...

ท้าวขัตตคาม บนรอยพระพุทธบาทวัดเสด็จ

         ท้าวขัตตคาม บนรอยพระพุทธบาทวัดเสด็จ

         ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐

         วัดเสด็จ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

         ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         มุมขอบล่างแผ่นโลหะรูปรอยพระพุทธบาทสลักรูปบุคคลยืนบนแท่น ศีรษะสวมกรัณฑมงกุฎ ใบหน้ารูปไข่ ดวงตาเปิดมองตรง จมูกใหญ่ ริมฝีปากหนา คางเป็นปม รอบศีรษะมีรัศมี ลำตัวท่อนบนสวมเครื่องประดับ ได้แก่ กรองคอ สังวาล ทับทรวงรูปดอกไม้ พาหุรัด กำไลข้อมือ มือขวาแนบลำตัว มือซ้ายถือพระขรรค์ นุ่งผ้าสั้น สวมกำไลข้อเท้า ยืนอยู่บนฐานสิงห์ เหนือรูปสลักมีข้อความอักษรขอมสุโขทัย ภาษาไทย จารึกว่า “พระขตฺตคาม”

         รูปบุคคลดังกล่าวคือ “ท้าวขัตตคาม” เนื่องจากวรรณกรรมของล้านนาเรื่อง “ชินกาลมาลินี” หรือ “ชินกาลมาลีปกรณ์” แต่งโดย พระรัตนปัญญา ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ กล่าวว่าเป็นเทวดาทำหน้าที่ปกปักรักษาเกาะลังกา ร่วมกับเทวดาองค์อื่น ๆ อีก ๓ องค์ ได้แก่ ท้าวสุมนเทวราช ท้าวรามเทวราช และท้าวลักขณเทวราช ดังปรากฏในเนื้อความตอนตำนานพระพุทธสิหิงค์ กล่าวถึงเทวดาอารักษ์ที่รักษาเกาะลังกาว่า “...ยังมีเทวดาทั้ง ๔ พระองค์ คือสุมนะเทวราชพระองค์ ๑ คือท้าวรามราชพระองค์ ๑ ท้าวลักขณราช ๑ ท้าวขัตตะคามราช ๑ แลท้าวทั้ง ๔ พระองค์นี้ มีฤทธานุภาพเป็นอันมาก พิทักรักษาซึ่งเกาะลังกาเป็นอันดี...” 

         ขณะที่ “นิทานพระพุทธสิหิงค์” แต่งเป็นภาษาบาลีโดย พระโพธิรังสี ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ กล่าวถึงเทวดา ๔ ตนที่ทำหน้าที่ปกปักรักษา “พระพุทธสิหิงค์” ซึ่งขณะนั้นประดิษฐาน ณ เกาะลังกา ต่างออกไปโดยไม่ปรากฏชื่อท้าวขัตตคาม ดังความว่า “...ทั้งยังมีเทพเจ้า ๔ องค์ คือ สุมนเทพ รามเทพ ลักษณเทพ กามเทพผู้มีฤทธิ์ รักษาพระพุทธรูปนั้นทุกเมื่อ...”

         คติเกี่ยวกับเทวดาอารักษ์ของเกาะลังกาในข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าสังคมสุโขทัย รับความเชื่อดังกล่าวเข้ามาพร้อมการรับพุทธศาสนาสายลังกาวงศ์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมสุโขทัยตั้งแต่ช่วงแรกของรัฐสุโขทัย กระทั่งในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) ครองราชย์ช่วง พ.ศ. ๑๘๙๐ ถึงประมาณทศวรรษ๑๙๑๐ พระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนาลังกาวงศ์อย่างมาก มีพระราชกรณียกิจที่สำคัญคือการจำลองรอยพระพุทธบาทตามคติรอยพระพุทธบาทเขาสุมนกูฏเกาะลังกาไว้หลายแห่ง รวมทั้งทรงอาราธนาพระอุทุมพรบุบผามหาสวามีจากเมืองพัน (เมาะตะมะ) เป็นพระอุปัชฌาย์ เสด็จออกผนวชจำพรรษา ณ วัดป่ามะม่วง ซึ่งพระอุทุมพรบุบผามหาสวามี เป็นพระภิกษุที่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยที่เกาะลังกา และในเวลาต่อมาพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงส่งพระสงฆ์ที่ศึกษาพุทธศาสนาลังกาสายรามัญนี้ไปยังบ้านเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงส่งพระสุมนเถระขึ้นไปเผยแผ่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ในล้านนา ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้ากือนา (ครองราชย์ช่วง พ.ศ. ๑๘๙๘-๑๙๒๘) จนเกิดเป็นนิกายสวนดอกในเวลาต่อมา

 

 

อ้างอิง

รักชนก โคจรานนท์. การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. กรุงเทพฯ: เฮงศักดิ์มั่นคง, ๒๕๕๙.

สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. พระพุทธสิหิงค์ “จริง” ทุกองค์ไม่มี “ปลอม” แต่ไม่ได้มาจากลังกา. กรุงเทพฯ:มติชน, ๒๕๔๖.

สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย. นนทบุรี: เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 214 ครั้ง)