...

หน้ากาลประดับซุ้มประตู

         หน้ากาลประดับซุ้มประตู

         ศิลปะชวา พุทธศตวรรษที่ ๑๔

         ได้มาจากพุทธสถานบูโรพุทโธ เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย 

         ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้อง ศรีวิชัย-ชวา อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         ศิลาจำหลักรูปหน้ากาล เป็นส่วนหนึ่งของงานประดับซุ้มประตูพุทธสถานบูโรพุทโธ หรือ บโรบูดูร์ (Borobudur) ณ เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย หน้ากาลมีลักษณะดวงตากลม เบิกโพลง จมูกใหญ่ ปรากฏเฉพาะส่วนริมฝีปากบน (เช่นเดียวกับหน้ากาลในศิลปะอินเดีย)* ด้านบนและด้านข้างเป็นลวดลายกระหนกพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นรูปแบบหน้ากาลของศิลปะชวาภาคกลางที่ต่างไปจากหน้ากาลในศิลปะชวาภาคตะวันออกที่มีดวงตาถลน มีริมฝีปากบนและล่าง มีมือสองข้าง และมีเขา 

         หน้ากาลใช้ประดับตกแต่งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ทั้งในเทวสถานและพุทธสถาน ที่นิยมใน ศิลปะอินเดีย และเอเชีย โดยมักประดับหน้ากาลอยู่กึ่งกลางยอดซุ้ม ส่วนปลายของซุ้มเป็นรูปมกร สำหรับที่พุทธสถานบูโรพุทโธ ซุ้มประตูหน้ากาลจะอยู่บริเวณลานชั้นบนสุด** ตำนานของหน้ากาลปรากฏในคัมภีร์ปุราณะ กล่าวว่าอสูรตนหนึ่งเกิดระหว่างพระขนงของพระศิวะมีความหิวโหยจนกลืนกินทุกสรรพสิ่งแม้กระทั่งร่างตนเองเหลือเพียงใบหน้าเท่านั้น พระศิวะประทานนามว่า เกียรติมุข (แปลว่า หน้าซึ่งมีเกียรติ) มอบหน้าที่ให้เฝ้าประตูวิมานของพระองค์ และถือว่าหากผู้ใดไม่เคารพเกียรติมุขย่อมถือว่าผู้นั้นจะไม่ได้รับพรจากพระศิวะ ดังนั้นหน้ากาลจึงมีหน้าที่เป็นผู้ปกป้องดูแลรักษามิให้สิ่งชั่วร้ายเข้าไปภายในศาสนสถาน รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเกียรติ และความเป็นมงคล จึงมักประดับอยู่บนหน้าบันกึ่งกลางทางเข้าอาคาร

         นอกจากนี้คติชาวอินเดียตะวันออกเรียกอมนุษย์ตนนี้ว่า ราหูมุข (rahumukha) ตามเนื้อเรื่องพระราหู อสูรที่ถูกพระนารายณ์ตัดร่างกายไปครึ่งหนึ่งเนื่องจากลอบดื่มน้ำอมฤต ขณะที่ชาวอินเดียตะวันตกเรียกอสูรตนนี้ว่า คราสมุข (grasamukha) นับถือเป็นเจ้าแห่งทะเล ในทางพุทธศาสนามีชาดก เรื่อง “มูลปริยายชาดก” ชาดกจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก กล่าวถึง “เวลา” กลืนกินทุกสรรพสิ่งกล่าวคือ ความเสื่อมถอยของอายุขัย ร่างกาย สุขภาพ ยกเว้น “ขีณาสพ” หรือผู้ที่สิ้นกิเลสแล้วเท่านั้นที่ยังคงดำรงอยู่ได้ไม่ถูกเวลากลืนกินไป ดังข้อความว่า “กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา” แปลความว่า กาลย่อมกินสัตว์ทั้งปวงกับทั้งตัวเองด้วย ก็ผู้ใดกินกาล ผู้นั้นเผาตัณหาที่เผาสัตว์ได้แล้ว.

         ศิลาจำหลักรูปหน้ากาลชิ้นนี้มีประวัติว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสชวา ใน พ.ศ. ๒๔๓๙ ครั้งนั้นพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพุทธสถานบูโรพุทโธ และทรงเลือกประติมากรรมกลับมาเป็นที่ระลึก ดังข้อความในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) ความตอนหนึ่งกล่าวว่า

         “...กลับลงมาเลือกลายต่าง ๆ ที่ตกอยู่ข้างล่าง คือนาคะหรือช้าง ลายหลังซุ้มพระเจดีย์ ๑ รากษสเล็กตัว ๑ สิงโตขาหัก ๒ ตัว ท่อน้ำอัน ๑...”

         ภายหลังเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีสมโภชพระพุทธรูปและเทวรูปที่ทรงได้มาจากชวา โดยเทวรูปและพระพุทธรูปประดิษฐาน ณ โรงพิธีที่หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ โปรดฯ ให้พระสงฆ์และพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จพระราชดำเนิน ดูสิ่งของที่ได้จากชวา พร้อมทั้งมีการแสดงทางวัฒนธรรมของทางชวา ทั้งการรำและการดนตรีอย่างชวา 

 

 

         หน้ากาลมีความหมายถึง ผู้ที่กลืนกินทุกสรรพสิ่ง แม้กระทั่งปากล่างของตน ทำให้เหลือแค่เพียงริมฝีปากบน

         นัยหนึ่งการปรากฏทั้ง “หน้ากาล” ซึ่งหมายถึงการกลืนกินสรรพสิ่งต่าง ๆ เปรียบเสมือนเป็นความเสื่อมถอย และ “มกร” ซึ่งหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เปรียบเสมือนเป็นความเจริญนั้น ก็เป็นสิ่งเตือนใจให้กับมนุษย์ว่าบนโลกมีทั้งความเจริญและความเสื่อมถอยเป็นสิ่งคู่กัน

 

 

อ้างอิง

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๘ (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงารพระศพ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธกรมหลวงนครราชสีมา ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๖๘).

เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบ พัฒนาการ ความหมาย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ อังกฤษ-ไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๑.

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยนิยายจากปราสาทหิน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.

อรรถกถา มูลปริยายชาดก ว่าด้วย กาลเวลากินสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๖, จาก: https://84000.org/tipitaka/atita100/jataka.php?i=270340

(จำนวนผู้เข้าชม 185 ครั้ง)