บทบาทของศิลปะอินเดียต่อเครื่องแต่งกายประติมากรรมบุคคลในเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๒.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.๒.๓๑/๑. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง นายกราชบัณฑิตยสภา เสด็จตรวจโบราณวัตถุมณฑลนครศรีธรรมราช และเรื่องโบราณวัตถุในเมืองเพชรบุรี ราชบุรี (๒๒ พ.ค. - ๒๒ ต.ค. ๒๔๖๙).

(จำนวนผู้เข้าชม 38 ครั้ง)