...

แผ่นโลหะดุนรูปพระพุทธรูปแสดงวิตรรกมุทรา ขนาบข้างด้วยบริวาร

       แผ่นโลหะดุนรูปพระพุทธรูปแสดงวิตรรกมุทรา ขนาบข้างด้วยบริวาร

       ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖

       กรมศิลปากร ขุดได้ที่วัดพระประโทณ จังหวัดนครปฐม เมื่อเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๓

       ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

       แผ่นโลหะสัมฤทธิ์และทองคำดุนรูปพระพุทธรูปยืนแสดงวิตรรกมุทรา (ปางแสดงธรรม) สองพระหัตถ์ ขนาบข้างด้วยบริวาร พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะทรงยืนสมภังค์ (ยืนตรง) พระเศียรมีเม็ดพระศกมีขนาดใหญ่ พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเปิด พระนาสิกใหญ่แบะออก และพระโอษฐ์แย้มพระสรวล รอบพระเศียรมีวงโค้งแทนความหมายถึงศิรประภา* พระวรกายครองจีวรห่มคลุม ชายจีวรด้านหน้าตกลงมาเป็นวงโค้งรูปอักษรโรมันตัวยู (U) ทรงยืนอยู่เหนือฐานบัว ใต้ต้นโพธิพฤกษ์ ขนาบข้างด้วยพระอาทิตย์-พระจันทร์

       รูปบุคคลเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ส่วนพระเศียรแสดงการทรงมงกุฎยอดแหลม พระกรรณทรงกุณฑลขนาดใหญ่ รอบพระเศียรมีวงโค้งแทนความหมายถึงศิรประภา ทรงกรองศอ พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว พระหัตถ์ขวาชำรุดหักหายไปบางส่วน ท่อนล่างแสดงการนุ่งผ้าสั้น ทรงยืนเหนือฐานบัว จากรูปแบบการแต่งกายดังกล่าวรูปบุคคลนี้สันนิษฐานว่าหมายถึงพระอินทร์เนื่องจากทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ส่วนรูปบุคคลเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า พระเศียรรวบพระเกศาเกล้าขึ้นเป็นมวย รอบพระเศียรมีวงโค้งแทนความหมายถึงศิรประภา พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายถือหม้อน้ำ ท่อนล่างแสดงการนุ่งผ้ายาว ทรงยืนเหนือฐานบัว จากรูปแบบการแต่งกายดังกล่าวรูปบุคคลนี้สันนิษฐานว่าหมายถึงพระพรหมเนื่องจากทรงเครื่องอย่างนักบวช

       พระพุทธรูปยืนแสดงวิตรรกมุทราในศิลปะทวารวดีแต่เดิมเชื่อกันว่าสื่อถึงพุทธประวัติตอนแสดงธรรม เช่น แสดงธรรมโปรดพุทธมารดา แต่เนื่องจากมักพบพระพุทธรูปแสดงวิตรรกมุทราขนาบข้างด้วยบริวารจึงทำให้ปางนี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “เสด็จลงจากดาวดึงส์” ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากในศิลปะทวารวดี ทั้งรูปแบบประติมากรรมเหนือพนัสบดี เช่น พระพุทธรูปและบริวารยืนเหนือพนัสบดีพบที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ใบเสมาสมัยทวารดีมีตัวอย่างคือใบเสมาจากเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์สลักภาพพระพุทธรูปแสดงวิตรรกมุทรา มีบริวารอยู่ด้านข้าง และเหนือขึ้นไปมีรูปบุคคลอยู่บนเมฆ** พระพิมพ์สมัยทวารวดีมีตัวอย่างเช่น พระพิมพ์พบที่บ้านหนองกรด อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์*** ทั้งนี้การแสดงมุทราดังกล่าวเชื่อว่ารับรูปแบบมาจากการแสดงมุทราของพระพุทธรูปในศิลปะอินเดียใต้ (แบบอมราวดี) และศิลปะลังกา (แบบอนุราธปุระ) 

       แผ่นโลหะสัมฤทธิ์และทองคำชิ้นนี้ค้นพบจากการขุดแต่งโบราณสถานเจดีย์วัดพระประโทณ จังหวัดนครปฐม โดยความร่วมมือระหว่างเมอร์ซิเออร์ ปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) ผู้แทนสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (ฝรั่งเศส: École française d'Extrême-Orient) กับกรมศิลปากร เริ่มดำเนินการขุดแต่งบูรณะเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๓ และดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ บรรดาโบราณวัตถุที่พบนั้น โบราณวัตถุประเภทปูนปั้นพบมากที่สุด กระนั้นก็ตามโบราณวัตถุประเภทสัมฤทธิ์นั้นพบอยู่ ๔ องค์ หนึ่งในนั้นคือแผ่นโลหะดุนชิ้นนี้ ซึ่งในรายงานระบุไว้ว่า

 

“...มีพระพิมพ์ที่ทำแปลกอยู่องค์หนึ่ง คือ องค์พระพุทธรูปทำด้วยทองคำสีดอกบวบ สูงประมาณ ๙ เซ็นต์ แต่ส่วนเรือนพระพิมพ์ (มีรูปเทวดายืนสองข้าง) ทำด้วยสัมฤทธิยังเห็นชัดเจนดี ชิ้นนี้นับว่าเป็นของมีราคากว่าสิ่งอื่น...”

       *ศิรประภา หมายถึง รัศมีที่เปล่งรอบศีรษะของผู้ศักดิ์สิทธิ์และพระพุทธรูป

       **ปัจจุบันใบเสมาแผ่นนี้จัดแสดงอยู่ ณ ห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

       **ปัจจุบันพระพิมพ์ชิ้นนี้เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. พระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย. นครปฐม: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๔.

เชษฐ์ ติงสัญชลี, มุทรา ท่าทาง เครื่องทรง สิ่งของ รูปเคารพในศาสนาพุทธ เชน ฮินดู (นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๕.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี:  เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ศธ.๐๗๐๑.๒๖.๑/๑๔. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร เรื่อง ส่งรายงานการขุดแต่งโบราณสถานบางแห่ง (จังหวัดนครปฐม).

(จำนวนผู้เข้าชม 398 ครั้ง)