...

ทะนานพิกัด

          ทะนานพิกัด

          สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕

          รับมาจากกระทรวงเกษตราธิการ

          ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องรัตนโกสินทร์สมัยใหม่ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          ภาชนะรูปทรงรี ปากกลม ขอบปากยกเป็นสัน ไหล่ลาด ลำตัวป่อง ส่วนล่างโค้งมน ที่ปากภาชนะสลักข้อความว่า “ทนาน ๘๓”

          ทะนาน (หรือขะนาน) ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ หมายถึง เครื่องตวงอย่างหนึ่งทำด้วยกะโหลกมะพร้าว ด้านที่มีตา โดยตัดด้านตรงข้ามออก หรือทำด้วยทองเหลือง เป็นต้น โบราณใช้ตวงสิ่งของต่าง ๆ เช่น งา ข้าวเปลือก น้ำมัน; ชื่อหน่วยในมาตราตวงโบราณ ๒๐ ทะนาน เป็น ๑ ถัง, ชื่อหน่วยในมาตราตวงของไทย โบราณเท่ากับ ๘ ฟายมือ*. (เทียบ ส. ทินาร ว่า ตาชั่ง). ทะนานหลวง น. ชื่อหน่วยในมาตราตวง มีอัตราเท่ากับ ๑ ลิตร, อักษรย่อว่า ท.

          ทะนานเป็นทั้งชื่อวัตถุที่ใช้ชั่งตวงและเป็นมาตราชั่งตวงมาแต่โบราณ ปรากฏชัดเจนในเอกสารสมัยอยุธยา เช่น ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวถึงมาตราชั่งตวงข้าวเอาไว้ ดังความว่า “...ศักราช ๘๑๙ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๐๐๐)** ครั้งนั้นข้าวแพงเป็นทะนานแล ๘๐๐ เบี้ย เมื่อคิดเสมอเบี้ยเฟื้องแล ๘๐๐ นั้น เกวียนนั้นเป็นเงินสามชั่งสิบบาท…”

          ในสมัยรัตนโกสินทร์ยังคงใช้มาตราชั่งตวงนี้เรื่อยมา ปรากฏในเอกสารทั้งพระราชพงศาวดาร หมายรับสั่ง นิราศ รวมถึงตำราแบบเรียนภาษาไทย ดังเช่น มูลบทบรรพกิจ (บานแพนกระบุแต่งขึ้น จ.ศ. ๑๒๓๓ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๔) กล่าวถึงการคำนวณมาตราชั่งซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตราชั่งทะนานด้วย ดังข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า

          “...๏ สัด***หนึ่งยี่สิบทะนานชัด ทะนานหนึ่งสังกัด สองจังออนจงจำไว้ ๚ะ…”

          ต่อมาเมื่อมีการติดต่อกับชาติตะวันตกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงเริ่มมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนระบบการชั่งตวงวัดจากมาตราแบบไทย เป็นระบบชั่งตวงวัดตามแบบสากล คือระบบชั่งตวงแบบเมตริก (Metric) สาเหตุหนึ่งมาจากความไม่แน่นอนของระบบมาตราชั่งตวงวัดแบบไทย ซึ่งในเอกสารเรื่อง “ชั่งตวงวัด” เรียบเรียงโดย กองมาตราชั่งตวงวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้กล่าวถึงปัญหานี้ว่า 

          “...โดยที่ว่าเมืองเรามีสินค้าข้าวเป็นสำคัญ มีการตวงกันมากกว่าการชั่งหรือการวัด การตวงของเราใช้เครื่องตวงต่าง ๆ เป็นทะนานบ้าง สัดบ้าง เป็นถังบ้าง ซึ่งล้วนแต่มีขนาดไม่เหมือนกันทั้งนั้น... เครื่องตวงที่เรียกว่าทะนานใช้กะโหลกมะพร้าวเป็นเกณฑ์ สัดโดยมากใช้เป็นเครื่องสาน ถังโดยมากทำด้วยไม้เรียกว่าถังหลวงบ้าง ถังกงษีบ้าง มีขนาดใหญ่จุได้ ๔๐ ทะนาน อย่างเล็ก ๒๐ ทะนาน แต่ถังโรงสีกงษีมักถือเกณฑ์จุ ๔๒ ทะนาน ที่เป็นดังนี้ก็คงเป็นด้วยขนาดกะโหลกมะพร้าวที่ราษฎรนำเอามาใช้เป็นเครื่องตวง ซึ่งเรียกว่า ทะนานมีขนาดไม่เท่ากันดังกล่าวแล้ว ทะนาน สัด ถัง เหล่านี้ต่างคนต่างมีต่างใช้ ไม่มีใครตรวจสอบรับรองว่าถูกผิดอย่างไร...”

          อย่างไรก็ตามในสมัยรัชกาลที่ ๕ การปรับปรุงระบบชั่งตวงวัดตามแบบสากลนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ ปรากฏเป็น “ร่างตราพระราชบัญญัติวัดตวงและชั่ง ร.ศ. ๑๑๙” เท่านั้น จากนั้นเรื่องจึงชะงักลงไป กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมสัญญาสากลชั่งตวงวัดแบบเมตริก หรืออนุสัญญาเมตริก (The International Metric Convention) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ และได้ออกพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ 

 

 

*ฟายมือ หมายถึง เต็มอุ้งมือ เรียกของที่เต็มฝ่ามือที่ห่อเข้าว่า ฟายมือหนึ่ง; เป็นชื่อมาตราตวง ๘ ฟายมือ เป็น ๑ ทะนาน

**รัชสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ 

***สัด หมายถึง ภาชนะรูปทรงกระบอก ทำด้วยไม้หรือสานด้วยไม้ไผ่ใช้ตวงข้าว

 

อ้างอิง

กองมาตราชั่งตวงวัด. เรื่องชั่งตวงวัด. พระนคร: ทรงธรรม, ๒๔๗๗ (พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์โท พระจำเนียรวัฒกี (ชุบ หงสกุล) ณที่วัดชิโนรส คลองมอญ ธนบุรี วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗).

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖.

ศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร), พระยา. มูลบทบรรพกิจ (ธนบุรี: กรุงธน, ๒๕๑๔, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี สุรกิจ ปัญจะ ปม., ทช. ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๔).

(จำนวนผู้เข้าชม 587 ครั้ง)