...

จารึกศรีจนาศะ

         จารึกศรีจนาศะ

         มหาศักราช ๘๕๙ (ตรงกับพุทธศักราช ๑๔๘๐)

         พบบริเวณเทวสถาน ใกล้สะพานชีกุน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

         ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         จารึกแผ่นศิลา รูปทรงคล้ายกลีบบัว จารึกอักษรเขมรโบราณทั้งสองด้าน ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑-๑๘ จารึกภาษาสันสกฤต ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑-๑๗ จารึกภาษาเขมรโบราณ (ส่วนล่างของจารึกชำรุดหักหายไป) เนื้อความในจารึกหลักนี้ ด้านที่ ๑ กล่าวสรรเสริญพระศิวะ และระบุรายนามกษัตริย์ผู้ปกครอง “ศรีจนาศะ” ได้แก่ พระเจ้าภคทัตต์ พระเจ้าศรีสุนทรปรากรม  พระเจ้าศรีสุนทรวรมัน พระเจ้านรปติสิงหวรมัน และพระเจ้าศรีมังคลวรมัน ส่วนด้านที่ ๒ กล่าวถึงนามข้าทาส

         แม้จารึกหลักนี้มีประวัติว่าพบที่บริเวณเทวสถาน ใกล้สะพานชีกุนในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา แต่บริเวณที่พบนั้นไม่มีโบราณสถานที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เท่ากับอายุของจารึกศรีจนาศะ จึงเป็นไปได้ว่าจารึกศรีจนาศะหลักนี้ เดิมเคยอยู่ในพื้นที่อื่น กระทั่งต่อมาถูกย้ายมาอยู่ในพระนครศรีอยุธยา

         ส่วนที่มาของจารึกหลักนี้สันนิษฐานว่าย้ายมาจากเมืองเสมาเนื่องจากจารึกหลักนี้ปรากฏชื่อ “จนาศะปุระ” หรือเมืองศรีจนาศะ ซึ่งชื่อเมืองนี้มีปรากฏในจารึกบ่ออีกา (พุทธศักราช ๑๔๑๑) พบที่บ้านบ่ออีกา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ด้านที่ ๑ ของจารึกกล่าวถึงกษัตริย์แห่งศรีจนาศะได้ถวายสัตว์ (กระบือ โค) และข้าทาสชายหญิงแก่พระภิกษุเพื่อบรรลุสัมโพธิญาณ ประกอบกับที่ตั้งเมืองโบราณขนาดใหญ่ในพื้นที่นี้คือ “เมืองเสมา” ซึ่งเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินชัดเจน พบหลักฐานในวัฒนธรรมทวารวดีเป็นจำนวนมาก ทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ รวมถึงหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรซึ่งสะท้อนถึงการอยู่อาศัยที่ต่อเนื่อง 

         ในจารึกบ่ออีกาด้านที่ ๑ เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เมืองเสมามีผู้ปกครองโดยกลุ่มอำนาจในท้องถิ่น เนื่องจากจารึกบ่ออีการะบุว่า ศรีจนาศะเป็นดินแดนที่อยู่นอกกัมพุชเทศ (กมฺวุเทศานฺตเร) หรือนอกอำนาจของการปกครองของราชสำนักเขมร แม้จะปรากฏการรับวัฒนธรรมเขมรเข้ามาผสมผสานบ้างก็ตาม (เช่น การใช้ภาษาเขมรบนจารึก เป็นต้น) อย่างไรก็ตามในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ปรากฏหลักฐานว่าราชสำนักเขมรได้เข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่เมืองเสมาอย่างชัดเจน โดยมีหลักฐานสำคัญคือ จารึกเมืองเสมา ระบุมหาศักราช ๘๙๓ (ตรงกับ พุทธศักราช ๑๕๑๔) ระบุว่าพราหมณ์ยัชญวราหะ สถาปนารูปเคารพ และสร้างปราสาท (ปัจจุบันคือโบราณสถานหมายเลข ๑ เมืองเสมา) พร้อมทั้งกัลปนาข้าทาสไว้ด้วย

 

  

อ้างอิง

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์การตรวจสอบพิกัดสถานที่พบและเก็บรักษาของจารึกรุ่นก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาภูมิสารสนเทศจารึกของชาติ ปีที่ ๒ : จารึกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เล่มที่ ๑. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ๒๕๖๔. (เอกสารอัดสำเนา)

 

ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกบ่ออีกา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๖, จาก: https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/332

.

ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกศรีจนาศะ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๖, จาก: https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/313

(จำนวนผู้เข้าชม 2296 ครั้ง)