...

เชี่ยนหมากเครื่องเขิน

       เชี่ยนหมากเครื่องเขิน
       ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
       สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
       ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ตำหนักแดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
       เชี่ยนหมากล้านนา ประกอบไปด้วย กระบะทรงกลม ก้นแบน ด้านบนมีลิ้นสามารถยกออกได้ ลวดลายด้านนอกเป็นลายดอกพุดตาน ด้านในเรียบไม่มีลวดลาย ภายในบรรจุ ซองพลู ตลับพร้อมฝา ๔ ใบ และจอกหมาก ทุกชิ้นมีลายดอกไม้ 
 
      “เครื่องเขิน” (Lacquer Ware) ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายไว้ว่า เครื่องสานที่ทำจากผิวไม้ไผ่ซึ่งนำมาเรียด*แล้วทำเป็นโครง ฉาบด้วยรักสมุก**หรือชาดเพื่อกันน้ำรั่วซึม ไทยได้รับวิธีการทำมาจากไทเขินซึ่งอยู่ในยูนนานตอนใต้ จึงเรียกว่า “เครื่องเขิน” 
      อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินซึ่งเป็นผู้ทำงานหัตถกรรมนี้ มีประวัติว่าอพยพมาจากเมืองเชียงตุงในยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ หรือที่เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี โดยพระเจ้ากาวิละ กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ได้ให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ บ้านนันทาราม เมืองเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือทิศใต้นอกเวียงเชียงใหม่ บริเวณที่ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่) 
     ทั้งนี้การจัดแบ่งประเภทหรือหมวดหมู่ของเครื่องเขินแบ่งได้หลายเกณฑ์ ทั้งเทคนิคหรือกรรมวิธีการตกแต่งเครื่องเขิน เครื่องเขินประกอบลำดับบรรดาศักดิ์ และเครื่องเขินตามหน้าที่การใช้งาน*** สำหรับเชี่ยนหมากชุดนี้ เป็นเครื่องเขินประเภทหนึ่งซึ่งมีเทคนิคที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานและนิยมมากคือ เครื่องเขินฮายดอก (ลายดอก) มีกรรมวิธีโดยสังเขปคือ 
      การนำเครื่องจักสานมาทากากยาง รอให้แห้งแล้วขัดผิวให้เรียบจึงทาสมุก จากนั้นจึงทารักเงาแล้วนำมาขูดลายด้วยเข็มเหล็กจนเกิดเป็นร่อง เรียกขั้นตอนนี้ว่า การชักเส้นไหม จากนั้นจึงนำผงชาด (มีสีแดง) ผสมกับยางรักใสทาให้ทั่วภาชนะ ชาดจะลงไปในร่องที่ขูดไว้ รอจนแห้งแล้วจึงขัดออก ส่วนชาดที่ไม่ได้อยู่ในร่องลวดลายจะหลุดออกไป เมื่อขัดเรียบร้อยผิวภาชนะจะปรากฏพื้นที่สีดำตัดกับสีแดง
      งานหัตถกรรมเครื่องเขินเป็นที่แพร่หลายในเชียงใหม่อย่างมากและน่าจะส่งอิทธิพลให้กับการทำเครื่องเขินในพม่า****ด้วย ครั้งหนึ่งสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีแอบหมาก*****จากประเทศพม่า ประทานให้หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ ดังลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
 
      “...เครื่องรักของพะม่าเดิมทำแต่ลงรักน้ำเกลี้ยงสีต่างๆ วิธีที่เอาเหล็กจานเปนลวดลายต่างๆ (อย่างแอบหมากที่หม่อมฉันฝากมาให้คุณโต) นั้น เขาบอกว่าเขาเอาอย่างไปจากเมืองเชียงใหม่...”
 
 
*เรียด หมายถึง เรียงเป็นแถว
**รักสมุก คือน้ำรักผสมเถ้าถ่านของใบตองแห้งหรือหญ้าคา บดแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใช้ทารองพื้น
***ดูเพิ่มเติมใน เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. “วิถีคนเมืองกับเครื่องเขิน.” ศิลปากร ๔๘, ๓ (พฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๔๘): ๑๕-๒๕.
****เครื่องเขินในพม่านั้นเรียกว่า โยนเถ่ (Yung Hte) ซึ่งแปลว่าภาชนะของคนไทโยน รวมทั้งเรียกลวดลายบนภาชนะว่า ซินเหม่ ซึ่งก็หมายถึงเชียงใหม่ ทั้งนี้เครื่องเขินพม่าพัฒนาเทคนิคการตกแต่งเครื่องเขินไปจากไทยเพิ่มเติมด้วยการประดับกระจก หรือรักปั้นแปะบนผิวภาชนะ
*****แอบหมาก หมายถึง ภาชนะที่ทำจากเครื่องจักสานทรงกลมมีฝาปิด
 
 
อ้างอิง
เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. “วิถีคนเมืองกับเครื่องเขิน.” ศิลปากร ๔๘, ๓ (พฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๔๘): ๑๕-๒๕.
วิถี พานิชพันธ์. เครื่องเขินในวัฒนธรรมล้านนา. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๖๑.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖.
สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, ๒๕๕๑.
องค์การค้าของคุรุสภา. สาส์นสมเด็จเล่ม ๗ ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระนคร: คุรุสภา, ๒๕๐๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 1306 ครั้ง)


Messenger